การเงิน

กลยุทธ์มิจฉาชีพข้ามยุค กระตุกต่อม ‘โลภ’ ล่อใจเหยื่อลงทุน

17 ก.ย. 66
กลยุทธ์มิจฉาชีพข้ามยุค กระตุกต่อม ‘โลภ’ ล่อใจเหยื่อลงทุน

หลายท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ ต่างมีประสบการณ์รับสายโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า ที่บ้างก็อ้างว่าคุณถูกรางวัลใหญ่ หรือจะมีพัสดุค้างจ่าย แถมผิดกฏหมาย  หนักหน่อยก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่สรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีจนหลายคนไม่กล้ารับโทรศัพท์เบอร์แปลกกันแล้วครับ โดยเฉพาะข่าวที่ว่า มิจฉาชีพใช้ AI โทรมาเพื่อให้เราพูดและใช้อัตลักษณ์ของเสียงเราไปเลียนแบบเพื่อหลอกยืมเงินเพื่อน

โลกของการหลอกลวง กลลวง และเงินทอง อีกกลลวงหนึ่งที่ฮอตฮิตในปัจจุบันเช่นกันก็คือ การหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆครับอาจจะด้วยเทรนด์ของการลงทุนนั้นกำลังเป็นที่พูดถึง ใครๆ ก็อยากให้เงินงอกเงยเร็วๆ

ซึ่งความต้องการเหล่านี้ครับที่ทำให้พี่มิจ (มิจฉาชีพ) ใช้หลอกล่อเราได้

‘การมีสุขภาพการเงินที่ดีและยั่งยืน’ เป็นเป้าหมายที่หลายๆ คนมองหาครับ แต่จะอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง ก็ต้องคอยระวัง ไม่ไปเหยียบโดนกับดักหลอกล่อเหล่านั้น สิ่งที่จะช่วยเราหนีพ้นกลลวง คือการศึกษาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ

 เปิดแฟ้มคดีดัง ระวังอย่าหลงกล!

หากพูดถึงการหลอกลวงในโลกการลงทุน มีมานานหลายยุคหลายสมัย อย่างคำว่า ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่หลายคนคุ้นเคย
ซึ่งมีวิธีการหลอกลวงที่หลากหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของคนที่ ‘ต้องการจะลงทุน’ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 มีการจับกุม Bernie Madoff ชายหนุ่มโพรไฟล์หรู ผู้ร่วมก่อตั้งดัชนี Nasdaq ที่ผันตัวไปเป็นเจ้าพ่อแห่งขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าความเสียหาย ตีเป็นเงินไทยก็ตกราวๆ 2 ล้านล้านบาท

เรียกได้ว่าเป็นการหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในโลกการเงินเลยทีเดียวครับ

Bernie Madoff  ใช้ชื่อเสียงที่เขามี หลอกให้คนนำเงินมาลงทุนกับเขา โดยการันตีผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนอื่น จากนั้นจึงให้ลูกน้องทำรายงานปลอมขึ้นมา เพื่อให้คนเห็นว่าเขาสามารถซื้อหุ้นที่ราคาต่ำสุด และขายที่จุดสูงสุดเสมอ

แต่สิ่งที่เขาทำคือ นำเงินลงทุนจากลูกค้ามาเก็บไว้ และเมื่อลูกค้าคนอื่นต้องการถอนเงิน เขาก็นำเงินก้อนเดียวกันนั่นแหละไปจ่ายคืนให้…จนมาโป๊ะแตก ตอนวิกฤตซับไพรม์ ปี 2551 ที่มีคนต้องการถอนเงินพร้อมกันจำนวนมาก

ในประเทศไทยเองก็มีคดี ‘แชร์ลูกโซ่’ เช่นเดียวกันครับ ซึ่งเป็นคดีที่ผ่านมาไม่นานและมีผู้มีชื่อเสียงเข้ามาพัวพันมากมาย ทั้งในฐานะของเหยื่อ และผู้สมรู้ร่วมคิด

