ความยั่งยืน

วิจัยชี้ โลกร้อนทำไทยเสี่ยงเจอภัยแล้งสลับน้ำท่วม ภาคเกษตรกระทบหนัก เสียหายสูงสุด 8.4 หมื่นล้านบาท/ปี

29 พ.ค. 67
วิจัยชี้ โลกร้อนทำไทยเสี่ยงเจอภัยแล้งสลับน้ำท่วม ภาคเกษตรกระทบหนัก เสียหายสูงสุด 8.4 หมื่นล้านบาท/ปี

วิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้นแล้ว 1 องศา ทำให้ไทยเสี่ยงเจอสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว คือภัยแล้งสลับน้ำท่วม รวมไปถึงพายุฝนที่มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับภาคการเกษตรมากที่สุด โดยเสี่ยงเสียหายสูงสุดถึง 8.4 หมื่นล้านบาท/ปี ในระหว่างช่วงปี 2011 - 2045

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังต้องเผชิญ เพราะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมไปถึงทำให้เกิดภัยพิบัติแรงและถี่ขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของมนุษย์

จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIER พบว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมานั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส (ºC) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์  โดยเฉพาะการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย วิจัยนี้พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเองก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยหากพิจารณาอุณหภูมิเฉลี่ย (mean temperature) ของประเทศไทยย้อนหลัง 70 ปี ตั้งแต่ปี 1951 จนถึงปี 2021 จะพบว่าในภาพรวมอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1ºC 

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุด (mean maximum temperature) และค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิต่ำสุด (mean minimum temperature) ของไทยนั้นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุดและค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1ºC  และมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค โดยภาคตะวันออกและภาคกลางเผชิญการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยมากกว่าภาคอื่นๆ 

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิส่งผลต่อสภาพอากาศไทยอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลโดยตรงต่อสภาพอากาศของไทย คือทำให้ไทยต้องประสบกับสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่ขึ้น ซึ่ง สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) ในที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ทางภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงแต่มีความถี่การเกิดไม่บ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุหมุนเขตร้อน และ ความร้อนสุดขั้ว 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้หน้าร้อนของไทยยาวนานและมีความเข้มข้นของความร้อนมากยิ่งขึ้น โดยการศึกษาของ TDRI พบว่า ดัชนีจำนวนคืน/วันที่อากาศหนาว (cold nights/days) ของไทยมีแนวโน้มลดลง ในทางกลับกัน ดัชนีจำนวนคืน/วันที่อากาศอบอุ่น (warm nights/days) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้ไทยมีแนวโน้มมีวันที่ฝนตกน้อยลงในแต่ละปี แต่ในวันที่ตกจะตกหนักขึ้น โดยจากการศึกษาของ TDRI พบว่า ดัชนีปริมาณฝนจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก ในช่วงปี 1955-2011 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับ ดัชนีความเข้มของฝนรายวันอย่างง่าย (simple daily intensity index: SDII) ซึ่งคำนวณจากปริมาณน้ำฝนรวมรายปีและจำนวนวันที่ฝนตก

การที่ฝนตกน้อยวันลง แต่ตกหนักขึ้น ทำให้ไทยเสี่ยงเจอภาวะ “แล้งสลับน้ำท่วม” ซึ่งสร้างความท้าทายสำหรับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการน้ำสำหรับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพราะปริมาณฝนจะไม่แน่นอนในแต่ปี จัดการยากว่าในช่วงใดควรจะกักเก็บน้ำ หรือปล่อยน้ำออกไปเพื่อรอรับน้ำฝน

นอกจากนี้ ไทยยังเสี่ยงที่เจอพายุฝนที่รุนแรงมากขึ้น เพราะขณะที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้จำนวนพายุฝนที่เข้าประเทศไทยลดลง แต่จะทำให้จำนวนพายุที่มีความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหากพิจารณาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจำนวนพายุหมุนเขตร้อนซึ่งประกอบด้วยพายุดีเปรสชั่นเขตร้อน พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในระหว่างปี 1950 - 2020 นั้น ในภาพรวม จำนวนพายุต่อปีที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่พายุในระดับที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่น 1 ที่เกิดขึ้นในรอบทุกๆ 10 ปี กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและไทยในอนาคตมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ในการศึกษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกและประเทศไทย นักวิจัยได้พิจารณาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผ่าน 5 สถานการณ์ที่มีความแตกต่างในแง่ของความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่

  • สถานการณ์ SSP1-1.9 และสถานการณ์ SSP1-2.6 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ต่ำมากและต่ำ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแนวโน้มลดลงถึงระดับการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 และ 2070 ตามลำดับ
  • สถานการณ์ SSP2-4.5 เป็นสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันจนกระทั่งถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 21
  • สถานการณ์ SSP3-7.0 และ SSP5-8.5 เป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงและสูงมาก โดยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้สถานการณ์ SSP3-7.0 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากระดับปัจจุบันภายในปี 2100 ส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้สถานการณ์ SSP5-8.5 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2050 

จากการศึกษา พบว่าภายใต้สถานการณ์ SSP1-1.9 และ SSP1-2.6 อุณหภูมิในระยะใกล้ (2021–2040) ระยะปานกลาง (2041–2060) และระยะไกล (2061–2100) อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5-1.6-1.4ºC และ 1.5-1.7-1.8ºC ตามลำดับ ขณะที่ในสถานการณ์ SSP2-4.5 อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5-2.0-2.7ºC ในแต่ละระยะ

ขณะที่ภายใต้สถานการณ์ SSP3-7.0 และ SSP5-8.5 อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5-2.1-3.6ºC และ 1.6-2.4-4.4ºC ตามลำดับ ซึ่งจะเสี่ยงทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ทั้งสภาวะร้อนสุดขั้ว (hot temperature extremes) เหตุการณ์ฝนตกหนัก (heavy precipitation) ภัยแล้งรุนแรง

ในส่วนของประเทศไทย พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น 1.0ºC ภายในช่วงปี 2020-2040 สูงขึ้น 1.5ºC ภายในช่วงปี 2045-2080 และสูงขึ้น 2.0ºC ภายในช่วงปี 2050-2070 นอกจากนี้ คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-4ºC ในปี 2100

ดังนั้น หากในอนาคตประชาคมโลกและประเทศไทยไม่ดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น มีความเป็นไปได้ที่ว่าสภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศสุดขั้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการน้ำ และปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ในช่วงระหว่างปี 1993-2019 พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทยประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 3-5.7 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่อื่น ๆ บริเวณมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 1 เมตรภายในปี 2100 

ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง (RCP4.5) มีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เซนติเมตรภายในปี 2050 และเพิ่มขึ้น 80 เซนติเมตรภายในปี 2100 แต่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง (RCP8.5) คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 38 เซนติเมตรภายในปี 2050 และเพิ่มขึ้น 99 เซนติเมตรภายในปี 2100

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทย

ความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสามารถแบ่งตามช่องทางการส่งผ่านผลกระทบได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ และ (2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

  • ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) คือ ความเสี่ยงที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามด้านภูมิอากาศ ทั้งเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เช่น พายุ น้ำท่วม ฯลฯ และเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ (slow onset events) เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความเป็นกรดของมหาสมุทร (ocean acidification) และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย เทคโนโลยี และรสนิยมผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) นโยบายการคลัง ทั้งด้านงบประมาณ ด้านภาษี และด้านการลงทุนของภาครัฐ (2) นโยบายการเงิน (3) กฎหมายและกฎระเบียบ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่กีดกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีซึ่งสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ (5) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าทดแทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

สำหรับประเทศไทย ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจของไทยไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตสินค้าและบริการ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจระดับมหภาค

สำหรับ ‘ภาคการผลิตสินค้าและบริการ’ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ รายได้และสินทรัพย์ของธุรกิจ เพราะรายได้ของธุรกิจอาจลดลงทั้งจากการที่ความต้องการสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจการมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลิตภาพของธุรกิจและแรงงานลดลง เป็นต้น ส่วนผลกระทบผ่านทางสินทรัพย์เกิดจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ การด้อยค่าลงของสินทรัพย์เมื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความจำเป็นในการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับ ‘ภาคการเกษตร’ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบหนักเพราะภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสภาพภูมิอากาศเนื่องจากต้องพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต และหากอุณหภูมิสูงขึ้นจนสภาพอากาศแปรปรวน การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็จะได้รับผลกระทบ ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง

จากข้อมูลที่ผ่านมา ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ งานศึกษาต่างๆ พบว่าความแปรปรวนของภูมิอากาศ โดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอกจะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และภาวะฝนแล้งที่ทำให้ผลผลิตเกษตรที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะข้าวโพดลดลง

โดยรวมแล้ว การศึกษาชี้ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยอย่างมาก โดยคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมระหว่างช่วงปี 2011-2045 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า 10 จังหวัดแรกที่คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา นครราชสีมา ตรัง จันทบุรี ระยอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ

สำหรับ ‘อุตสาหกรรมการผลิต’ การเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจากการที่เครื่องจักร อุปกรณ์ภายในโรงงานและอาคารโรงงานได้รับความเสียหาย และทำลายห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม เพราะอ่าจทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตลดลง การขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ ติดขัด ซึ่งส่งผลให้อุปทานสินค้าขาดแคลนและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนส่งผลให้แรงงานปวดศีรษะและเหนื่อยล้า และมีความเครียด ทำให้ทำงานได้น้อยลง

ในด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน การบังคับใช้มาตรการทางการค้า เช่น (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจำกัดปริมาณคาร์บอนที่แฝงมากับสินค้านำเข้า การเก็บภาษีคาร์บอน และระบบซื้อ-ขายคาร์บอน (emission trading systems: ETS) ยังทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น ส่งผลให้ผลกำไรลดลง เพราะทำให้ผู้ผลิตต้องลงทุนเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าเพื่อลดปริมาณคาร์บอน

สำหรับ ‘ภาคการท่องเที่ยว’ การเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมและภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต้องปิดให้บริการ กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงคลื่นซัดฝั่งอาจสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเลอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะกิจกรรมดูปะการังที่ได้รับผลกระทบจากภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล

ผลกระทบต่อการเงินของครัวเรือน และเศรษฐกิจมหภาค

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือนในประเทศไทย โดยกระทบรายได้ครัวเรือนผ่านทางอาชีพและผลิตภาพ รายจ่ายครัวเรือนผ่านทางค่าครองชีพ การเข้าถึงสินค้าและบริการรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร สินทรัพย์ของครัวเรือนผ่านทางทุนทางธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ตลอดจนทุนทางเศรษฐกิจ 

จากการศึกษา พบว่า ภาคครัวเรือนในประเทศไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากพึงพารายได้จากภาคเกษตร แรงงานในภาคเกษตรของไทยมีจำนวนมากถึง 12.62 ล้านคน หรือ 34.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ หากพิจารณาลักษณะของพื้นที่ทำการเกษตรจะพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองไม่มาก มีการศึกษาน้อย และมีครัวเรือนเกษตรเพียง 26% ที่เข้าถึงระบบชลประทาน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรด้วยเช่นกัน แรงงานซึ่งประกอบอาชีพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศมีรายได้ที่ลดลงจาก (1) การจ้างงานที่ลดลง ทั้งจากชั่วโมงการทำงานลดลง การสูญเสียงาน และการเจ็บป่วยจากภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศ (2) ค่าจ้างที่ลดลง เนื่องจากผลิตภาพแรงงานที่ลดลง จากการที่ทุนและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติและจากสุขภาพที่แย่ลง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะการที่สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลงและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาภาวะความตึงเครียดทางการเงิน (financial strain) ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง และการที่ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังความน่าเชื่อถือของครัวเรือนซึ่งกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต 

ในด้านของ 'เศรษฐกิจระดับมหภาค' งานศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น และสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (climate shocks) จะสามารถทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวได้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งสะท้อนจากค่าต่ำสุดของผลกระทบซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.7% สำหรับทุกภาคการผลิต 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อแต่ละภาคการผลิตแตกต่างกัน โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมื่อเกิดสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติแล้ว ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75% ในขณะที่ภาคการผลิตอื่นๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส แต่ผลกระทบต่อทุกภาคการผลิตเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราว เพราะหากไม่มี shock อื่นซ้ำเติม ผลกระทบต่อผลผลิตจะคลี่คลายภายใน 10 ไตรมาส

งานศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก ผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี สภาพอากาศที่ผิดปกติส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.14% ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าในบริบทของประเทศไทย สภาพอากาศที่ผิดปกติมีลักษณะคล้ายกับผลกระทบต่ออุปทานรวม (supply shock) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมหดตัวและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ทั้งนี้ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น สภาพอากาศที่ผิดปกติส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวในจังหวัดต่าง ๆ ลดลง 2.28% แต่ผลกระทบต่อแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่นถึง 0.74%



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT