มีข่าวให้เห็นกันทุกปี ว่ามีนักเรียนจำนวนมากเกิดอาการเจ็บป่วย หน้ามืดเป็นลม จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ระหว่างทำกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 68 ก็เกิดเหตุนักเรียนเกิดอาการหน้ามืด อาเจียน ขณะเข้าร่วมพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามเนื่องในวันสถาปนายุวกาชาดไทย ประจำปี 2568 ที่สนามศุภชลาศัย จนกลายเป็นประเด็นเดือดในโลกโซเชียล ทั้งผู้ปกครองและชาวเน็ตถกกันสนั่น ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องยกเลิกกิจกรรมที่ให้เด็กไปยืนตากแดด ลม ฝน และปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่เข้ายุคเข้าสมัย และเข้ากับสภาพอากาศของบ้านเรามากกว่านี้
มาย้อนดูประวัติอันยาวนานของวิชาลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ในที่นี้จะเรียกว่า "ลูกเสือ" กันหน่อยดีกว่า ว่าทำไมนักเรียนวัยกำลังโตจะต้องมารวมตัวกัน ถือไม้ง่าม พกเชือกเงื่อน เดินทางไกลไปหุงข้าวต้มมาม่ากลางป่าเขา
สำหรับ "การลูกเสือโลก" นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) เนื่องจากขณะที่ไปสู้รบในสงคราม เขาได้ฝึกเด็กกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในค่าย และพบว่าเด็กเหล่านี้สามารถทำงานได้ดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ คอยให้การช่วยเหลือทั้งการครัว การข่าว สอดแนม พลโทเพาเวลล์จึงได้ตั้งกลุ่ม Boy Scout ขึ้น ซึ่งคติพจน์หลักของลูกเสือในยุคนั้น คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
ส่วน "การลูกเสือไทย" เริ่มต้นใน พ.ศ.2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงสถาปนาคณะลูกเสือขึ้น เพื่อฝึกเยาวชนให้มีระเบียบวินัย และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้เยาวชนมีทักษะการเอาชีวิตรอด และช่วยเหลือสังคม วิชาลูกเสือจึงถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้ให้เด็กไทยได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่จำเป็น ซึ่งลูกเสือไทยยุคแรกมีคติพจน์พระราชทาน คือ "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง
เมื่อมองดูที่จุดประสงค์หลัก การลูกเสือถือเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชนต่อทั้งตัวเด็กและสังคม แต่ในบริบทของการฝึกปฏิบัติในปัจจุบัน ที่เด็กต้องเอาตัวรอดในโลกยุคใหม่ ท่ามกลางเทคโนโลยีทันสมัย พวกเขาไม่ได้เกิดมาในยุคถือปืนมีดดาบ แต่พวกเขามีสมาร์ตโฟนและ AI เป็นอาวุธ ภัยคุกคามที่จะมาถึงตัวก็ไม่ใช่เพียงแค่คนหรือสัตว์ร้ายเหมือนเมื่อก่อน
ในต่างประเทศ กิจกรรมการลูกเสือถูกปรับเปลี่ยน ประยุกต์ดัดแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างการเรียนรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เครื่องแบบลูกเสือในหลายประเทศถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว ในบางประเทศมีเพียงแค่ผ้าพันคอที่เป็นสัญลักษณ์ลูกเสือ และสามารถสวมไปพร้อมกับชุดไปรเวทได้เลย
เราลองเดินออกมาจากลูกเสือหมู่หมูป่า เนตนารีหมู่เฟื่องฟ้าของไทย และมาสังเกตการณ์ดูว่าในต่างประเทศเหล่าลูกเสือตัวน้อย เขาฝึกฝนทักษะกันด้วยวิธีอะไร
ในประเทศญี่ปุ่น สมาคมลูกเสือแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เปิดตัวโปรแกรม “ฝึกอบรบ Pokémon Trainer” ให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมลูกเสือ ที่มีธีมมาจากอนิเมะในตำนานเรื่อง "โปเกมอน (Pokémon)" เช่น ออกตามหาค้อนของ "ทิงคาตัฟ (Tinkatuff)" อาวุธประจำตัวของโปเกมอนประเภทนางฟ้า-เหล็ก ที่หายไปในกองใบไม้ เพื่อฝึกทักษะการสังเกตการณ์ ปีนเขาขึ้นไปช่วยเหลือเหล่าโปเกมอนที่ติดอยู่ที่หน้าผา ออกสำรวจหาอาหารให้กับ "โมรุเปโกะ Morpeko" โปเกมอนประเภทไฟฟ้า-ความมืด ที่จะกินเมล็ดพืชอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยหิวขึ้นมา จิตใจจะปั่นป่วนจนกลายเป็นร่างดุร้าย หรือจะเป็นการช่วยกันหาวิธีเคลียร์เส้นทางที่ถูกต้นไม้ล้มทับจากแรงลมพายุ เพื่อช่วยให้เหล่าโปเกมอนเดินทางผ่านไปได้
กิจกรรมเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อ ฝึกทักษะการแก้ปัญหา การสังเกตการณ์ การทำงานเป็นทีม ไปจนถึงการปฐมพยาบาล ที่จะช่วยให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้ ยามต้องพบเจอสถานการณ์คับขัน เป็นการสร้างประสบการณ์ผ่านตัวละครที่เด็ก ๆ คุ้นเคย และรู้สึกสนุกสนานที่จะปฏิบัติตาม เป็นการฝึกด้วยการเล่น มากกว่าการฝึกด้วยการเรียน
ทางฝั่งยุโรป ในประเทศเบลเยี่ยมเองก็ "กิจการลูกเสือ" ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับในระบบการศึกษา ถ้าเด็กคนไหนสนใจอยากเข้าร่วมก็สามารถสมัครได้ มีศูนย์เรียนรู้ประจำในแต่ละชุมชนละแวกใกล้บ้านกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมต่าง ๆ จะเน้นไปที่การเคลื่อนไหวร่างกาย สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อน และพี่ ๆ น้อง ๆ ต่างวัย ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และฝึกทักษะการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัย เด็กโตก็เป็นผู้นำ เด็กเล็กก็หยิบจับจัดการอะไรที่สามารถทำได้
ผู้ฝึกสอนก็ไม่ใช่ครู แต่เป็นรุ่นพี่ลูกเสือที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ และกลับมาสอนน้อง ๆ ด้วยความรัก ความห่วงใย ไม่ใช่แค่ปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมช่วยสานฝัน เด็กคนไหนมีความสนใจในเรื่องใด ก็มีกิจกรรมให้ได้ไปเรียนรู้ ไปลองหยิบจับ ทำด้วยตัวเอง ทั้งการเข้าไปช่วยเหลือดูแลบริบาลผู้สูงอายุ สำหรับเด็กที่มีความฝันอยากเป็นหมอ หรือจะเป็นการเข้าไปดูแลสัตว์ที่ถูกทิ้งหรือถูกทำร้าย สำหรับเด็กที่รักสัตว์ หรือมีความฝันอยากเป็นสัตวแพทย์
ในสหรัฐอเมริกา ก็มีอีเวนต์สุดโด่งดังอย่างการขาย "คุกกี้เนตรนารี" ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับเด็ก ๆ ทั้งทักษะการเข้าสังคม การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม การจัดการเงิน ไปจนถึงกลยุทธ์การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทั้งช่วยสร้างความภาคภูมิใจ และรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเหล่าเนตรนารีตัวน้อยจะนำเงินจำนวนนี้ไปสนับสนุนกิจการเนตรนารี และช่วยเหลือสังคมต่อไป
Advertisement