“นพ.เอกเทศ ชันซื่อ” จักษุแพทย์ผู้บุกเบิกการรักษาเลสิกคนแรกของไทย ไขข้อสงสัยสายตายาวตามวัย ที่คนเจอเยอะมากที่สุดเมื่ออายุมากขึ้น สายตาไม่ดีทำสมองเสื่อมจริงไหม? และทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน พร้อมแชร์เทคนิคดูแลดวงตาก่อนที่จะพังไปทั้งชีวิต
ภาวะสายตายาวตามอายุ (presbyopia) จะค่อยๆ เกิดขึ้น เราจะไม่สามารถมองใกล้มากๆ ได้เหมือนตอนเด็กๆ โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มเกิดที่อายุประมาณ 40 ต้นๆ สำหรับผู้หญิง และ 40 กลางๆ สำหรับผู้ชาย จะเริ่มรู้สึกว่าไม่ชัดแล้วต้องยืดมือออกไปนิดหนึ่งถึงเห็นชัด และภาวะนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจจะต้องมองไกลมากๆ ถึงจะชัด ตาเรามีระบบออโตโฟกัส กลไกที่เรียกว่า accommodation (การปรับโฟกัสของตา) ซึ่งใช้กล้ามเนื้อในการบีบตัวเพื่อโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อนี้จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทำให้การปรับโฟกัสระหว่างไกลกับใกล้ช้าลง คือจะโฟกัสใกล้ได้ยากขึ้น และเมื่อมองไปไกลก็จะรู้สึกมัวก่อนแล้วค่อยๆ ชัดขึ้น
ภาวะอาการสายตายาวไม่ได้เป็นที่กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นด้วย เช่น ตัวแก้วตา (Crystalline Lens) ของเราเอง กล้ามเนื้อควบคุมแก้วตาที่อยู่ด้านใน เมื่ออายุมากขึ้น แก้วตาจะแข็งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไม่ว่ากล้ามเนื้อจะดีแค่ไหนก็ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเลนส์ สรุปคือ ทุกคนต้องสายตายาวตามอายุ ในความหมายที่ว่าเดิมมองไกลได้ดี มองใกล้ได้ดี พออายุมากขึ้นจะมองใกล้แย่ลง บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นสายตายาว อย่างคนสายตาสั้นประมาณ 200 หากใส่แว่นก็จะมองไกลได้ มองใกล้ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นและกล้ามเนื้อตาอ่อนแอลง การมองใกล้ขณะใส่แว่นมองไกลจะแย่ลง อย่างไรก็ตาม หากคนนั้นถอดแว่น ก็จะมองใกล้ได้ดี เพราะมีสายตาสั้นอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึงจุดโฟกัสของตาอยู่ที่ระยะใกล้โดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อ คนกลุ่มนี้อาจไม่รู้สึกตัวว่าเป็นสายตายาว เพราะเมื่อต้องการมองใกล้ก็แค่ถอดแว่น
ส่วนคนที่มีสายตายาวโดยกำเนิด พออายุ 40 ปี จะยิ่งแย่ใหญ่เลย ใส่แว่นจะช่วยปรับโฟกัสได้ เมื่ออายุมากขึ้น แว่นอาจจะต้องมี 2 กำลัง คือสำหรับมองไกลและสำหรับมองใกล้ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าแว่น 2 ชั้น ปัจจุบันมีแบบ Progressive Lens ซึ่งไม่มีรอยต่อ ส่วนบนสำหรับมองไกล และส่วนล่างจะค่อยๆ เพิ่มกำลังขึ้นมาสำหรับการมองใกล้ ซึ่งมีข้อจำกัด ผู้ใช้ต้องยอมรับว่าไม่สามารถมองลงแบบเฉียงๆ ได้ จะมีตำแหน่งที่จะเบลอไป ต้องมองลงตรงๆ เวลาจะมองอะไรต้องหันไปมอง
สำหรับผู้ที่ชอบสวมคอนแทคเลนส์สามารถทำเป็น Progressive ทำเป็นหลายโฟกัสหลายระยะได้ สมองจะเลือกภาพเองจากภาพหลายแบบที่ตกกระทบเข้ามาในตา อย่างไรก็ตาม มันจะทำให้สูญเสียความคมชัดไปบ้าง คือมองไกลก็จะไม่คมเต็มที่ และมองใกล้ก็จะไม่ดีเต็มที่ แต่ก็ใช้ได้ทั้งคู่
คอนแทคเลนส์ถือว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดปัญหากับตา สำคัญที่สุดก็คือการติดเชื้อ คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ต้องดูแลอย่างดี ไม่ใส่นอน มีโอกาส 1 ใน 5,000 คนที่จะติดเชื้อภายใน 1 ปีถ้าใส่ทุกวัน เป็นคอนแทคเลนส์แบบ soft lens ใส่ 1 อาทิตย์หรือ 1 เดือน ที่ดีที่สุดคือใช้วันต่อวัน คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ออกแบบมาใช้ได้นานๆ ก็จะยิ่งแย่ เช่น คอนแทคเลนส์สี หรือ big eye คุณภาพสำหรับสุขภาพของเราจะไม่ดีเท่าคอนแทคเลนส์ใส ๆ เล็กๆ ดังนั้นควรดูแลให้ดี มีปัญหาให้ไปพบแพทย์ทันที ถ้าเกิดการติดเชื้อยิ่งรักษาเร็วยิ่งดีไม่ทำความเสียหามากต่อกระจกตา ถ้าเกิดการเสียหายจะเสียหายแบบถาวร อัตราการติดเชื้อของการใส่คอนแทคเลนส์ใน 1 ปีเยอะกว่าการทำผ่าตัดเลสิก
เทคนิคที่ใช้ได้ทั้งกับแว่น คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัด คือภาวะที่เรียกว่า Monovision คือการทำให้ตาข้างหนึ่งมองไกลได้ดี และอีกข้างหนึ่งมองใกล้ได้ดี ข้อเสียคือตาที่มองไกลได้ดีจะมองใกล้ไม่ค่อยชัด และตาที่มองใกล้ดีจะมองไกลไม่ค่อยชัด แต่สมองของเราสามารถปรับตัวได้ เมื่อใช้ตาทั้งสองข้างร่วมกัน เราสามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ด้วยแว่น คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัด เป็นเทคนิคที่มีมานานมากแล้ว ก่อนที่จะมีการผ่าตัด และปัจจุบันนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดในคนไข้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยจะพิจารณาปรับตาข้างที่เด่นให้มองไกลได้ดี และตาอีกข้างให้มองใกล้ได้ดี เพื่อให้สมองปรับตัว
ส่วนการทำเลสิก ที่หลายคนคิดว่าจะทำได้ไม่กี่ครั้ง จริงๆ แล้วจำนวนครั้งไม่สำคัญเท่าสุขภาพของตาและผิวตา และความแข็งแรงของกระจกตา การทำเลสิกแต่ละครั้งความหนาของกระจกตาจะหายไปบ้างเล็กน้อย กระจกตาเราจะรับได้ถึงจุดหนึ่ง เวลาเราดูคนไข้ เราจะพอสามารถบอกได้ว่าคนไข้คนนี้จะแก้ไขสายตาได้เท่าไหร่ โดยดูจากความหนาของกระจกตา เราไม่ได้นับจำนวนครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนสายตาหรือขนาดของสายตาที่เราเอาออกไปในแต่ละครั้งมากกว่า
การทำเลสิกเพื่อแก้สายตาสั้น และแก้สายตายาว ใช้เทคนิคเดียวกัน การผ่าตัดเลสิกเป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตาก่อน ให้มันเป็นสองชั้นแล้วเปิดขึ้นมา โดยยังคงมีขั้วอยู่ จากนั้นใช้ Exmaler ซึ่งเป็นเลเซอร์ชนิดหนึ่งในตา เข้าไปเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาด้านล่าง แล้วจึงปิดกลับเข้าไป มันเหมือนกับการเจียรเลนส์คอนแทคเลนส์ สำหรับการแก้ไขสายตาสั้น จะเป็นการยิงเลเซอร์ตรงกลางให้เยอะกว่า เพื่อทำให้กระจกตาแบนลง หรือโค้งน้อยลง การแก้ไขสายตายาว เลเซอร์จะยิงออกข้าง ๆ มากกว่า ทำให้ตรงกลางโค้งมากขึ้น เลสิกสามารถแก้ได้ทั้งสายตายาวตามอายุและสายตายาวแต่กำเนิด
