เมื่อเวลา 11.30 น. (21 ก.ค. 2568) ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น (มตช.) พร้อมด้วย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ร่วมกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือและพยานหลักฐานต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนขบวนการเรียกเก็บค่าหัวคิว ส่วยแรงงานกัมพูชา เมียนมา และลาว โดยมี น.ส.อรุณศรี วิชชาวุธ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับเรื่อง
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มนายจ้างสีขาวมาร้องเรียนดีเอสไอ และมีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ส่วนนี่จะเรียกว่าส่วยเนมลิสต์ (Name List) ของกัมพูชาเท่านั้น ซึ่งจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 และได้มีการขยายต่อเวลาให้อยู่ในประเทศไทยไปถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 จากนั้นได้มีการขยายมติต่ออีก 6 เดือน ถึงวันที่ 13 ส.ค. 2568 โดยแบ่งได้ 4 สัญชาติ แต่เยอะสุดคือสัญชาติเมียนมา ซึ่งมีแรงงานในระบบ จำนวนกว่า 2 ล้านคน คือ คนที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว แต่บัตรหมดอายุไม่ได้ต่ออายุ จึงเรียกว่าแรงงานปกติในระบบ นอกจากนี้ แรงงานกัมพูชามีประมาณ 2.8 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่กลุ่มนายจ้างสีขาวมาร้องเรียนนั้น คือ ส่วยเนมลิสต์กัมพูชา ขณะที่อีก 2 สัญชาติ คือ สัญชาติลาว ซึ่งมีประมาณ 94,000 คน และเวียดนามประมาณ 3,000 คน นั้น เบ็ดเสร็จแล้วจำนวนแรงงานเก่าจะมีประมาณ 2.4 ล้านคนที่ลงทะเบียน และก็มีการเปิดให้ลงทะเบียนตามมติ ครม.วันที่ 24 ก.ย. 2567 โดยเปิดลงทะเบียนให้กับแรงงานที่เดินข้ามมาเอง หรือแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งมีการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 - 30 ธ.ค. 2567 ซึ่งในกลุ่มนี้มีแรงงานที่ลงตามเวลากำหนด จำนวน 1.2 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้จะมี 40,000-50,000 คนที่ลงทะเบียนย้อนหลัง จึงเรียกว่าเป็นส่วยลงทะเบียนย้อนหลังของแรงงงานเมียนมา ดังนั้น นี่จึงเป็นการยื่นเพิ่มเติมจากกลุ่มนายจ้างสีขาวที่ยื่นไปแล้ว
มงคลกิตติ์ เผยอีกว่า ตนขออธิบายเรื่อง Name List กัมพูชา ว่า โต้โผจริงๆ มี 3 คน คือ นายเอส, นายนาย, และนายบอย โดยนายนายและนายบอย จะร่วมกันทำในสองสัญชาติ คือ กัมพูชาและเมียนมา เพราะทั้งคู่ไม่ถนัดเรื่องแรงงานเมียนมา ดังนั้น จึงให้นายเอสเป็นผู้ประสานจัดการระหว่างคนในรัฐบาลกัมพูชาและคนในรัฐบาลไทย ฉะนั้น ในเรื่อง Name List ถ้าประเทศต้นทางไม่อนุมัติ มันก็ไปไม่ได้ จึงต้องเก็บรายละ 2,500 บาท และคูณด้วยจำนวนแรงงานกัมพูชา 2.8 แสนคน เท่ากับประมาณ 718 ล้านบาท และแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ครึ่งหนึ่งของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของกัมพูชา และครึ่งหนึ่งของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐของไทย
แต่ในวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐของไทยจะยังไม่ถึง โดยจะเชื่อมโยงถึงตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเอกชนแทน มี 2 ราย คือ ป๋าเตี้ย และนายป๋อง โดยทั้งคู่เป็นคนบริหารจัดการส่วย เพื่อส่งส่วยให้กับผู้ใหญ่ในฝ่ายการเมือง "พี" หรือไม่ ดีเอสไอก็ต้องไปตรวจสอบ เพราะคนเหล่านี้จ่ายเป็นเงินสด และยอมรับว่ามันมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเอกสารที่ตนยื่นให้ดีเอสไอวันนี้จะยังไม่มีรายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะถ้ายื่นไป เดี๋ยวอำนาจการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอจะมีจำกัด โดยตนจะส่งชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ดีเอสไอก็ต่อเมื่อดีเอสไอตีวงล้อมแล้ว อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐในกรมการจัดหางาน เป็นต้น
มงคลกิตติ์ เผยต่อว่า สำหรับเรื่องค่า Calling กรม (หรือ Calling Visa) จะมีเรตอยู่ที่หัวละ 500 บาท และหากคูณจำนวนแรงงานกัมพูชา 2.8 แสนคน ซึ่งตัวนี้จะใช้ไปต่อในเรื่องของการตรวจสุขภาพแรงงาน ฯลฯ หากไม่จ่าย เอกสารก็ออกให้ไม่ได้ คนที่เป็นมือประสานจริงๆ คือ นายเอส โดยจ่ายส่วยให้ป๋าเตี้ย และนายป๋องเป็นคนจัดการ ส่วนจะไปถึงคนในฝ่ายการเมือง ลูกนักการเมือง หรือหัวหน้านักการเมืองหรือไม่ ต้องไปดูจุดเชื่อมต่อ
และเมื่อวันก่อนตนไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน แต่พอมาพูดเรื่องหลังบ้านนั้น การลงทะเบียนของแรงงานเมียนมา หากถามว่ามันมีค่า Name List 2,500 บาทเหมือนแรงงานกัมพูชาหรือไม่นั้น ตนขอตอบว่า เดิมทีจะมีการเก็บ แต่ปรากฏว่ามีการประสานงานกันระหว่างนายนาย และนายบอย โดยเป็นการประสานกับนักการเมืองระดับสูงของประเทศเมียนมาเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยมีการข้ามลำดับ เพราะจริงๆ จะต้องผ่านเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย แต่พอมีการข้ามหัวกันเกิดขึ้น และมีการเปลี่ยนตัว รมว.แรงงาน ทำให้การประสานงานไม่ได้ พอประสานไม่ได้ เรื่องค่า Name List ของแรงงานเมียนมา จำนวน 2 ล้านคนเลยไม่มีการจ่าย
ซึ่งหากคำนวณจะมีประมาณ 5,000 ล้านบาท ตอนนี้เงินเหล่านี้จึงถูกจัดเก็บไว้ตาม บนจ. ต่างๆ ที่ก็ยังไม่ได้จ่ายใคร อีกทั้งตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งเดิมทีมีการตกลงว่าจะไม่จ่ายแล้ว ดังนั้น ข้อยกเว้นของเมียนมา จึงจะไม่มีค่า Name List 2,500 บาท แต่ค่า Calling กรม ของแรงงานเมียนมายังจะมีเหมือนเดิม แต่รอให้เรื่องเงียบก่อน ซึ่งตนทราบว่าค่า Calling กรม หัวละ 500 บาท ซึ่งจำนวนแรงงานเมียนมา 2 ล้านคนก็เท่ากับพันล้านบาท และอีกส่วนหนึ่ง คือ แรงงานเมียนมานอกระบบ เพราะแรงงานเหล่านี้จะต้องเข้าศูนย์ CI ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า ศูนย์พิสูจน์สัญชาติเมียนมา หรือ Certificate of Identity : CI จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน เพื่อไปทำใหม่หมดทุกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นเอกสารวีซ่าระหว่างเมียนมาและไทย เพื่อใช้เฉพาะทำงานในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น
โดยศูนย์ CI ดังกล่าวจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 1 ส.ค. 2568 โดยเปิดที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งกลุ่มบุคคลที่จะต้องเข้าศูนย์ CI จะมีประมาณ 50,000 คน ที่เป็นคนลงทะเบียนย้อนหลัง คนละ 3,500 บาท และเดิมทีในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเข้าใจผิดว่าคนกุมรหัส ชื่อ นายโม แต่จริงๆ แล้วคือข้าราชการประจำอักษรย่อ ป. เป็นผู้หญิง โดยเป็นคนถือรหัสในการลงทะเบียนหลังบ้าน หากดีเอสไอไปตรวจสอบดูจะเจอข้อมูล 50,000 รายชื่อที่มีการลงทะเบียนย้อนหลังไว้
มงคลกิตติ์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีตนเข้าใจว่าหัวหน้าของข้าราชการหญิงอักษรย่อ ป. รายนี้ คือ มิสเตอร์พี แต่จริงๆ คือ นายป๋อง ที่เป็นคนดำเนินการแทน โดยที่นายป๋องและข้าราชการหญิงรายนี้ คือคนกุมรหัสหลังบ้าน ซึ่งส่วย 175 ล้านบาท จำนวน 50,000 คนนี้ ก็มีการนำไปจ่ายให้ป๋าเตี้ยและนายป๋อง ส่วนจะเอาไปดูแลฝ่ายการเมืองหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบต่อไป
สำหรับค่า Calling ของแรงงานเมียนมา ซึ่งมีจำนวน 3.2 ล้านคน รายละ 500 บาท ขณะที่ค่าดำเนินการเข้าศูนย์ CI หรือศูนย์พิสูจน์สัญชาติเมียนมา แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้เก็บ แต่ส่วยจะมีการแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเมียนมา 600 และฝ่ายไทย 600 เช่นกัน ซึ่งการเก็บที่มีใบเสร็จจะมีค่าภาษีเมียนมาหัวละ 1,800 บาท แต่ถ้าจำนวนคนเพิ่มขึ้น จำนวนก็จะเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนราชการที่สามารถออกใบเสร็จได้ ทั้งไทยและเมียนมา หัวละ 860 บาท แล้วก็มีการจ่ายผ่าน 7-11 อีก 10 บาท ก็จะประมาณ 2,670 บาทต่อหัว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีใบเสร็จเกี่ยวกับวีซ่า แล้วจะมีการไปขายกันอยู่ที่ราวๆ 1,800 บาท โดยจะเป็นส่วยอยู่ประมาณ 1,200 บาท ดังนั้น
ในช่วงเดือน ก.ย.และ ต.ค. จะมีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานคนเถื่อน อีกประมาณ 1,000,000 คน ซึ่งก็จะมีการเอาคนกลุ่มนี้มาเข้าศูนย์พิสูจน์สัญชาติ หรือศูนย์ CI และเท่าที่ตนทราบก่อนมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี โดยปกติแล้วในการทำบัญชี CI จะต้องมีการไปดีลกับเมียนมา แต่ทราบว่าทางเมียนมาได้ไปเหมาแล้ว 1,000 ล้านบาท ที่ใช้เป็นค่าเข้าศูนย์ CI และเอา 500 ล้านบาทมาจ่ายป๋าเตี้ยเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการเอา 500 ล้านบาทนี้มามัดจำ ส่วนป๋าเตี้ยนำไปจ่ายใครอีกหรือไม่นั้น ต้องไปดู ขบวนการเก็บส่วยแรงงานต่างชาติมีข้าราชการมาเกี่ยวข้อง คือ นาย S และนาย W เป็นกลไกหลักสำคัญ โดยทั้งคู่มีกุนซือ ชื่อ Mr.Beans ส่วนที่เราไม่พูดถึงลาวกับเวียดนาม เพราะมีจำนวนน้อย
และกรณีที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่ง บริษัทนั้นคือบริษัทลูกข่ายของนาย S ซึ่งเป็นผู้ชำนาญเรื่องแรงงานกัมพูชา และต้องยอมรับว่ามันมีหลายบริษัทจัดหางาน (บนจ.) ในไทย ทั้งนี้ ป๋าเตี้ย หรือ นายภู คือตัวหลัก ส่วนนายป๋อง หรือ เสี่ยพี เป็นคนเก็บ (ทั้งคู่เป็นเอกชนไม่มีตำแหน่งในราชการ)
ขณะที่ นายเจ๋ง ดอกจิก กล่าวว่า ตนขอให้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนในการติดตามเรื่องนี้อย่างจริง เพราะบริเวณชั้น 6 ของกระทรวงแรงงาน เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการขนกันเป็นลังๆ ซึ่งมีการทำงานที่ชั้น 6 แต่ก็ขนลังไปที่ชั้น 7 อาจเป็นลังพวกขนม ผลไม้ ก็เป็นได้ เพราะเท่าที่ทราบ ป๋าเตี้ยและนายป๋องซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเอกชน จะเป็นคนคอยเก็บของใส่ลัง จึงอยากให้ดีเอสไอได้ตรวจสอบ ดังนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และทั้งพี่น้องแรงงานต่างด้าว รวมถึงนายจ้างที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเหล่านี้ ถือเป็นความอัปยศ แม้มีกลุ่มคนที่คึกครื้นจากเงินจำนวนดังกล่าว แต่ข้าราชการประจำค่อนข้างเอื้อมระอาและหนักใจ เกรงจะถูกดำเนินคดีตามหลังจากสิ่งที่ข้าราชการฝ่ายการเมืองทำไว้
Advertisement