ซึ่งวิธีการก็คล้ายๆ กันครับ คือการสร้างความน่าเชื่อถือ หรืออาจจะให้คนที่น่าเชื่อถือ มีหน้ามีตาในสังคม มาหลอกให้คนนำเงินมาลงทุนด้วย โดยการันตีผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ (เกินไป)

ในกรณีนี้ ได้มีการอ้างว่าหากนำเงินมาฝากให้ลงทุน จะมีการจ่ายปันผลให้เดือนละ 10% ย้ำครับว่าเดือนละ ไม่ใช่ปีละ ซึ่งถือว่าสูงมาก แถมยังการันตีด้วยนะครับ ทั้งที่ตามปกติแล้วอะไรแบบนี้ไม่สามารถการันตีได้

โดย…มีข้อแม้ว่า ภายใน 3 เดือน จะไม่สามารถถอนเงินต้นได้ คำนวณง่ายๆ ว่า ลงทุนแค่ 10 เดือน ก็ได้ทุนคืนแล้ว

ซึ่งการลงทุนที่การันตีผลตอบแทนแน่นอน การห้ามถอนเงินภายใน 3 เดือนจึงกลายเป็นเรื่องเล็กไปทันทีครับ

…และบางกรณี เราเองไม่ได้มีชื่อในสินทรัพย์ที่เราลงทุนไปด้วยนะครับ เรียกได้ว่า เงินเราแต่ชื่อเขา แบบนี้อย่างไรก็ไม่น่าไว้ใจ

โดยมิตร (มิจฉาชีพ) เหล่านี้จะจ่ายปันผลให้กับคนที่เข้ามาลงทุนก่อน ทำให้ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือเข้าไปอีก

 …เท่านั้นยังไม่พอ ยังสนับสนุนให้มีการเชิญชวนคนอื่นๆ โดยแลกกับส่วนแบ่งอีกด้วย

ซึ่งพอมีคนลงทุนเยอะเข้า ก็มีเงินไม่พอจ่ายให้กับทุกคน การถอนเงินก็ล่าช้า จนเกิดการฟ้องร้องจนกลายเป็นคดีดัง ที่มีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาทเลยทีเดียวครับ

ปักหมุด ลากจุดเชื่อมโยง

สังเกตไหมครับว่า ทั้ง 2 คดีนี้มีอะไรที่เหมือนกัน…ส่วนแรกนั่นก็คือความน่าเชื่อถือครับ

ความน่าเชื่อถือหรือโพรไฟล์ เป็นใบเบิกทางที่ดีเสมอ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน

แต่ความน่าเชื่อถืออาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนหลงเชื่อ

และนำเงินมาให้…ส่วนที่สองนี้จึงสำคัญครับ และเรียกได้ว่าเป็นไม้ตายที่มิจฉาชีพ ใช้หลอกคนมาได้นักต่อนัก

นั่นก็คือ ความเย้ายวนของผลตอบแทนครับ สังเกตได้ชัดๆ ว่า สิ่งที่เหมือนกันในหลายๆ คดี ก็คือ พวกเขามีผลตอบแทนที่มากพอจะทำให้คุณไม่รู้สึกเสียดายเงินต้น หรือเงินลงทุนที่คุณต้องทุ่มลงไป

แค่ผลตอบแทนสูงไม่พอยังการันตีอีกด้วยว่าได้ชัวร์…

นั่นจึงทำให้คุณกล้าเสี่ยง หลังจากหาข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะคุณคิดแล้วว่ามัน ‘คุ้ม’

ยังไม่พอครับ มิจฉาชีพเหล่านี้ยังให้ผลตอบแทนจริงอย่างที่ว่าไว้ในช่วงแรก พอคุณได้ปันผลตามที่เขาพูดไว้จริง หลายคนก็เลือกที่จะเอาเงินใส่เพิ่มเข้าไป เพราะอยากได้ปันผลมากขึ้นด้วย

