แผ่นดินไหวกลายเป็นหัวข้อยอดนิยมในวงสนทนาสังคมไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ที่เมียนมา สร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงไทย และทำให้คนไทยเริ่มมองหานวัตกรรมที่รองรับแผ่นดินไหว และหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่หลายคนถามหา คือเทคโนโลยีการสร้างบ้านแบบไหนรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ดี
แผ่นดินไหวคือการสั่นสะเทือนของพื้นผิวโลก ส่งคลื่นสั่นสะเทือนกระจายออกไป นำไปสู่แรงเฉือนจากด้านข้างหรือแรงบิด แรงในลักษณะนี้อาจสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างอาคาร ที่ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักในแนวดิ่ง และรับแรงด้านข้างได้ไม่มากนัก ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอาคารยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว สภาพดินที่อาคารตั้งอยู่ ความสูงของอาคาร น้ำหนัก และความยืดหยุ่นของโครงสร้างด้วย คุณเอกพล ลิ่มสุนทรากุล ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท SEKISUI - SCG INDUSTRY จำกัด อธิบายความเสียหายจากแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างบ้านคอนกรีตว่า การพังของบ้านคอนกรีตจะเริ่มจากบริเวณเสาและคาน เพราะเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุด
“สำหรับบ้านคอนกรีต หากเริ่มพังทลาย จะเริ่มจากบริเวณระหว่างเสาและคาน เนื่องจากตรงนี้เป็นจุดอ่อนแอที่สุด ส่วนรอยต่อจะเริ่มเสียหายก่อน เพราะแผ่นดินไหวจะทำให้ [อาคาร] เอียงเหมือนขนมเปียกปูน มีการบิดตัว พอบิดตัวถ้าโยกไปมา ส่วนนี้ [รอยต่อ] จะเริ่มเสียหาย หากเป็นโครงสร้างคอนกรีตที่ไม่มีความเหนียวเหมือนเหล็ก มันจะแตก และร่วงเลย แต่หากเป็นเหล็กนั้น จะสามารถยืดและบิดตัวได้ ไม่แตกออกทันที” คุณเอกพล กล่าว
โครงสร้างจากเหล็กนี้เองเป็นโครงสร้างที่ SCG HEIM ใช้ในการสร้างบ้าน เพราะการทนทานต่อแผ่นดินไหวเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ Sekisui Chemical ให้ความสำคัญ
SCG HEIM เป็นโครงการความร่วมมือกับ SEKISUI HEIM ผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้านจากญี่ปุ่น เพื่อสร้างบ้านสำเร็จรูปหรือบ้านโมดูลาร์ (modular) เป็นทางเลือกให้กับคนไทย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคืออยากให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพ ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทในการสร้างบ้าน HEIM เริ่มต้นในปี 2010 และขณะนี้ผลิตบ้านให้คนไทยแล้วราว 1,300 หลัง
จนถึงปัจจุบัน มีลูกค้าที่ซื้อบ้าน HEIM ไปแล้วมากกว่า 1,300 หลัง โดยหลังเกิดแผ่นดินไหว มีลูกค้าบ้าน HEIM ราว 60 คน ติดต่อขอให้ทีมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อโครงสร้าง ซึ่งทีมวิศวกรของ HEIM พบว่า ไม่มีบ้านหลังใดได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้เลย
บ้าน HEIM สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ 1,200 Gal (หน่วยแสดงความเร่งของแผ่นดินไหว) ขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว กำหนดให้อาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า 220 Gal หากเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่วัดได้ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์มีขนาด 1,200 Gal ที่เชียงใหม่ 135 Gal และที่กรุงเทพฯ วัดได้ 75 Gal
ที่บ้าน HEIM รับแรงสั่นสะเทือนได้มากนั้นก็เป็นเพราะการสร้างตามมาตรฐานญี่ปุ่น ประเทศที่เผชิญและเชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวมาก บ้านพักอาศัยทุกหลังต้องสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า 1,800 Gal
คุณมาซาโตชิ คิฟูจิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท SEKISUI - SCG INDUSTRY จำกัด กล่าวว่าบ้าน HEIM ที่ทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ 1,200 Gal นั้นหมายถึงโครงสร้างบ้าน 1 ยูนิต แต่บ้านที่อยู่อาศัยจริงๆ คือการนำโครงสร้างบ้านหลายยูนิตมาประกอบกัน แล้วบ้านขนาดใหญ่ที่มีหลายยูนิตประกอบกันล่ะ?
“ปกติแล้วถ้า 1 ยูนิตรับความสั่นได้ 1,200 Gal การที่มีอะไรมาประกอบเพิ่มข้างๆ ยิ่งจะเพิ่มความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน เหมือนกับแนวคิดที่ว่าคนสองคนยืนกอดกันย่อมแข็งแรงกว่ายืนคนเดียว บ้านก็เหมือนกัน” คุณคิฟูจิอธิบาย พร้อมกอดล่ามเพื่อให้เห็นภาพตัวอย่าง “แต่ยังมีปัจจัยอื่น คือวิธีการเรียงยูนิต ที่บางรูปแบบอาจมีความแข็งแรงมากกว่าหรือน้อยกว่าแบบอื่น”
อีกจุดที่ Sekisui ให้ความสำคัญมากหรืออาจมากที่สุด คือการเชื่อม เพราะการเชื่อมส่วนมากทำโดยหุ่นยนต์ในโรงงาน ดังนั้นการควบคุมคุณภาพการเชื่อม ระยะ ความฉาก จึงทำได้ดีกว่าการเชื่อมด้วยมือ
“สำหรับงานเชื่อม หากพลังไม่ได้ ก็จะมีการฉีกขาดบริเวณงานเชื่อม แต่งานเชื่อมของเราใช้หุ่นยนต์ทำงาน เราจึงมั่นใจในคุณภาพ และเรายังมีการทดสอบคุณภาพงานเชื่อมอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เชื่อมไป เราจะมีระยะ มีจำนวนครั้งที่กำหนดไว้สำหรับทดสอบแรงดึง ทุกคนสามารถมั่นใจได้เลย” ล่ามแปลคำอธิบายของคุณคิฟูจิ
คุณคิฟูจิอธิบายว่า ในกรณีของประเทศไทยอาจมีการปรับลดลักษณะบางข้อ เช่น ความสูงของยูนิตบ้าน HEIM ที่สูงได้มากกว่า และการลดความหนาในบางจุด เพราะการคาดเดาว่าแผ่นดินไหวที่ไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะมีความรุนแรงเทียบเท่าที่ญี่ปุ่น หรือการตอกเสาเข็มที่ลึกกว่าที่ญี่ปุ่น เนื่องจากดินในกรุงเทพฯ มีความนิ่มกว่า แต่ยังมีแนวคิดการต้านทานแผ่นดินไหวแบบเดียวกันอยู่ นอกจากนี้คุณคิฟูจิยังอธิบายความโดดเด่นของบ้าน HEIM อีก 3 ข้อ
โครงสร้างบ้านแบบ Rahmen ในด้านสถาปัตยกรรมคือ โครงสร้างที่ประกอบด้วยเสาและคานเชื่อมกันอย่างแข็งแรง คุณคิฟูจิอธิบายว่า โครงสร้างบ้านแบบราเม็งเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรงมาก ทุกมุมของโมดูลาร์จะถูกยึดด้วย Joint-Piece ที่ทนแรงแผ่นดินไหวได้มากกว่า
อีกข้อดีของการเป็นบ้านที่สร้างใต้หลังคาโรงงานคือ สามารถเพิ่มนวัตกรรมที่ช่วยสร้างบ้านเพื่อการอยู่อาศัยที่ดีเข้าไปได้สะดวก อย่างหนึ่งที่บ้าน HEIM โดดเด่นคือ ระบบหมุนเวียนและกรองอากาศภายในบ้าน (Air Factory System) ที่ดูดอากาศจากภายนอกบ้านเข้ามาผ่านระบบกรองอากาศ 3 ชั้น ทำให้อากาศสะอาด และช่วยลดอุณหภูมิ อากาศสะอาดจะถูกส่งไปตามท่อที่ฝังอยู่ภายในผนังและส่วนต่างๆ ของบ้าน ทำให้บ้านมีอากาศสะอาดแม้ไม่เปิดประตูหน้าต่าง และยังมี Return Air Grill ช่องดูดอากาศที่ถูกติดตั้งไว้ตามมุมบ้าน เพื่อดูดอากาศใช้แล้วจากภายในส่งออกไปภายนอก แต่ข้อจำกัดก็คือหากเราเปิดประตูหรือหน้าต่าง ฝุ่นละอองก็เข้ามาได้อยู่ดี
คุณคิฟูจิอธิบายว่า หลังส่งมอบบ้าน HEIM แล้ว ใน 5 ปีแรกจะมีบริการตรวจเช็คปีละครั้ง และอีกครั้งในปีที่ 10, 15, และ 20 เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ บ้าน HEIM มีนวัตกรรมอื่นๆ ที่เราสามารถติดตั้งได้อีก เช่น
กระบวนการสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนโครงสร้างตัวบ้าน เป็นส่วนที่ผลิตในโรงงานของ SCG HEIM ด้วยแขนกลหุ่นยนต์ และยกไปประกอบที่หน้างาน และส่วนที่ 2 คืองานฐานราก ซึ่งอาจเป็นการตอกเสาเข็ม ทั้งสองส่วนดำเนินควบคู่กันไป โดยกระบวนการสร้างยูนิตของบ้านใช้เวลาในโรงงานเพียง 7 วัน และใช้เวลาประกอบ 1 วัน อย่างไรก็ตาม กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ระยะเวลาสร้างบ้านตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการอยู่ที่ 6-7 เดือน นับตั้งแต่กระบวนการออกแบบ จนถึงตกแต่งภายในหลังประกอบโครงสร้างบ้านเสร็จ
ราคาเริ่มต้นของบ้าน HEIM โดย SCG มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราว 5.8-5.9 ล้านบาท ราคาขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน รูปแบบการออกแบบ และคุณภาพของวัสดุที่เราสามารถเลือกได้เอง