ธุรกิจการตลาด

Grab รุกธุรกิจด้วย AI เรียกรถ ลดเวลารออาหาร อนุมัติสินเชื่อ หวังรักษาแชมป์

24 ก.ย. 67
Grab รุกธุรกิจด้วย AI เรียกรถ ลดเวลารออาหาร อนุมัติสินเชื่อ หวังรักษาแชมป์

ถึงแม้สมรภูมิ ‘ธุรกิจบริการแบบออนดีมานด์’ แข่งขันกันดุเดือดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่ทุกแพลตฟอร์มเร่งชูจุดเด่นของตัวเองผ่าน ‘ซุปเปอร์แอป’ แต่สำหรับ ‘Grab’ ยังมีการเติบโตทั่วภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2/2567 พบการใช้งานซุปเปอร์แอปมากกว่า 700 เมืองทั่วอาเซียน และผู้ใช้งานที่ทำธุรกรรมรายเดือนสูงถึง 41 ล้านราย

Grab รุกธุรกิจด้วย AI ทั้งเรียกรถ ลดเวลารอคอยอาหาร อนุมัติสินเชื่อ รักษาความเป็นผู้นำ

โดย ‘ประเทศไทย’ เป็นหนึ่งในตลาดที่มียอดใช้งานสูงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการใช้งานของแต่ละฟีเจอร์ในซุปเปอร์แอปที่เพิ่มขึ้นในทุกด้าน อย่างฟีเจอร์ที่เปิดให้บริการมากว่า 9 เดือนอย่าง ‘บริการคำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order)’ พบว่า คนไทยกว่า 93% หันมาสั่งอาหารแบบกลุ่มแล้ว โดยมูลค่าการใช้จ่ายต่อออเดอร์ (Basket Size) เพิ่มขึ้น 3 เท่า และมียอดการใช้จ่ายสูงสุดที่ 8,600 บาท

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย กล่าวว่า Grab มุ่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานในภูมิภาคมาโดยตลอด ด้วยแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของ Grab เริ่มต้นจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิต และทำความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภค รวมถึงคนในวงจรธุรกิจ (Ecosystem) เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลในวงกว้าง

ส่วนประเด็นของบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์จากอินเดียแห่งหนึ่ง ที่ได้เปิดเผยรายงานการเติบโตของธุรกิจบริการแบบออนดีมานด์ในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ‘วรฉัตร’ ยืนยันว่า Grab ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจ การทำธุรกรรม หรือแม้แต่ยอดการใช้บริการของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีให้แก่บุคคลภายนอก และกำลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลและภาพลักษณ์ขององค์กร

โดย ‘วรฉัตร’ กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า “เรายังเป็นผู้นำในด้าน ‘innovation’ สำหรับฟู้ด โดยได้รับการยืนยันจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านรางวัล 'สุดยอดแบรนด์ทรงพลัง' (The Most Powerful Brands of Thailand 2024) ในสาขาแพลตฟอร์มส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่ได้กระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์แต่อย่างใด และพาร์ทเนอร์ของ Grab ก็รู้สึก ‘งง’ และคิดว่า ‘ไม่มีความเป็นไปได้’ จากงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่”

แผนการพัฒนา 5 กลุ่มคนในวงจรธุรกิจ Grab

หนึ่งในกลยุทธ์หลัก 4A ของ Grab ประเทศไทย คือ การนำเทคโนโลยี และ AI มาใช้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทั้งบริการการเดินทางและเดลิเวอรี ผ่านการเข้าใจ ส่งเสริม และผลักดันคนในวงจรธุรกิจของ Grab ทั้ง 5 กลุ่ม (ผู้ใช้บริการ คนขับและไรเดอร์ ผู้ประกอบการ สังคมและสิ่งแวดล้อม และพนักงาน)

โดยในปีนี้ Grab ประเทศไทย มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีใน 3 ส่วนหลัก คือ เทคโนโลยี AI อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) และฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน (In-App Features) เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) เพิ่มศักยภาพและผลิตผล (Productivity) ยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (Experience) และสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact)

1. กลุ่มผู้ใช้บริการ

Grab เปิดตัว 2 ฟีเจอร์ล่าสุด อย่าง ‘ฟีเจอร์บัญชีครอบครัว’ (Family Account) ที่ผู้ใช้งานสามารถเรียกรถ ตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ สอดคล้องกับเทรนด์ที่ 34% ของผู้ใช้ในไทย เรียกรถผ่านแอปพลิเคชันให้กับสมาชิกในครอบครัว 

นอกจากนี้ ยังเปิดตัว ‘ฟู้ดล็อกเกอร์’ (Food Lockers) ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานที่สั่งอาหารผ่านแอป แต่ไม่สามารถรับอาหารได้ทันที ช่วยสร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารและไรเดอร์ โดยเปิดให้ใช้งานแล้วใน 4 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร (อาคารเดอะพาร์ค, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส, และ centralwOrld Offices) ซึ่ง 20% ของผู้ใช้งานปัจจุบัน หันไปใช้ฟู้ดล็อกเกอร์แล้ว

2. กลุ่มคนขับและไรเดอร์ 

Grab นำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning (ML) มาช่วยคนขับและไรเดอร์ ในระบบจัดสรรงาน และวางแผนระบบปฏิบัติการหลังบ้าน รวมถึงนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ‘ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี’ (Just-in-Time Allocation) ที่ใช้ ML มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้า ก่อนจะส่งงานให้คนขับเพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด โดยพบว่า สามารถลดเวลาไรเดอร์ในการ ‘รอ’ ได้มากถึง 50%

รวมทั้งยังได้พัฒนา ‘แผนที่ในอาคาร’ (Indoor Map) ที่ช่วยแนะนำเส้นทางและบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร จากการเก็บข้อมูลผ่าน ‘KartaCam 2’ ที่ได้ฝัง Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ด้วยภาพที่ดีขึ้น และตำแหน่งที่แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

3. กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร

หนึ่งในปัญหาที่ Grab ประเทศไทยพบ คือ 2 ใน 10 ของผู้ประกอบการใน Grab Food ประเทศไทย ไม่มีภาพประกอบอาหาร หรือไม่สามารถหาภาพที่ช่วยส่งเสริมการขายได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ Grab จึงนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้าง หรือออกแบบภาพอาหารให้ใกล้เคียงของจริงที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้า 

ในขณะเดียวกัน Grab พัฒนาบริการสินเชื่อดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยี ML มาใช้ประเมินศักยภาพ และอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้า โดยพิจารณาจากข้อมูลการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของ Grab และขยายวงเงินให้สุงสุดถึง 10 ล้านบาท

4. กลุ่มสังคมและสิ่งแวดล้อม

Grab ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ใช้บริการ และคนขับอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจบการเดินทาง เช่น ‘ระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า’ (Biometric Authentication) ‘ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์’ (Real-time Trip Monitoring) หรือ ‘ระบบบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง’ (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้าย และใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ

5. กลุ่มพนักงาน

เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘AI-led Organization’ ในปีนี้ Grab ผลักดันให้พนักงานทั่วทั้งภูมิภาคเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านโปรแกรมพัฒนาและฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้น โดยเฉพาะ ‘Generative AI’ 

โดย Grab ได้พัฒนาเครื่องมือที่ออกแบบโดยทีมเทคภายในองค์กร เช่น ‘GrabGPT’ เครื่องมือที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ รวมถึง ‘โปรแกรม Mystique’ เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ

advertisement

SPOTLIGHT