อีกสิ่งที่เหล่ามิจฉาชีพชอบใช้บังหน้า ก็คือคำว่า ‘การลงทุน’ ครับ พอพูดว่าเป็นการลงทุน มันก็ทำให้ดูน่าเชื่อถือและมีความเป็นไปได้ขึ้นมาทันที เพราะเป็นอะไรที่ดูดี และไม่ผิดกฎหมายที่จะได้เงินมา

 นี่คือตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ ‘คนอื่น’ เป็นคนหลอกเราครับ
…แต่ถ้า ‘เรา’ หลอกตัวเอง จะเป็นอย่างไร

สิ่งที่น่ากลัวกว่าการโดนคนอื่นหลอก คือโดนตัวเองหลอก

คุณเคยยืมเงินตัวเองจากบัญชีที่ออมไว้มาใช้ก่อนเพื่อทำอะไรสักอย่างไหมครับ? แล้วคุณก็บอกกับตัวเองว่า เดือนหน้าจะเก็บมาคืน…แต่แล้วบัญชีนั้นอาจต้องรอไปอีกเป็นปี หลายปี หรือ ไม่ได้เก็บเงินมาใส่คืนอีกเลย

…นอกจากเรื่องทำนองนี้แล้ว ยังมีอีกเรื่องที่เราอาจกำลังโดนตัวเองหลอกอยู่

ก็คือ การ ‘ลงทุน’  ที่ไม่ใช่การลงทุน (ไม่ใช่เพลงนะครับ)

จากเดิมที่เป็นนักลงทุนซื้อขายหุ้นอยู่ดีๆ เราอาจกลายเป็น ‘นักพนัน’ โดยไม่รู้ตัว (รึเปล่า?)

การ ‘เล่นหุ้น’ ต่างจากการ ‘เล่นพนัน’ อย่างไร

ข้อแรกที่หลายคนคิดถึงคงไม่พ้นเรื่อง ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ใช่ไหมครับ แต่ในต่างประเทศ มีการพนันที่ถูกกฎหมาย …งั้น เราตัดเรื่องนี้ออกไปก่อนครับ

และความแตกต่างข้อแรก คือ การเล่นพนัน คุณจะมีแค่ ‘ได้’ หรือ ‘เสีย’ แต่การเล่นหุ้น คุณจะได้ (ความเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น) และต่อให้เสีย (กำไร หรือเงินที่ขาดทุนจากราคาหุ้นตก) คุณก็ยังคงเหลือความเป็นเจ้าของอยู่ดี…

ข้อที่สอง คือ การเล่นพนัน คุณจะทำได้แค่ ‘ทายผล’ หรือคาดเดาเอาจากความน่าจะเป็นเท่านั้น

ส่วนการเล่นหุ้น คุณสามารถตันสินใจจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มากมายได้ครับ หรือเรียกอีกอย่างว่า การตัดสินจากหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินย้อนหลัง หรือผลกำไร กระแสเงินสดในบริษัทเหล่านั้น

‘หุ้น’ และ ‘การลงทุน’ มีเหตุและผลของการขึ้นลง

คุณสามารถเห็นการดำเนินธุรกิจในอดีต และแนวทางหรือแนวโน้มในอนาคต เห็นผลิตภัณฑ์ ที่มีการใช้งานจริงจากคนทั้งตลาด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไม่พลิกผันจากหน้าเป็นหลังมือได้ในเวลาสั้นๆ

ถึงตรงนี้คุณคงอยากรู้แล้วใช่ไหมครับ ว่าการที่คุณซื้อขายหุ้นตามปกติ จะกลายมาเป็นนักเล่นพนันได้ยังไง

จริงๆ แล้วในความแตกต่างของการ ‘เล่นหุ้น’ กับการ ‘เล่นพนัน’ มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันอยู่ครับ นั่นก็คือ ‘การเลือก’ และการเลือกลงเงินเดิมพัน กับลงเงินซื้อหุ้นสักตัว ย่อมผ่านการ ‘คิด’ มาแล้วเช่นกัน

แต่ถ้าเราเริ่มคิด โดยมองแค่จำนวนเงินที่จะได้มาเพียงอย่างเดียว ‘การเล่นหุ้น’ ก็จะกลายเป็น ‘การเล่นพนัน’ โดยไม่รู้ตัวครับ

จึงทำให้ในบางครั้ง เราอาจลงเงินซื้อหุ้น โดยไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ และรอบด้าน ทำให้ไม่ต่างอะไรกับการลงเงินเดิมพัน เพราะเราก็แค่ กำลัง ‘ทายผล’ หรือคาดเดาอนาคต ว่าจะต้องได้กำไรนั่นเองครับ

และเมื่อเราทายผิด ราคาหุ้นตกลงมา เราก็ดันตัดสินใจขายในทันที โดยไม่วิเคราะห์ให้รอบคอบว่าราคาที่ตกนั้น อาจเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น แต่พื้นฐานธุรกิจเหล่านั้นยังดีอยู่ก็ได้

นั่นเท่ากับว่าเราเสียทั้งเงิน (ขาดทุน) และเสียทั้งหุ้นไปในเวลาเดียวกัน ไม่ต่างอะไรจากการพนันเลยครับ เพราะมันก็จะเป็นแค่เกม ‘ทายผล’ โดยอาศัยเพียงความน่าจะเป็น

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดจากตัวเราเอง ไม่ได้มีใครมาหลอกหรือล่อลวงอะไรเลย…

แต่อะไรจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเราได้…

ความจริงถูกปิดบังโดยกลลวง หรือ กลายเป็นความโลภที่บังตา

จุดเชื่อมโยงของเรื่องราวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโดนคนอื่นหลอก หรือการหลอกตัวเอง ล้วนเกิดจากความต้องการ (ที่เกินจริง) ครับ

ทุกหลุมพราง ล้วนมีเหยื่อล่อเป็น ‘ผลตอบแทน’ ที่ล่อตาล่อใจจนทำให้เราลืมที่จะ ‘ระวัง’ และ ‘รอบคอบ’

ความจริงที่แสนเจ็บปวด แต่ต้องเข้าใจ

มีนักลงทุนมากมายครับ ที่ร่ำรวยจากการลงทุน ซึ่งถ้าศึกษาจากอดีตก่อนจะประสบความสำเร็จของพวกเขาเหล่านั้น ก็จะเข้าใจดีครับว่า ‘ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ’

นักลงทุนชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่สะสมความรู้ ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน หรือบางคนเรียกได้ว่าโชกเลือด แต่พวกเขาเรียนรู้จากมัน และหมั่นหาความรู้ ตามให้ทันทั้งตลาดหุ้น และตลาดโลก

มอง ‘หุ้น’ เป็นเหตุและผล

และเหนือสิ่งอื่นใด คือความรอบคอบ และรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ไม่หลงไปกับสิ่งเร้า ที่เข้ามายั่วยุ ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีที่ทำให้โลภรีบเข้าซื้อ หรือข่าวร้ายที่ทำให้กลัวแล้วรีบเทขาย

แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะโชคดีมีเทคโนโลยีมาลดความยากของการลงทุนลงไป แต่ก่อนที่จะเอาเงินไปให้ใคร ก็ควรทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้จริงๆ มองลึกไปถึงธุรกิจที่เรากำลังจะลงทุนครับ

หันมาเป็น ‘นักเลือกธุรกิจ แทนการเป็นนักเลือกหุ้น’ อย่างที่ปู่ Warren Buffett เป็น มองให้เห็นความจริง วิเคราะห์จากสิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่จินตนาการ ลงทุนเมื่อคุณ จำนนต่อหลักฐานแล้วว่า ธุรกิจนี้ หุ้นตัวนี้มีพื้นฐานที่ดี และมีโอกาสเติบโต

การลงทุนมีกับดักมากมายที่คุณต้องระมัดระวังให้ดี ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน หรืออคติภายในใจของตัวเอง

ยึดหลักการลงทุนที่ดีไว้ให้มั่น ลงทุนอย่างรอบคอบ คิดให้รอบด้าน จะทำให้ทุกก้าวเดินปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ

 

 

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT