positioning

“สุริยะ” สวน "สุรเชษฐ์" ยันคมนาคมไม่มีนายทุนครอบงำและไม่มีนายใหญ่-ไม่แก้สัญญา "ไฮสปีด 3 สนามบิน" เอื้อเอกชนแน่นอน

5 เม.ย. 67
“สุริยะ” สวน "สุรเชษฐ์" ยันคมนาคมไม่มีนายทุนครอบงำและไม่มีนายใหญ่-ไม่แก้สัญญา "ไฮสปีด 3 สนามบิน" เอื้อเอกชนแน่นอน
“สุริยะ” สวน สุรเชษฐ์ คมนาคม ไม่มีนายทุนครอบงำ ไม่มีนายใหญ่ มีแต่นายสุริยะ พร้อมตอบ 3 คำถาม ปม “รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน” เผยคุยเลขาฯ บีโอไอไม่เลื่อนออกบัตรส่งเสริมลงทุนฯ ปิดช่องเอกชนใช้อ้างเลื่อนออก NTP เริ่มงาน ยันไม่แก้สัญญาเอื้อเอกชนแน่นอน

วันที่ 3 เม.ย. 2567 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ มาตรา 152 ถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ระบุว่า โครงการฯ ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2562 เกือบ 5 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เป็นโครงการที่รัฐร่วมลงทุน 1.59 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุกโครงการ โครงการขายฝันเกินจริง และมีประเด็นการเลื่อนออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีการซ่อนเงื่อนงำไว้ในสัญญาการออก NTP ทำให้ก่อสร้างไม่ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับเอกชน เพราะเงื่อนไขการออก NTP ต้องให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อน ซึ่งหากไม่อยากสร้างเอกชนก็ดึงเรื่องส่งเอกสารช้าๆ ขยายเวลา ไปเรื่อยๆ ล่าสุดขยายครั้งที่ 3 ไปถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 ปัญหาโครงการนี้คือความไม่สมเหตุสมผล และมีการปั้นตัวเลข รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้เพื่อลดความเสียหาย ต้องจับตาว่าจะมีการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เอื้อนายทุนใหญ่หรือไม่

นายสุรเชษฐ์ตั้งคำถาม 3 ข้อ ดังนี้ 1. จะมีการเลื่อน NTP จากกำหนดการในปัจจุบัน อีกหรือไม่ 2. จะมีการแก้ไขสัญญา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมเมื่อปี 62 หรือไม่ 3. เมื่อไหร่จะมีการกำหนดมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูง ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย หรือท่านคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี ใช้วิธีแบ่งเค้กเป็นสายๆ เจรจาเป็นรายๆ แบบที่ทำกันอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว และภายใน มิ.ย. 2567 นี้จะได้รู้ว่านายกฯ เศรษฐาคือนายกฯ ตัวจริงหรือไม่ หรือใครคือผู้บงการอยู่เบื้องหลังโครงการนี้ นายทุนหรือนายใหญ่ แต่ยิ่งยื้อ ยิ่งแย่ ระวังเป็นค่าโง่ก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
@ สวนกลับ ก้าวไกล ยันคมนาคมไม่มีนายทุน นายใหญ่ มีแต่ นายสุริยะ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขอขอบคุณที่ นายสุรเชษฐ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และยังให้คำแนะนำข้อเสนอในการดำเนินโครงการที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกระทรวงคมนาคม ตนขออธิบายถึงความเป็นมาว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว ขณะที่ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคมเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้ติดตามและผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมพื้นที่อีอีซี ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายของนายกฯ นอกจากนี้จะทำให้นักธุรกิจต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี และบริเวณโดยรอบได้อย่างสะดวกซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม และช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในทุกระดับ

นายสุริยะกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. จะใช้แนวเส้นทางเดิมของระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge ส่วนต่อขยายอีก 2 ช่วง จากสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง -สนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าสนามบินโดยใช้เขตทางเดิมของรถไฟเป็นส่วนใหญ่ โดยมีผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว เมื่อก่อสร้างเสร็จรถไฟจะมีความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม. เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่อีอีซีภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชม. อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ลดความหนาแน่นของการจราจร รวมถึงเพิ่มมูลค่าของจีดีพีจากอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1. จะมีการเลื่อนออก NTP หรือหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน จากกำหนดในปัจจุบันอีกหรือไม่ ตนขอเรียนว่า ที่ผ่านมาคู่สัญญาได้ยกข้ออ้างเรื่องการขออนุมัติการออกใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพื่อเลื่อนการออก NTP ซึ่งตนได้ปรึกษาและแนะนำกับเลขาฯ บีโอไอว่าไม่ควรให้เลื่อนการออกบัตรส่งเสริมบีโอไออีก เพื่อไม่ให้เอกชนนำข้ออ้างนี้ไปเลื่อนการออก NTP อีกต่อไป

คำถามที่ 2 กระทรวงคมนาคมจะมีการแก้ไขสัญญาหรือไม่นั้น ขอเรียนว่า กระบวนการแก้ไขสัญญามี 3 ส่วนที่เป็นองค์ประกอบ คือ สำนักงาน (สกพอ.)#8203; การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนผู้รับสัมปทาน ตนได้รับทราบจากคำอภิปรายว่าการรถไฟฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยคณะกรรมการอีอีซีให้การรถไฟฯ ไปเจรจากับคู่สัญญา โดยเอกชนจะขอเปลี่ยนแปลงหลักการ จากการก่อสร้างเสร็จแล้วค่อยจ่ายเป็น สร้างไปจ่ายไป ซึ่งตนขอยืนยันว่ากระทรวงฯ ไม่มีนโยบายในการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อเอกชนอย่างแน่นอน และขอให้เชื่อมั่นการบริหารของกระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับดูแลของตน โดยตนจะดำเนินการอย่างโปร่งใสให้ประชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้

คำถามที่ 3 กระทรวงคมนาคมจะมีการกำหนดมาตรฐานของรถไฟความเร็วสูง อย่างไรนั้น กระทรวงคมนาคมได้มีการกำหนดมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทางจะมีการดำเนินการก่อสร้างตามมาตรฐานสากลที่ใช้ในทุกประเทศที่มีบริการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ เพื่อประหยัดภาระงบประมาณของประเทศและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สุงสุด

นายสุริยะกล่าวว่า คำตอบทั้ง 3 ข้อนี้จะสร้างความเข้าใจกับผู้สอบถาม และกรณีที่มีความห่วงใยว่ากระทรวงคมนาคมจะมีนายใหญ่หรือนายทุนมาครอบงำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนคู่สัญญานั้น ตนขอชี้แจงว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีนายใหญ่ ไม่มีนายทุน มีแต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เท่านั้น

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT