บริษัทดีลอยท์เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 พ.ย. 2564 มีบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกไอพีโอไปแล้วถึง 121 ราย และระดมทุนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.22 แสนล้านบาท) หรือเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับทั้งปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ จาก 114 บริษัท
การเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (IPO) ในจำนวนนี้ ประเทศไทยมีการออกไอพีโอมากสุดในกลุ่ม คิดเป็นสัดส่วน 43% และเป็นหัวขบวนมา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งปีนี้ระดมทุนไปได้ 4,200 ล้านดอลลาร์ (ราว ) นำโดยดีลใหญ่ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถระดมทุนได้มากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปีที่สองติดต่อกัน
นางวิลาสินี กฤษณามระ Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า "หุ้นไอพีโอยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญอย่างต่อเนื่องสำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หุ้นไอพีโอในปีนี้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทน้ำมัน จนถึงบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ค้าปลีก และธุรกิจทางการเงิน ซึ่งเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก คาดว่าจะมีหุ้นไอพีโอจากอีก 10 บริษัทเป็นอย่างน้อย มาเสริมตำแหน่งปีทองของไอพีโอของไทยในปีนี้ และหากพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เราน่าจะได้เห็นการเข้าตลาดของบริษัทด้านดิจิตัลและเทคโนโลยีของไทยมากขึ้น เป็นการก้าวออกจากบริษัทในรูปแบบเดิม"
ทางด้าน "ฟิลิปปินส์" ตามมาในลำดับ 2 และเป็นการระดมทุนได้ครั้งใหญ่มากกว่าตัวเลข 4 ปีที่แล้วรวมกัน จากการเข้าจดทะเบียนของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่ง ซึ่งระดมทุนได้ 1,800 ล้านดอลลาร์ และยังได้ไอพีโอที่ทำสถิติใหม่ในประเทศจากบริษัท มอนเด นิชชิน คอร์ปอเรชัน โดยระดมทุนได้ 1,000 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ "อินโดนีเซีย" ตามมาในลำดับ 3 ด้วยมูลค่าไอพีโอทั้งหมด 2,300 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 เท่า จากปีที่แล้ว จากบริษัท 40 แห่ง และยังเป็นปีแรกที่อินโดนีเซียสามารถระดมทุนได้มากเกิน 2,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย นำโดยบริษัทเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาแรงอย่าง บูกาลาปัก (Bukalapak) สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซระดับยูนิคอร์นพันล้านในอินโดนีเซีย ซึ่งได้ฤกษ์เข้าตลาดหุ้นในปีนี้และสามารถระดมทุนไปได้ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ นับเป็นมูลค่าไอพีโอใหญ่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนในปีนี้
ผู้แทนของดีลอยท์อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า ความร้อนแรงของไอพีโอในปีนี้ มาจากข่าวแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจาการ์ตา ที่มีแผนจะนำรัฐวิสาหกิจ 14 แห่งเข้าตลาดฯ ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมทางเลือกในการระดมทุนเพื่อการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่าน Acceleration Board รวมถึงการคาดการณ์เรื่องการเข้าตลาดครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี ตามเทรนด์การเติบโตของตลาดเทคโนโลยีเกิดใหม่ในอาเซียน ทำให้มองว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ยุคใหม่ของการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์