การรับรู้สิ่งแวดล้อมของเราประมาณ 75% มาจากการมองเห็น หากไม่ได้รับการมองเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่เด็ก สมองส่วนที่รับภาพจะพัฒนาได้ไม่ดี ทำให้ไม่รู้จักการมองเห็นภาพชัด เมื่ออายุเกิน 7-8 ขวบแล้ว ภาวะนั้นจะคงที่และไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก แม้จะแก้ไขสายตาแล้วก็อาจไม่ชัดเต็มที่ หรืออยู่ในระดับปานกลางพอใช้งานได้ ภาวะนี้เรียกว่า ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ซึ่งเกิดจากสมองไม่ได้รับภาพที่ชัดเจนในวัยที่กำลังพัฒนา เป็นแล้วเป็นเลย ควรตรวจตาตั้งแต่เด็กเล็กๆ หากเด็กต้องหรี่ตาบ่อยๆ ควรพาไปตรวจ ในวัยผู้ใหญ่มีงานวิจัยที่เชื่อมโยงการมองเห็นที่ไม่ดีกับการเป็น ภาวะสมองเสื่อม (dementia) ซึ่งรวมถึง อัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องสมองเสื่อมเป็นเรื่องที่นักประสาทวิทยาอาจตอบได้ดีกว่า แต่สำหรับเด็กๆ นั้น การมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการของสมองอย่างแน่นอน
พฤติกรรมการใช้งานสายตา มีผลต่อสุขภาพตาน้อยมาก ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่เชื่อมโยงว่าการใช้สายตาที่ไม่ถูกต้องที่เราคิดว่าไม่ถูก เช่น ดูมือถือในห้องมืด หรือนอนตะแคง จะมีผลเสียต่อลูกตาโดยตรง สำหรับเด็กมีการศึกษาที่พบว่าการใช้สายตาในเด็กอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตา กล่าวคือ สายตาสั้นตามธรรมชาติจะสั้นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 20 ต้นๆ แล้วมักจะคงที่ การใช้งานหนักๆ เช่น เล่นมือถือหรือเล่นเกมในเด็ก อาจทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นได้ แต่นั่นคือในช่วงที่ตายังพัฒนาอยู่ หากโตแล้วอาจไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่
การดูจอมากๆ การใช้งานสายตามากๆ อาจทำให้ตาแห้งและเกิดความเมื่อยล้าได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะไม่ใช่ความเสียหายถาวร เพียงแค่พักผ่อนก็ดีขึ้น
ส่วน แสงสีฟ้า (Blue Light) ถ้ามีความเข้มข้นสูงมากๆ อาจมีปัญหาต่อจอประสาทตาและแก้วตาได้ แต่สำหรับแสงสีฟ้าอ่อนๆ จากจอคอมพิวเตอร์ทั่วไป ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีผลเสีย สำหรับ แว่นตัดแสงสีฟ้า ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน องค์กรวิชาชีพอย่าง American Academy of Ophthalmology ไม่ได้แนะนำให้ใช้ เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้ห้าม หากอยากจะใส่เพื่อความสบายใจก็สามารถทำได้
การเสื่อมของตาเป็นไปตามธรรมชาติ แต่อย่าไปเร่งมัน อย่าขยี้ตาบ่อย บางคนอาจมีการนวดเพื่อช่วยให้ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาคุณหมอ หากตาแห้งสามารถหยอดน้ำตาเทียมได้ หากตาแห้งมากผิดปกติ ควรไปพบจักษุแพทย์ ควรตรวจกับจักษุแพทย์เป็นประจำ หากอายุน้อย ควรตรวจทุก 2 ปี หากอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง การตรวจที่สำคัญคือการตรวจ ต้อหิน (Glaucoma) ซึ่งแม้จะไม่ค่อยพบ แต่หากเป็นแล้วไม่รู้ตัว อาจทำให้ตาบอดได้อย่างถาวรและไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนต้อกระจก ส่วนเรื่องการพักสายตาจะช่วยให้ตาของเราใช้ทำงานได้ทนขึ้นและรู้สึกสบายขึ้น ไม่ได้ป้องกันความเสียหายถาวร มีหลักการพักสายตาที่เรียกว่า "20-20-20" คือ ใช้งาน 20 นาที พัก 20 วินาที โดยมองไปในระยะไกลเกิน 20 ฟุตขึ้นไป
ขอบคุณข้อมูลจากรายการ On the way with Chom ช่อง Podcast : Life Dot
Advertisement