ความยั่งยืน

นักวิทย์จีนเจอพลาสติกในเนื้อเยื่อหัวใจมนุษย์ วิจัยชี้อาจทำลายเนื้อเยื่อ ก่อมะเร็งได้

13 ส.ค. 66
นักวิทย์จีนเจอพลาสติกในเนื้อเยื่อหัวใจมนุษย์ วิจัยชี้อาจทำลายเนื้อเยื่อ ก่อมะเร็งได้
นักวิทย์จีนตรวจพบไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อหัวใจมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก สุ่มตรวจจากเนื้อเยื่อหัวใจของคนไข้ 15 คน พบมีพลาสติกถึง 9 ชนิด ใน 5 ชนิดเนื้อเยื่อ แม้ยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพที่ชัดเจน แต่วิจัยชี้อาจทำเนื้อเยื่อเสียหาย ก่อมะเร็งได้
 
การศึกษานี้จัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ในโรงพยาบาล Beijing Anzhen ในประเทศจีน ที่ได้นำเนื้อเยื่อหัวใจ และเลือดของคนไข้ที่กำลังจะเข้าผ่าตัดหัวใจมาตรวจเพื่อหาปริมาณไมโครพลาสติกทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
 
จากการศึกษา พบว่า เลือดของกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีไมโครพลาสติกก่อนเข้ารับการผ่าตัด และมีพลาสติกมากชนิดขึ้นหลังการผ่าตัด ทำให้มีข้อสัณนิษฐานว่าการผ่าตัดหัวใจอาจเปิดโอกาสให้ไมโครพลาสติกภายนอกเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากบรรยากาศรอบๆ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระหว่างการผ่าตัด
 
อย่างไรก็ตาม ในเนื้อเยื่อของหัวใจ นักวิจัยพบพบพลาสติกถึง 9 ชนิด ใน 5 ชนิดเนื้อเยื่อของหัวใจ และพบหลักฐานว่าไมโครพลาสติกเหล่านั้นเป็นไมโครพลาสติกที่คนไข้ได้รับมาก่อนขึ้นเตียงผ่าตัดทั้งหมด
 
จากผลการศึกษา หนึ่งในชนิดพลาสติกที่พบในเนื้อเยื่อหัวใจของคนไข้คือ polymethyl methacrylate หรือพลาสติกที่ใช้ในกระจกอะคริลิกกันแตก โดยพบในเนื้อเยื่อรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage) เนื้อเยื่อไขมันในเยื่อหุ้มชั้นอีพิคาร์เดียมของหัวใจ (epicardial adipose tissue) และ เนื้อเยื่อไขมันในเยื่อหุ้มเพอริคาร์เดียมของหัวใจ (pericardial adipose tissue)
 
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบพลาสติก polyethylene terephthalate ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในเสื้อผ้า หรืออุปกรณ์ใส่อาหาร และ polyvinyl chloride ซึ่งพบได้ทั่วไประหว่างมีการก่อสร้างอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
 

ไมโครพลาสติกเข้าไปในร่ายกายมนุษย์ได้อย่างไร? ส่งผลอย่างไร?

จากการศึกษานี้ นักวิจัยยังไม่สามารถสืบค้นต่อได้ว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปแฝงตัวในเนื้อเยื่อหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างไร หรือจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของผู้ป่วย เพราะต้องอาศัยการสังเกตการณ์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดในระยะยาว ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอ
 
จากคำนิยามของ CDC ไมโครพลาสติกคือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ในขณะที่นาโนพลาสติกคือพลาสติกคือพลาสติกที่มีขนาดเล็กว่า 0.001 มิลลิเมตร ทำให้เม็ดพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้สามารถผ่านเนื้อเยื่อมนุษย์เข้าไปหมุนเวียนในกระแสเลือดและร่างกายของเราได้
 
จากการศึกษาที่ผ่านมา มนุษย์สามารถได้รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายได้หลากหลายทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือดื่มอาหาร การสูดดม หรือการสัมผัสร่างกาย เพราะในปัจจุบันเราสามารถพบไมโครพลาสติกได้ในทุกสถานที่ และในหลายๆ สิ่งมีชีวิตได้แล้ว รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของมนุษย์ เช่น ปลา สัตว์ทะเล และปศุสัตว์ต่างๆ
 
โดยนอกจากเนื้อเยื่อหัวใจแล้ว ก่อนหน้านี้มีการพบไมโครพลาสติกในอุจจาระของมนุษย์ ในลำไส้ บนพื้นผิวของเม็ดเลือดแดง รวมไปถึงเนื้อเยื่อในส่วนอื่นๆ เช่น รกเด็ก บ่งชี้ว่าแม่สามารถส่งต่อไมโครพลาสติกในร่างกายให้ลูกได้
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพนั้นเรายังไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เพราะในปัจจุบันในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เองก็ยังถกเถียงและกำลังเร่งศึกษาเพิ่มเติมกันอยู่ว่าไมโครพลาสติกนั้นจะสามารถส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของของมนุษย์ได้บ้าง
 
แต่ถึงจะยังไม่รู้ชัด หลายๆ ผลวิจัยก็บ่งชี้แล้วว่าไมโครพลาสติกจะต้องส่งผลเสียต่อร่างกายของเราในทางใดทางหนึ่งแน่นอน เพราะอย่างไรไมโครพลาสติกก็คือสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ควรจะอยู่ในร่างกายมนุษย์
 
ในบทความของ National Geographic Albert Rizzo หัวหน้าแพทย์ของ American Lung Association เปรียบเทียบการสูดไมโครพลาสติกเข้าร่างกายเหมือนการสูบบุหรี่ ที่เมื่อเข้าไปในร่างกายคนเราแล้วจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราทำงานเพื่อที่จะเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย เกิดพังผืด และอาจทำให้เซลล์กลายไปเป็นเนื้อเยื่อมะเร็ง และความรุนแรงของผลกระทบอาจจะขึ้นอยู่กับขนาด ประเภท และรูปร่างของไมโครพลาสติกแต่ละแบบได้อีก
 
 
 
อ้างอิง: IFLScience, American Chemical Society
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT