ความยั่งยืน

โลกเดือดขั้นวิกฤต อุณหภูมิขั้วโลกพุ่งเกินปกติ 38.5 องศา ระดับน้ำทะเลเพิ่มต่อเนื่อง

10 เม.ย. 67
โลกเดือดขั้นวิกฤต อุณหภูมิขั้วโลกพุ่งเกินปกติ 38.5 องศา ระดับน้ำทะเลเพิ่มต่อเนื่อง

นักวิทยาศาสตร์พบอุณหภูมิทวีปแอนตาร์กติกาพุ่งสูงขึ้นกะทันหัน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 38.5 องศาเซลเซียสในวันที่ 18 มีนาคม 2022 ขณะที่อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นละลายแผ่นน้ำแข็งต่อเนื่อง เสี่ยงทำสัตว์หลายชนิดรวมไปถึงเพนกวินสูญพันธุ์

สถิตินี้ถูกบันทึกไว้ได้โดยนักวิทยาศาสตร์ที่สถานีวิจัย Concordia ซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบแอนตาร์กติกตะวันออก และเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่สถานีอุตุนิยมวิทยาบนโลกสามารถบันทึกไว้ได้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักวิจัยเพราะพวกเขายังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอะไรทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น และอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิจัยรู้จากเหตุการณ์นี้ได้อย่างแน่นอนคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าทวีปที่หนาวเย็นที่สุดในโลกอย่างแอนตาร์กติกา หรือที่เราเรียกกันว่า “ขั้วโลกใต้” ได้ตาม หรือทวีปอาร์กติก หรือ “ขั้วโลกเหนือ” เข้าสู่ภาวะโลกร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยในปัจจุบัน อุณหภูมิของทวีปอาร์กติกสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นบนโลกถึงสี่เท่า ขณะที่ทวีปแอนตาร์กติกาอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ 2 เท่า

ทำไมอุณหภูมิที่ขั้วโลกใต้และเหนือสูงขึ้นเร็วกว่าที่อื่น? 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิที่อาร์กติกและแอนตาร์กติกาสูงขึ้นเร็วกว่าที่อื่นบนโลก คือ เมื่อแผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือและใต้เจอน้ำที่อุ่นขึ้นจากภาวะโลกร้อน แผ่นน้ำแข็งเหล่านี้จะละลาย เปิดให้แสงแดดส่องถึงน้ำทะเลด้านล่าง และเมื่อน้ำทะเลด้านล่างที่ปกติไม่เคยเจอแสงแดดอุ่นขึ้น อุณหภูมิในบริเวณนั้นก็สูงขึ้นเร็วตามไปด้วย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่กระตุ้นให้มีความร้อนสะสมขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาละลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำแข็งในแอนตาร์กติกทางใต้ จากทั้งกระแสน้ำที่อุ่นขึ้น และกระแสลมอุ่นที่พัดเอาความอบอุ่นและลมชื้นจากซีกโลกใต้ รวมไปถึงออสเตรเลีย เข้าไปในทวีปแอนตาร์กติกาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบสาเหตุ

นักวิจัยจากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์ติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey) กล่าวว่ามวลน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 แต่หลังจากกลางทศวรรษที่ผ่านมา หรือประมาณปี 2015 เป็นต้นมา มวลน้ำแข็งในพื้นที่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปรากฎการณ์นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวล เพราะนักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าแอนตาร์กติกานั้นเย็นเกินไปที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในช่วงแรก แต่มวลน้ำแข็งที่ลดลงก็ชี้แล้วว่าพวกเขาคิดผิด และแม้แต่แอนตาร์กติกาก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งถ้าปล่อยให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์ และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดชายฝั่ง

 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลาย?

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลายทั้งหมด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกลกจะสูงขึ้นถึง 60 เมตร ซึ่งจะทำให้เกาะ และพื้นที่ริมชายฝั่งเกือบทั้งหมดที่มีในตอนนี้จมน้ำไปทั้งหมด

ทั้งนี้ เหตุการณ์นั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก หรือเกิดขึ้นในเวลาอีกนานมาก เพราะแผ่นน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกานั้นมีพื้นที่ถึง 14 ล้านตารางกิโลเมตร ขนาดเท่ากับสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกรวมกัน และมีมวลน้ำแข็งรวมกันถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นน้ำถึง 60% บนโลก เพราะในบางพื้นที่ มวลน้ำแข็งนั้นสูงเป็นภูเขาที่สูงเทียบเท่ากับเทือกเขาแอลป์

อย่างไรก็ตาม แม้การที่น้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้จะละลายหมดจะเป็นไปได้ยาก อุณหภูมิที่สูงขึ้นก็เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งชีวิตโดยรอบแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อมนุษยต่อไปอีกเป็นทอดๆ และมีโอกาสสูงที่มนุษย์จะเริ่มได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยจากข้อมูลของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-1.1 เมตรในปลายศตวรรษนี้ หรือประมาณปี 2100

นอกจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเสี่ยงทำให้สิ่งมีชีวิตหลายอย่างในพื้นที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศของโลกไปเป็นทอดๆ และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการเสี่ยงสูญพันธุ์ของ “สาหร่าย” ที่เติบโตในขั้วโลกใต้

ปัจจุบัน ที่ขั้วโลกใต้มีสาหร่ายชนิดหนึ่งซึ่งเติบโตได้ในน้ำทะเลหนาวจัด และเป็นอาหารหลักของตัวเคยที่อาศัยอยู่ในทะเล แต่เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น สาหร่ายชนิดนี้ก็เจริญเติบโตได้น้อยลง ส่งผลให้ตัวเคยที่กินสาหร่ายนี้เป็นอาหารมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลดลงไปด้วย และจะส่งผลเสียต่อสัตว์อื่นๆ ในทะเล เพราะตัวเคยเป็นอาหารของปลา เพนกวิน แมวน้ำ และปลาวาฬ

นอกจากนี้ การลดลงของสาหร่ายชนิดนี้ยังจะส่งผลทำให้โลกเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศได้น้อยลง เพราะสาหร่ายเหล่านี้ซึบซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ ทำให้เมื่อตัวเคยกินสาหร่ายและปล่อยของเสียออกมา คาร์บอนในสาหร่ายก็จะถูกกักเก็บในของเสียนั้น และทิ้งตัวสู่พื้นทะเล ทำให้หากไม่มีสาหร่าย คาร์บอนเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ใกล้พื้นน้ำ และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศต่อไป

 

ลูกเพนกวินเสี่ยงจมน้ำตาย ไม่มีแผ่นน้ำแข็งอยู่

ทั้งนี้ นอกจากสาหร่ายแล้ว อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่แผ่นน้ำแข็งละลาย ก็คือสัตว์ที่เรารู้จักกันดีอย่าง “เพนกวินจักรพรรดิ” ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบได้ในทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น

แผ่นน้ำแข็งที่ละลายทำให้เพนกวินไม่สามารถสืบพันธุ์และออกลูกได้ เพราะแผ่นน้ำแข็งที่เพนกวินเหล่านี้อาศัยอยู่ มักจะแตกก่อนที่จะเพนกวินอายุน้อยจะสามารถเติบโตจนมีปีกกันน้ำซึ่งจำเป็นต่อการว่ายน้ำได้ทัน ทำให้เมื่อเกิดมา เพนกวินน้อยเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะจมน้ำตายเพราะว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ปรากฎการณ์นี้ทำให้เพนกวินเกิดใหม่มีจำนวนลดลง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจำนวนเพนกวินจักรพรรดิในขั้วโลกใต้อาจจะลดลงถึง 90% ภายในปลายศตวรรษนี้ หากเรายังไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ และแน่นอนว่ามีสิทธิที่จะสูญพันธุ์ในอนาคต

 

 

อ้างอิง: The Guardian




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT