กลต. ออกกฎคุมเข้ม DeFi platform มองมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวง-มีการโจรกรรมทางไซเบอร์

7 ธ.ค. 64

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ดังนี้

 

1. ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จัดการเงินทุนของลูกค้าด้วยการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปทำธุรกรรมใด ๆ บน DeFi platform เช่น การให้ยืม
และยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น

2. ห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เช่น ความเหมาะสมในการลงทุน การทำธุรกรรมบน DeFi platform เป็นต้น

ทั้งนี้การกำหนดข้างต้น มีความจำเป็นเนื่องจาก หากไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว เมื่อมีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจอาจมีการชักชวนให้ลูกค้าสนใจ และทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน DeFi platform เพิ่มขึ้นในวงกว้าง

เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินรูปแบบ Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินรูปแบบกระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจให้บริการให้คำแนะนำ หรือจัดการนำเงินทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปแสวงหาประโยชน์ผ่านการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ก.ล.ต. เห็นว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ มีรูปแบบและลักษณะของบริการที่หลากหลาย รวมทั้งอาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด รวมทั้งมีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวง มีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจในการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นจึงเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้างเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง มีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้เสียหายและอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดีหรือติดตามทวงคืน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=772 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: kunpatu@sec.or.th kanokkan@sec.or.th และ chawannuch@sec.or.th จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2565

ด้านนายนเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท แมชชั่น เวลท์ จำกัด กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า เห็นด้วยกรณีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดจะเข้ามาควบคุมดูแล DeFi platform เพื่อจำกัดกรอบการลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหายกับผู้ลงทุนเพราะปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ DeFi platform ในไทย

เนื่องจากที่ผ่านมายอมว่ามีประเด็นปัญหาการใช้งาน DeFi platform เกิดขึ้นในเรื่องคือ 1. มีบางกลุ่มที่นำมาใช้เป็นเครื่องหลอกลวง(SCAM) ฉ้อโกง และข้อที่ 2. DeFi platform ที่ถูกพัฒนาออกมาอาจยังไม่มีมความสมบูรณ์เพียงพอ เนื่องจากอาจเร่งรัดในการพัฒนามากเกินไปจนเกิดข้อบกพร่องของระบบ โดยทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวจึงสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน

อย่างไรก็ดีมีมุมมองว่า DeFi platform ได้มีกรณีการใช้งาน(Use Case) จริงในต่างประเทศที่นำมาใช้ประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจและการเงิน ดังนั้นเห็นว่าในอีกมุมของ ก.ล.ต. นอกจากบทบาทเข้ามากำกับดูแล้วควรเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาของ DeFi platform ด้วยเพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดพัฒนาระบบภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด