การเงิน

เตรียมตัวยื่นภาษีปี 2565 ต้องรู้อะไรบ้าง?

4 ธ.ค. 65
เตรียมตัวยื่นภาษีปี 2565 ต้องรู้อะไรบ้าง?

เตรียมยื่นภาษีปี 2565 ต้องรู้อะไร? คำแนะนำแรกของผมสำหรับสิ่งแรกที่ควรทำ คือ การวางแผนลดหย่อนภาษีให้เรียบร้อยก่อนครับ โดยเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ 3 เรื่องนี้

 

  • ประมาณการรายได้และกระแสเงินสดประจำปี ในช่วงปลายปีแบบนี้ การประมาณการรายได้ที่เหลืออยู่สำคัญมากครับ ทั้งในแง่มุมของการจัดการภาษี และการวางแผนจัดการเงินประจำปี เพราะจะทำให้เรารู้ว่าเรามีเงินเหลือเท่าไร เพื่อที่จะใช้จัดการวางแผนภาษีและรับมือการเงินในปีต่อไป
  • ประมาณการตัวเลขภาษีที่ต้องจ่าย หากเป็นได้ เราควรรู้ตัวเลขภาษีที่ต้องจ่ายแบบคร่าวๆ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เราเสียภาษีประมาณกี่บาท ตัวเลขนี้เป็นที่น่าพอใจไหม? ซึ่งถ้าหากเรามีเงินเหลือพอจากข้อ 1 ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นจากทางเลือกในการลดหย่อนภาษ๊
  • เช็คทางเลือกลดหย่อนภาษี ควบคู่กับเป้าหมายการเงินของเรา โดยหลักการที่สำคัญควรเริ่มจากเป้าหมายการเงินของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีตามมาครับ 

    istock-1325860496

 

เพื่อให้เห็นภาพ ผมลองตัวอย่างให้ดูดังนี้ครับ …

สมมติว่าในวันนี้เรามีอายุ 40 ปี และมีเป้าหมายการเงิน คือ การเก็บเงินไว้ให้กับลูกเมื่อเขาอายุ 20 ปี เพื่อให้เป็นเงินก้อนที่ใช้สำหรับตั้งต้นชีวิตของเขาในวัยเริ่มทำงาน ซึ่งในวันที่ลูกอายุ 20 ปี จะตรงกับช่วงอายุ 55 ปีของเราพอดี (อีก 15 ปีข้างหน้า) 

สิ่งที่เราต้องทำ คือ วางแผน (จำนวนเงินที่ต้องการ) คาดหวังผลตอบแทน (เข้าใจสินทรัพย์และความเสี่ยงในการลงทุน) และหาคำตอบว่าเราต้องเก็บเงินปีละเท่าไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ 

เมื่อได้คำตอบแล้ว เราจึงมาเลือกตัวช่วยในการลดหย่อนภาษี อย่างกรณีนี้คำตอบที่เป็นตัวช่วยได้ก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะถ้าหากเราลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และ เมื่อเราอายุ 55 ปีขึ้นไปก็สามารถขายกองทุนนี้ได้ และสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนก็มีหลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่เราต้องการ ซึ่งจะเห็นว่าจะช่วยตอบโจทย์ทั้งการวางแผนการเงินและการลดหย่อนภาษีในปีไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังสร้างวินัยให้กับเราเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากการลงทุนใน RMF กำหนดให้ต้องลงทุนติดต่อกันทุกปีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการวางแผนเป้าหมายการเงินและจัดการภาษีเท่านั้นครับ ดังนั้นถ้าหากเรามีหลากหลายเป้าหมาย ก็สามารถใช้ตัวช่วยที่มีอยู่มาเป็นทางเลือกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (มนุษย์เงินเดือน) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) รวมถึงตัวอื่นๆที่ตอบโจทย์ในด้านการเงินของเราครับ โดยสิ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น คือ เป้าหมายการเงินของเราอย่างทีว่าไปนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • ความเสี่ยงในปัจจุบัน ลองคิดว่าหากเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย หรือมีเหตุไม่คาดฝัน เรามีเงินชดเชย สำรอง หรือได้ทำประกันไว้คุ้มครองความเสี่ยงหรือไม่ (ร่วมกับสิทธิ์สวัสดิการที่เรามี) ตรงนี้จะเป็นการตัดสินใจในการทำประกันชีวิต และ ประกันสุขภาพครับ 
  • เป้าหมายในอนาคต ในอีกสักประมาณ 10 ปีข้างหน้า เรามีเป้าหมายการเงินอะไรที่ต้องใช้หรือเปล่า ถ้าหากมี ตรงนี้อาจจะใช้กองทุน SSF มาช่วยวางแผนได้ครับ 
  • เกษียณ เงินเกษียณเรามีเพียงพอหรือไม่ ทุกวันนี้เราวางแผนเก็บเงินไปถึงเป้าหมายได้หรือยัง ตรงนี้ก็จะใช้กลุ่มเกษียณมาช่วยกันวางแผนได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น RMF PVD หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ 

 

มาถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า ถ้าหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน จำนวนเงินที่เพียงพอ และเลือกเครื่องมือได้อย่างถูกต้อง การวางแผนภาษีอย่างถูกหลักก็ช่วยนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้นั่นเองครับ 

นอกจากการวางแผนลดหย่อนภาษีที่ว่ามาแล้ว ผมยังมีคำแนะนำเพิ่มในการจัดการส่วนของรายได้และค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเพื่อยื่นภาษีประจำปีเพิ่มเติมตามนี้ด้วยครับ

รายได้ : เช็คยอดรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีว่ามีเท่าไร และถ้าหากรายได้ที่เราได้รับนั้นถูกหักภาษี ณ ทีจ่ายไว้ ก็อย่าลืมขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ให้พร้อมไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีประจำปีครับ 

ค่าใช้จ่าย : สำหรับคนที่มีรายได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ตามจำเป็นและสมควร) ได้ ควรจะมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายและเก็บหลักฐานการจ่ายไว้ให้ครบถ้วนด้วยครับ

หมายเหตุ : สำหรับหลักฐานทั้งหมดนี้ที่ผมแนะนำ แม้ว่าตอนยื่นภาษีจะไม่จำเป็นต้องส่งหลักฐานให้ทันที แต่เราจำเป็นต้องเก็บหลักฐานไว้เผื่อสรรพากรตรวจสอบหากมีการขอคืนภาษีหรือกรณีอื่น ๆ ครับ

สุดท้ายแล้ว การเตรียมตัวยื่นภาษีประจำปีนั้น ไม่ได้เป็นแค่การวางแผนเพื่อลดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มันคือสิ่งที่ทำให้เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เรามีการวางแผนจัดการการเงินอย่างไร และมีเป้าหมายชีวิตแบบไหน ? เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน 

และทั้งหมดนั้น เรากำลังเพื่อชีวิตการเงินที่ดีของเราครับ :) 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT