Burnout หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่เกิดขึ้นกันได้กับทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชอบหรือไม่มีความสุข จนหลายคนเลือกที่จะจัดการด้วยการลาออกจากงานประจำ ไปทำงานอิสระหรือธุรกิจส่วนตัวที่คิดว่าน่าจะสร้างความสุขให้กับตนเองได้มากกว่า แต่การลาออกเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องตัดสินใจให้รอบคอบ ดังนั้นจึงมี 4 สิ่งที่เราต้องเช็ก เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลับมาเสียใจในภายหลังอีก ดังนี้
เช็กเงินเก็บที่มี
ทั้งที่อยู่ในรูปแบบ เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ ว่ารวมแล้วมีอยู่จำนวนเท่าไร เพียงพอนำมาใช้จ่ายได้นานเท่าไรในช่วงที่ไม่มีงานหรือไม่มีรายได้ ซึ่งหากเพียงพอให้ใช้จ่ายได้ไม่ถึง 6-12 เดือน แสดงว่ามีความเสี่ยงที่ต้องปรับการใช้ชีวิต ด้วยการประหยัดเงินมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นต้องหยิบยืมเงินคนใกล้ตัว หากงานอิสระหรือธุรกิจนั้นสร้างรายได้น้อยกว่าที่ตั้งใจ
รวมถึงต้องเช็กข้อจำกัดในการนำเงินออก และความเสี่ยงหรือความผันผวนของมูลค่าเงินเก็บด้วย เช่น หากเงินเก็บอยู่ในรูปแบบของกองทุน Term Fund SSF RMF หุ้นกู้ ประกันชีวิต ฯลฯ ย่อมไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันใจเหมือนกับเงินฝาก หรือหากเงินเก็บอยู่ในรูปแบบของ หุ้น กองทุนหุ้น กองทุนผสม ฯลฯ ที่ราคาขึ้นลงอยู่เสมอ ทำให้ ณ เวลาต้องการใช้เงิน มูลค่าที่แปลงเป็นเงินสดอาจต่ำกว่าที่คิดไว้จากผลขาดทุนของเงินเก็บที่มีได้
เช็กรายได้ที่คาดว่าได้
รายได้จากอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้มีจำนวนเท่ากันทุกเดือนและช่วงเวลาที่ได้ก็ไม่แน่นอน บางเดือนอาจเข้าต้นเดือน บางเดือนอาจต้องรอปลายเดือน หรือบางเดือนก็อาจไม่มีรายได้เลยก็ได้ ดังนั้นจึงควรคาดหวังรายได้จากงานอิสระหรือธุรกิจไม่น้อยกว่า 1.5-2 เท่าของรายได้ประจำที่เคยมี เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเดือนไหนจะมีรายได้น้อยจนไม่เพียงพอกับรายจ่ายในเดือนนั้น ทำให้ต้องไปดึงเงินเก็บที่มีหรือรายได้เดือนก่อนๆ มาใช้ จนเงินเก็บที่มีอาจหมดไปได้
หากไม่มั่นใจได้ว่าจะสามารถทำรายได้ได้มากพอ อาจรับมือด้วยการมีแหล่งรายได้หลายทาง ไม่ผูกติดรายได้กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมากเกินไป เช่น ควรมีลูกค้าประจำหลายรายจากหลายกลุ่มธุรกิจ มีอาชีพหรือธุกิจมากกว่าหนึ่งประเภท เพื่อลดผลกระทบหากมีรายได้จากแหล่งใดไม่เข้าเป้า
เช็กสิ่งที่หายไป
สิ่งที่หายไปแน่นอนและส่งผลกระทบชัดเจนที่สุด คือ วันหยุด วันลา ทั้ง ลาป่วย/ลากิจ/ลาพักผ่อน เนื่องจากพนักงานประจำวันลาถือเป็นสิทธิของทุกคน หรือวันหยุดเทศกาลก็เป็นสิ่งที่เราตั้งตาคอย แต่เมื่อทำอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัวแล้ว การหยุดทำงานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คือ การลดโอกาสสร้างรายได้ให้กับตนเอง จึงไม่แปลกที่วิถีการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปหลังลาออกจากงานประจำ รวมถึงสิทธิอื่นๆ อย่างการเบิกค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย ที่หากไม่มีประกันสุขภาพหรือสวัสดิการอื่น ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ส่งผลกระทบต่อเงินเก็บที่มี เช่นกัน
รายได้ที่ไม่แน่นอน ย่อมส่งให้การออมไม่แน่นอนตาม ในเดือนที่เก็บออมได้น้อยกว่าปกติ คือ โอกาสต่อยอดเงินที่น้อยลง ตัวอย่างเช่น โดยปกตินำเงินเก็บไปลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบเฉลี่ย 7%ต่อปี หากวันนี้ลงทุนได้น้อยลง 1,000 บาท จะทำให้พลาดโอกาสมีเงิน 3,900 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือหากเก็บเงินได้น้อยลงเดือนละ 1,000 บาท จะพลาดโอกาสมีเงินก้อน 492,000 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นต้น
เช็กคนในครอบครัว ที่ต้องดูแล
เมื่อรายได้ไม่แน่นอน อาจเก็บเงินได้น้อยลงหรือมีความเสี่ยงที่ต้องดึงเงินเก็บออกมาใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นคนโสดหรือไม่มีครอบครัวต้องดูแล การประหยัดค่าใช้จ่ายในบางเดือนโดยลดคุณภาพการใช้ชีวิตของตนเองลงบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป แต่สำหรับคนที่มีลูกเล็กหรือพ่อแม่สูงอายุต้องดูแล รายได้ที่ลดลงหรือเงินเก็บที่หดหาย หากส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการเงินหรือวิถีชีวิตของคนในครอบครัว คงเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับสำหรับใครหลายคน
การลาออกจากงานประจำ จึงควรทำเมื่อพร้อมโดยเฉพาะความพร้อมด้านการเงิน อย่าตัดสินใจด้วยการใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว เพราะอย่าลืมว่าชีวิตของเราไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่ยังมีคนในครอบครัวอีกหลายคนที่อาจได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจที่ไม่ได้เช็กความพร้อมให้รอบด้าน อย่าง 4 สิ่งที่ต้องเช็กก่อนลาออกจากงานประจำ เป็นต้น