Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อธิบดีกรมประมง เผยเรื่อง ปลาหมอคางดำ คิดไม่ต่างกับทุกคนแต่พูดออกมาไม่ได้

อธิบดีกรมประมง เผยเรื่อง ปลาหมอคางดำ คิดไม่ต่างกับทุกคนแต่พูดออกมาไม่ได้

17 ก.ค. 67
11:55 น.
|
6.2K
แชร์

อธิบดีกรมประมง ตอบเรื่อง ปลาหมอคางดำ ย้ำชัดคิดไม่ต่างกับทุกคนแต่พูดออกมาไม่ได้ สั่งเร่งดำเนินการ 6 มาตรการ กำจัดการแพร่ระบาด และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

วันนี้ (17 ก.ค.) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงเป็นประธานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเกิดการระบาดของ ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ โดยระบุว่า ณ ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 16 จังหวัด โดยเกิดจากหลายสาเหตุ ส่งผลกระทบให้สัตว์ท้องถิ่นโดนแย่งที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งมีตัวแทนจากเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล สำหรับมาตรการเบื้องต้นในการแก้ปัญหามี 6 มาตรการคือ

1.การควบคุมและจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด โดยตอนนี้จับไปได้แล้วเกือบพันตัน
2.การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งธรรมชาติ ด้วยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ในแหล่งที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์
3.นำไปใช้ทำประโยชน์ให้หลากหลาย ทำเป็นเมนูอาหารตามแต่ความต้องการ เช่น ปลาแดดเดียว ปั้นขลิบ แกงส้ม ฯลฯ นำไปทำปลาป่น
4.จัดทำแบบสำรวจ หากเจอที่ไหนให้เกษตรกร ประชาชนแจ้งเข้ามา
5.สร้างความรับรู้และตระหนักการมีส่วนร่วมทั้งการจัดการและนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชานรับทราบ
6.ทำการวิจัยหาทางแก้ปัญหา โดยเริ่มทำแล้วด้วยการนำปลาหมอคางดำมาทำให้เป็นหมัน แล้วไปช่วยควบคุมในธรรมชาติ

736534_1

สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในขณะนี้ กรมประมงต้องขอชี้แจงว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้มีการขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ เรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำ มิให้มีแพร่การระบาด

ดังนั้นหากภาคเอกชนใดต้องการนำเข้ามาในประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และเมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง จะดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นจนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต นั้นคือกระบวนการที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องเพื่อนำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำเป็นหลัก

ซึ่งภายหลังบริษัทดังกล่าวฯ ยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัทในช่วงพบการแพร่ระบาดในปี 2560 ของเจ้าหน้าที่กรมประมง จึงได้รับรายงานว่าได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบ จากที่เป็นประเด็นในสื่อต่าง ๆ ว่ากรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม จำนวน 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่

กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มีข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำแล้ว

1720424146894_1

ส่วนเรื่องที่ประชาชนสงสัยว่า เมื่อปี 2553 มีบริษัทเอกชนชื่อดังนำปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุของการระบาดอย่างแพร่หลายในขณะนี้นั้น นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ระบุว่า กรมประมงและสื่อมวลชนจะต้องค้นหาร่วมกัน และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้ แต่จะให้ชี้ไปตรงๆ ว่าเป็นความผิดใครก็คงตอบไม่ได้ ในใจก็คิดไม่ต่างกับทุกคนแต่พูดออกมาไม่ได้ แต่ถ้ามีหลักฐานออกมาก็จะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอน

Advertisement

แชร์
อธิบดีกรมประมง เผยเรื่อง ปลาหมอคางดำ คิดไม่ต่างกับทุกคนแต่พูดออกมาไม่ได้