การเงิน

ทำธุรกิจอย่าลืม “คิด” ผลตอบแทนให้กับตัวเอง

9 ก.ย. 66
ทำธุรกิจอย่าลืม “คิด” ผลตอบแทนให้กับตัวเอง

ทุกวันนี้ เราได้รับผลตอบแทนจากธุรกิจคืออะไร ? ถ้าหากเริ่มต้นจากคำถามแบบนี้ หลายคนก็คงตอบว่า “กำไร” ไงเล่า แต่จริงๆ แล้ว เราควรได้รับผลตอบแทนแบบไหน และควรคิดยังไง บทความนี้จะมาชวนคิดชวนคุยให้ฟังกันครับ

ลองคิดภาพแบบนี้ครับ สมมติว่า นาย ก เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวลำพังแบบซื้อมาขายไป นั่งคำนวณเล่นๆก็พบว่า ทุกเดือนนาย ก มีการซื้อของมาขายจำนวน 500,000 บาท แล้วขายไปจำนวน 700,000 บาท (ว้าว) 

ถ้าถามว่าจากโจทย์ข้างต้น นาย ก จะมีกำไรเท่าไร หลายคนก็คงตอบได้ทันทีว่า 200,000 บาทใช่ไหมล่ะครับ แต่คำถามต่อก็คือ แล้วนาย ก จะเอากำไร 200,000 บาท ออกมายังไง

อ๊ะ! ก็ดึงออกมาทันที 200,000 บาทเลยไม่ได้เหรอ ? บางคนอาจจะคิดแบบนี้ แต่ถ้าลองคิดต่อไปให้มากกว่านี้ว่า แล้วนาย ก จะเอา “เงิน” ที่ไหนไปซื้อของมาขายต่อ ยิ่งถ้าหากมองง่าย ๆ ว่าการซื้อและขายทั้งหมดนั้นเป็นเงินสด ก็แปลว่านาย ก จะเหลือเงินสด 200,000 บาทถ้วน ถ้าถอนมาหมดก็คงต้องจบกิจการซะงั้น เว้นแต่ว่าจะมีเงินถุงเงินถังที่ลงทุนไว้ อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง 

หรือถ้าคิดให้ลึกซึ้งกว่านี้ หากการซื้อหรือขายมีรูปแบบของ “เครดิต” คือ ซื้อหรือขายก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลัง การจัดการ “เงิน” ทั้งหมดของนาย ก ก็จะยิ่งวุ่นเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะถ้าหากขายไม่ได้ เงินไม่มี หรือ จ่ายไม่ทัน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเครดิตของธุรกิจ และเงินกำไรส่วนต่างจากการขายที่นาย ก จะได้รับ

ซึ่งหลักการบริหารเงินแบบนี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งหนึ่งที่เราพูดถึง คือ “ผลตอบแทน” ให้กับตัวของนาย ก ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจแยกต่างหาก โดยแยกจากกำไรที่ต้องนำไปหมุนเวียนต่อ ไปจนถึงให้เพียงต่อการใช้จ่ายของตัวเอง

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของธุรกิจและนาย ก เราต้องคิดแยกจากกันในสองมุมดังนี้

  • เงินส่วนตัวที่นาย ก ใช้จ่ายต่อเดือน จำนวนเท่าไร โดยคิดเฉพาะส่วนที่นาย ก ใช้ชีวิตส่วนตัวจริง ๆ เท่านั้น เช่น ผ่อนบ้าน ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่าง ๆ เพื่อให้เห็นจำนวนเงินที่นาย  ก จะกันเงินส่วนนี้ออกมาจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเอง

  • เงินธุรกิจทีต้องใช้หมุนเวียน (ขั้นต่ำ) คิดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น ต้นทุนในการซื้อสินค้า ค่าแรงลูกน้องที่ต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่สำคัญ เพื่อให้ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนเพียงพอในแต่ละเดือน

จากตัวอย่างเมื่อกี้ สมมติว่า นาย ก รู้ว่าตัวเองต้องใช้จ่ายเดือนละประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวล้วนๆ แบบไม่มีเรื่องธุรกิจมาผสม นาย ก ก็จะประมาณได้ว่า กำไรจำนวน 200,000 บาทที่มีนั้น ให้แบ่งแยกมาเข้ากระเป๋าตัวเองจำนวน 50,000 บาทในทุกๆเดือน เพื่อให้เพียงพอและไม่ต้องไปยุ่งกับเงินหมุนเวียนจำนวน 150,000 บาทที่เหลือที่จะไปใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป 

หรือถ้าหากนาย ก รู้ว่าธุรกิจต้องมีเงินหมุนเวียนขั้นต่ำ 100,000 บาทไว้ในบัญชีต่อเดือน เพื่อสำรองจ่าย นาย ก อาจจะเลือกแบ่งเงินในแต่ละเดือนส่วนที่เหลือเกิน 100,000 บาทมาเข้ากระเป๋าก็ได้ เพราะจะได้มั่นใจว่าธุรกิจไปต่อได้ เพราะมีเงินหมุนเวียนเพียงพอแล้ว และถ้าหากอยากจะลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ ก็จะได้ทำได้โดยไม่ต้องกังวลใจว่าเงินจะเหลือพอหรือเปล่า

ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องพิจารณาให้เข้าใจก็คือ ผลตอบแทนของตัวเรา ควรแยกออกจากธุรกิจให้ชัด เพื่อให้เรามีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอไม่ต้องไปปะปนกับธุรกิจ และ ธุรกิจสามารถไปต่อได้โดยไม่ติดขัด นั่นเองครับ 

ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างของธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งการคิดผลตอบแทนและแบ่งเงินที่ว่านี้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกรอบหนึ่ง (เนื่องจากเป็นรายได้ของ นาย ก ตั้งแต่แรก แต่เราใช้การจัดสรรเงินแยกต่างหากเพื่อให้ควบคุมการใช้เงิน)  

istock-1410295845

แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบนี้ อาจจะถูกเรียกว่าเงินเดือน ซึ่งต้องนำมาคิดเป็นรายได้ของนาย ก เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในขณะเดียวกันเงินเดือนที่ว่านี้ก็สามารถเป็นรายจ่ายของธุรกิจในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยเช่นกันครับ 

มาถึงตรงนี้ หลักคิดสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ การบริหารจัดการเงินธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และการคิดผลตอบแทนให้ตัวเองอย่างถูกต้องนั้นจะทำให้การบริหารจัดการเงินราบรื่นแบบไม่มีสะดุดครับผม

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT