positioning

“สุริยะ”ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม”จังหวัดอันดามัน” ดัน”แลนด์บริดจ์”ผุดถนนเลียบทะเล ระนอง - สตูล

22 ม.ค. 67
“สุริยะ”ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม”จังหวัดอันดามัน” ดัน”แลนด์บริดจ์”ผุดถนนเลียบทะเล ระนอง - สตูล
“สุริยะ” นำทีม “คมนาคม”ลงพื้นที่ระนอง เตรียมร่วมประชุม ครม. สัญจร หนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผลักดัน”แลนด์บริดจ์”เชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน เริ่มสร้างปี 68 ฟังเสียงประชาชนเร่งเยียวยาผลกระทบ ผุดถนนเลียบทะเล “อันดามัน ริเวียร่า”ระนอง - สตูล กว่า 600 กม. บูมท่องเที่ยว

วันที่ 22 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง ในการลงพื้นที่ เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ร่วมต้อนรับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน และช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง มีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ได้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำดูแลการให้บริการประชาชน เป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด
สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย

1. มิติการพัฒนาทางถนน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟ สายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ) เชื่อมโยง ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และ ฝั่งระนอง

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ ได้แก่ ท่าเรือ โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ,ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ,ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ,ท่าอากาศยานตรัง ,ท่าอากาศยานเบตง ,ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง
@พัฒนา”แลนด์บริดจ์” เริ่มสร้างปี 68 ฟังเสียงประชาชนเร่งเยียวยาผลกระทบ

จากนั้น นายสุริยะ รมว.คมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล

สำหรับ ความคืบหน้าโครงการ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573

นายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็นผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
@ผุดถนนเลียบลทะเล”อันดามันริเวียร่า”ระนอง - สตูล กว่า 600 กม. บูมท่องเที่ยว

สำหรับโครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว

ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT