ธุรกิจการตลาด

เปิดตัวแอปฯ ‘Life Dee’ วัดค่าฝุ่น - ปักหมุดรพ. ใกล้ตัว

25 ก.ย. 66
เปิดตัวแอปฯ ‘Life Dee’ วัดค่าฝุ่น - ปักหมุดรพ. ใกล้ตัว

Gistda จับมือกรมอนามัย เปิดตัว ‘LifeDee’ แอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพ ทั้งวัดค่าฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์, ระบุตำแหน่งสถานพยาบาลใกล้ผู้ใช้, ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ ไว้ในแอปเดียว ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจาก Gistda และองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขจากกรมอนามัย เพื่อนำ Health Tech จากหน่วยงานภาครัฐ เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ทุกคน

 

Life Dee PM 2.5



‘Life Dee’ แอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพของคนไทย พัฒนาโดย GISTDA จับมือกับกรมอนามัย

 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดตัว ‘Life Dee’ Mobile application ด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ณ โรงภาพยนตร์ Screen X พารากอน ซีนีแพล็กซ์ ชั้น 6 กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 ก.ย. 66

นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชน กรมอนามัยซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี จึงร่วมกับ GISTDA หน่วยงานที่มีความสำคัญในการผลิตข้อมูลภูมิสารสนเทศสำหรับการศึกษาวิจัย คาดการณ์ เตรียมการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีความรู้และทักษะอย่างถูกต้องและเท่าทัน
 

 

Life Dee  ใช้งาน

 

 ‘Life Dee’ ทำอะไรได้บ้าง?

 

แอปพลิเคชัน ‘Life Dee’ ถือเป็นความร่วมมือล่าสุดระหว่างกรมอนามัย และ GISTDA ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีฟังก์ชันการดูแลและป้องกันสุขภาพที่หลากหลาย ดังนี้

 

  1. ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 PM10 ข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิ
     
  2. ข้อมูลสุขภาพ เช่น คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับประชาชน แบบประเมินอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่น

  3. ห้องปลอดฝุ่น แผนที่สถานบริการสาธารณสุขที่สามารถค้นหาเส้นทางการไปใช้บริการได้
     
  4. สาระความรู้เกี่ยวกับฝุ่นและสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้น และวางแผนกิจกรรมประจำวันได้

 

ทั้งนี้ Application ‘Life Dee’ จะแจ้งเตือนเมื่อฝุ่น PM2.5 มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามค่ามาตรฐานใหม่ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านทางมือถือและ Smart watch ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

การที่ Gistda และกรมอนามัยสามารถนำเทคโนโลยีที่สำคัญต่อสุขภาพเช่นนี้ มาไว้ในแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้ หมายถึง การเพิ่มโอกาสทางการรักษา และการกระจายองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ไปสู่มือของพี่น้องประชาชน ซึ่งแม้จะเป็นในพื้นที่ห่างไกล หรือในกลุ่มประชาชนผู้สูงวัย ใช้เทคโนโลยียังไม่เชี่ยวชาญ กรมอนามัยก็ได้การสนับสนุนจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ทำงานร่วมกับสถานีอนามัยท้องถิ่น เพื่อเข้าไปดูแล ให้ความรู้ สอนวิธีการใช้งาน ให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

Life Dee ดาวน์โหลด


 

Life Dee ดาวน์โหลดได้ที่ไหน

 

แอปพลิเคชัน Life Dee สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

 

  • ดาวน์โหลดได้ที่ App Store สำหรับผู้ใช้ระบบ iOS

  • และผ่าน Google Play สำหรับผู้ใช้ระบบ Android



Life Dee Gistda



 ‘LifeDee’ ผลงานนวัตกรรมข้ามสาย กรมอนามัย - Gistda

 

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA กับ กรมอนามัย ได้บูรณาการงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการวิจัย พัฒนา และการบริการด้านสาธารณสุขเชิงพื้นที่ รวมถึงร่วมกันผลักดัน และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของกรมอนามัยในด้านต่าง ๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนวัตกรรมและองค์ความรู้ ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน

การพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Life Dee’ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนไทยสามารถตรวจเช็คสุขภาพของตนเอง ค้นหาสถานบริการสุขภาพ ข้อมูลปริมาณฝุ่นในอากาศ ตลอดจนแผนที่แสดงแบบจำลองสถานการณ์ฝุ่นภายใต้ภูมิอากาศจุลภาค (microclimate)

 

Life Dee แอป



Life Dee กับการยอมรับจากต่างชาติ

 

นอกจากจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้วทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน Life Dee จากสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ GISTDA ยังได้พา Life Dee และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปอวดโฉมในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลและการประยุกต์ใช้ในสังคมเมือง (Remote Sensing Technologies and Applications in Urban) ที่จัดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดโดยสมาคมวิศวกรรมการวัด (SPIE)

 

โดยภายหลังจากเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าวพัฒนายังได้รับคำเชิญจากผู้จัดงาน ให้ส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Applied Remote Sensing (JARS) อีกด้วย สะท้อนถึงศักยภาพของโปรเจกต์แอปพลิชัน Life Dee ซึ่งเป็นฝีมือของคนไทย และการใช้งานในอนาคต ที่จะสามารถนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ในอนาคต เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่นานาประเทศสามารถนำไปปรับใช้ และต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศของตน รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีกว่าให้กับชาวโลกได้

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT