โควิดไม่จบง่าย พบเชื้อกลายพันธุ์รวมร่าง "เดลตาครอน"

9 ม.ค. 65

ความหวังว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะอ่อนโยนกว่าเดลตา และพาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เสียที เริ่มริบหรี่ลงเมื่อโลกติดโควิดหนักขึ้นทุกวัน ล่าสุดยังถูกซ้ำด้วยการพบ "เชื้อกลายพันธุ์ใหม่" ที่เป็นการรวมร่างระหว่าง โอมิครอน และ เดลต้า จนเกิดเป็น "เดลตาครอน" นักวิทยาศาสตร์เร่งประเมินเช็กความร้ายแรง




นายมิเคลิส แฮดจิแพนเทลัส รัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศไซปรัส เปิดเผยว่า ไซปรัสได้ค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ครั้งใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า "เดลตาครอน" แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเชื้อกลายพันธุ์นี้จะรุนแรงกว่าเดิม หรือไม่




ทั้งนี้ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ลีออนดิโอส คอสทริคิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้ค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว โดยไวรัสที่พบมีลักษณะทางพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์โอมิครอนบางส่วน จึงได้ชื่อว่า "เดลตาครอน" ทางทีมได้วิเคราะห์ตัวอย่างส่งตรวจจำนวน 25 รายการในไซปรัส หลังจัดลำดับพันธุกรรม 1,377 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในไซปรัส




"ความถี่ของการกลายพันธุ์มีแนวโน้มสูงในหมู่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งอาจตีความได้ว่า เดลตาครอนมีความเชื่อมโยงกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล" ศาสตราจารย์คอสทริคิส กล่าว




ปัจจุบัน ไซปรัส ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ของยุโรป เข้าสู่การระบาดของโควิด-19 เป็นระลอกที่ 5 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละประมาณ 5,500 คน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 1 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 21 ธ.ค. 2564 - 3 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 28,414 ราย และอายุโดยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 28 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงการแพร่ระบาดที่รวดเร็วในหมู่คนวัยหนุ่มสาว




การพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์รอบใหม่ยิ่งฉุดความหวังที่ประเทศต่างๆ จะกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นปกติอีกครั้ง เช่น "ญี่ปุ่น" พบการติดเชื้อในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้น 15 เท่า ในรอบ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะการระบาดระลอกที่ 6 ขณะที่ "จีน" กำลังเร่งปูพรมตรวจหาเชื้อในนครเทียนจิน ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปักกิ่ง หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อ 20 ราย ในจำนวนนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 2 คน ทำให้กังวลว่าอาจกระทบต่อการแข่งขันโอลิมปิกส์ ฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. นี้




สำหรับฝั่ง "สหรัฐ" นั้น ผลกระทบจากโควิดส่งผลให้เที่ยวบินเกือบ 20,000 เที่ยวในสหรัฐ ถูกยกเลิกนับตั้งแต่วันคริสต์มาสอีฟ 24 ธ.ค. และเที่ยวบินมากกว่า 4,800 เที่ยวเดินทางถึงที่หมายล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม ในฝั่ง "ยุโรป" นั้น เริ่มเกิดการประท้วงต่อต้านแผนการบังคับฉีดวัคซีนในหลายประเทศของคนนับแสน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย แม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศเหล่านี้จะยังน่าวิตกก็ตาม

 

 

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม