กระบะออนิว แย่แล้ว! ปลายทางบทชีวิตชน รถโรลส์-รอยซ์ เสี่ยงยึดทรัพย์ หนักสุดล้มละลาย

17 ส.ค. 66

กระบะออนิว แย่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญเผย ชนรถโรลส์-รอยซ์ ประกันขาด สุ่มเสี่ยงโดนยึดทรัพย์จ่ายหนี้ หนักสุดถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลาย

วันที่ 17 ส.ค.66 นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นักการเงิน อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า

"เราทุกคนมีสิทธิ์ล้มละลายได้ตลอดเวลา

กรณีล่าสุด ที่รถกระบะแต่งซิ่ง ชนท้าย รถโรลส์รอยซ์ โกสต์ มูลค่าคันละ 32 ล้านบาท แถมประกันภัยของรถกระบะเพิ่งหมดอายุไปได้ 2 วัน เจ้าของรถกระบะมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอหายนะทางการเงิน เพราะในกรณีทั่วไป รถคันที่ชนท้ายคนอื่น มักจะเป็นฝ่ายผิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับประจักษ์พยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เราต้องตระหนักถึงภัยใกล้ตัว ที่สามารถทำให้เราล้มละลายได้ภายในชั่วพริบตา (ถ้าความเสียหายมากกว่านี้)

การมีประกันภัย ประกันชีวิต จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้เราได้ ถึงแม้จะไม่ 100% ก็ 90% ขึ้นไปครับ ขึ้นกับว่าเราเจอภัยอะไร

ขอนำบทความเก่า มาทวนความทรงจำพวกเราอีกครั้งหนึ่ง “เราทุกคนมีสิทธิ์ล้มละลาย ชีวิตคนเราไม่แน่นอน เราขับรถด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าคนอื่นขับไม่ระวัง เราก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีการประกันภัย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ว่าเราจะทำประกันภัยครอบคลุมสักเพียงใด เราทุกคนมีสิทธิ์ล้มละลายได้จากภัยที่เราคาดไม่ถึง

มีภัยอยู่อย่างต่ำ 2 อย่าง ที่สามารถเกิดได้กับทุกคน และทำให้เราล้มละลายได้

1. บ้านของเราเป็นต้นเพลิง
ถ้าบ้านของเราไฟไหม้ แล้วลามไปบ้านหลังอื่น ขึ้นกับว่าจะลามไปกี่หลัง และเสียหายเท่าไร แต่โดยหลักการ ถ้าเพื่อนบ้านมีประกันอัคคีภัย บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมให้กับเพื่อนบ้านของเรา แต่บริษัทประกันภัยเหล่านี้จะไม่ยอมเสียเงินเปล่า เขาจะสวมสิทธิ์ของเพื่อนบ้าน มาทวงค่าเสียหายจากเรา
สมมติไฟลามไป 10 หลัง ไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ในจำนวนนี้ มีบ้าน 5 หลังที่มีประกันอัคคีภัย เสียหายหลังละ 3 ล้านบาท บริษัทประกันภัยจะร่วมกันทวงเงินจำนวน 15 ล้านบาทจากเรา ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านที่ไม่มีประกันไฟ ก็อาจจะฟ้องร้องเราให้ชดเชยความเสียหายด้วย

ถ้ารวม 10 หลังเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 30 ล้านบาท ท่านคิดว่าจะมีปัญญาจ่ายไหม บ้านตัวเองก็ไฟไหม้จนหมด ยังต้องหาเงินมาจ่ายเพื่อนบ้านอีก ถ้าบังเอิญมีใครบอกว่า เงินแค่นี้ผมมีปัญญาจ่ายครับ แล้วถ้าบังเอิญบ้านของคุณ โรงงานของคุณ ไปอยู่ใกล้ศูนย์การค้าหรือโรงงานอื่นที่มีมูลค่านับร้อยล้าน คุณยังจะมีปัญญาจ่ายไหม

โชคดีว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เพื่อนบ้านมักจะสงสารเราว่าเราไม่มีเจตนา อาจจะยอมความ ไม่ฟ้องร้องเรา แต่สำหรับบริษัทประกันภัย เขาจะไม่มีทางยอมผ่อนปรนให้เด็ดขาด ต้องตามฟ้องร้องเรา ตามยึดทรัพย์เราจนหมดตัว (แต่ไม่เกินความเสียหายที่เขาได้จ่ายให้เพื่อนบ้านของเราไป)

โชคดีที่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยจะยึดทรัพย์เราจนหมดตัว แต่จะไม่ถึงขั้นฟ้องล้มละลาย ทั้งที่เขามีสิทธิ์ทำได้ (โดยผมได้ข่าวว่าในเมืองนอก บริษัทประกันภัยจะฟ้องเจ้าของอาคารต้นเพลิง เพื่อขอค่าชดเชยทั้งหมด หากไม่ได้ ก็ฟ้องให้ล้มละลายไปเลย)

2. รถของเราไปเฉี่ยวชนรถหรู
ถ้ารถของเราไปเฉี่ยวชนกับรถหรู หรือรถของเราไปเฉี่ยวชนกับรถคู่กรณี และรถคู่กรณีเสียหลักไปชนถูกรถหรู ทำให้รถหรูพลิกคว่ำ ถ้าบังเอิญรถคันนั้นมีมูลค่า 20 ล้านบาท และเราเป็นฝ่ายผิด อะไรจะเกิดขึ้น

เราอาจจะคิดว่า เรามีทำประกันภัยรถยนต์เอาไว้ แต่เท่าที่ผมทราบ บริษัทประกันภัยจะชดเชยรถยนต์ของคู่กรณีที่เสียหาย (รวมถึงคันที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง) รวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่า เมื่อไรที่เราไปเฉี่ยวชนกับรถหรู และทำให้รถคันนั้นเสียหายเกินกว่าหนึ่งล้านบาท เราต้องชดเชยส่วนเกินนั้น

ลองนึกภาพดูว่า ถ้ารถคันนั้นเสียหายทั้งหมด เป็นมูลค่า 20 ล้านบาท เราจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายครับ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราล้มละลายได้เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าขับรถแล้วเจอรถหรู ถอยห่างดีกว่าไหม อย่าเข้าไปใกล้เลย ยามซวยอะไรก็เกิดขึ้นได้ พยายามลดเงื่อนไขที่จะเกิดเหตุ ดีที่สุด

เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เราทำให้รถคู่กรณีเสียหาย บริษัทประกันภัยของคู่กรณีจะชดเชยความเสียหายให้กับเจ้าของรถที่เราชนก่อน แล้วค่อยสวมสิทธิ์ของเจ้าของรถ มาฟ้องร้องความเสียหายจากเราหรือบริษัทประกันภัยของเรา ถ้าเราจ่ายได้ไม่ครบ เขาก็จะตามมายึดทรัพย์สินของเราเท่าที่มี โชคดีว่าที่ผ่านมา เขาตามยึดเพียงแค่หมดตัว ไม่ถึงกับฟ้องล้มละลายครับ

คราวนี้ ถ้าอาคารหรือรถยนต์ต้นเหตุ จดทะเบียนในนามบริษัท (เป็นบริษัทส่วนตัวของเรา) และมันทำให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูงมาก บริษัทประกันภัยของคู่กรณีจะตามมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกำไรสะสมของบริษัท ทั้งที่ในความเป็นจริง ถ้าบริษัทนั้นเป็นบริษัทเล็กๆ เป็นธุรกิจในครอบครัว เรามักจะจดทะเบียนบริษัทเพื่อเหตุผลของการวางแผนภาษี เนื่องจากมันสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา กำไรที่ได้ส่วนใหญ่เจ้าของบริษัทมักนำออกมาใช้เอง แล้วลงบัญชีว่าให้กรรมการบริษัทยืมไปใช้

แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง หากบริษัทของเราไม่สามารถหาเงินไปจ่ายให้บริษัทประกันเหล่านี้ได้ครบตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้นเขาก็จะมาไล่เบี้ยจากเงินที่เรายืมและอาจจบด้วยการ ยึดทรัพย์สินของเราในฐานะลูกหนี้ของบริษัทของเราเองได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบริษัทของเราจึงควรจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นพันธะผูกมาที่เรา กำไรสะสมที่พอกพูนมาแล้วไม่เคยแบ่ง เช่น กำไรปีละ 2 ล้านบาท รวม 10 ปี เป็นเงิน 20 ล้านบาท มันจัดเป็นระเบิดเวลาที่สามารถระเบิดและพรากทรัพย์สินไปจากเราได้ตลอดเวลาครับ

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่บริษัทใหญ่ๆ พยายามจดทะเบียนธุรกิจใหม่ๆ ของเขาเป็นบริษัทย่อย เพราะถ้าบริษัทย่อยเหล่านั้นไปทำความเสียหาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในเรื่องของไฟไหม้หรือรถชนอย่างเดียว แต่ไปทำผิดพลาดอื่นๆ เช่น ผิดสัญญากับคู่ค้า จนถูกฟ้องร้อง หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือการดำเนินงานของบริษัทเป็นอันตรายกับประชาชน จนถูกฟ้องร้องเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท การจดทะเบียนบริษัทย่อยก็ช่วยจำกัดความเสียหายไม่เกินเงินที่ลงทุนไป

เช่น เงินลงทุนตั้งบริษัท 50 ล้านบาท รวมกับกำไรสะสมอีก 50 ล้านบาท เป็นเงินส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทย่อย 100 ล้านบาท เกิดมีความเสียหายที่ถูกฟ้องร้องถึง 500 ล้านบาท บริษัทแม่ก็ยอมทิ้งบริษัทย่อยนี้ไป โดยไม่ลามมาถึงเงินที่เหลือของบริษัทแม่ เพราะกฎหมายกำหนดว่าผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายเกินกว่าเงินที่ตนได้ลงทุนไว้

ซึ่งเรื่องนี้จะตรงกันข้ามกับการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดชอบอย่างไม่จำกัด ดังนั้นเมื่อจ่ายเงินด้วยทรัพย์สินที่เรามีอยู่ทั้งหมดแล้วยังไม่พอ เราก็สามารถถูกฟ้องล้มละลายได้ครับ

ชีวิตนี้ไม่เที่ยง อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท ผมยังเชื่อว่าการทำประกันภัย ประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะสามารถปกป้องเราได้ อย่างน้อยมันก็สามารถป้องกันความเสียหาย หรือปกป้องทรัพย์สินของเราได้ถึง 90% ขึ้นไป
ดีกว่าปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามยถากรรม หรือคุณว่ายังไงครับ” : ขอขอบคุณ คุณกี่เดช อนันต์ศิริประภา อดีตผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัย

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส