การเงิน

สินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วม คู่รัก LGBTQ+

14 ก.พ. 66
สินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วม คู่รัก LGBTQ+

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ณ วันนี้ความรักได้ข้ามผ่านพรมแดนอันไร้ขีดจำกัด เหมือนโลกดิจิทัลทุกวันนี้ที่มีทั้งโลกจริง กับโลกเสมือนจริง ความรักมีหลายรูปแบบ คนรักคน คนรักสัตว์ หรือจะเป็นผู้หญิงรักผู้ชาย ผู้ชายรักผู้ชาย ผู้หญิงรักผู้หญิง 

ในโลกปัจจุบันทุกชาติ ทุกภาษาหันมาให้ความสำคัญ และใส่ใจในความรัก ความรู้สึกดีๆ ของทุกเพศ ทุกวัย ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+  ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน 

istock-1313474244

LGBTQ+ คืออะไร?

คือ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัว เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศแบบหนึ่ง โดยเพศวิถีใน LGBTQ+ (แอล-จี-บี-ที-คิว-พลัส) มีดังนี้

  • L – Lesbian (เลสเบี้ยน) : ผู้หญิงที่รักผู้หญิง
  • G – Gay (เกย์) : ผู้ชายที่รักผู้ชาย
  • B – Bisexual (ไบเซ็กชวล) : ชายหรือหญิงที่มีความรักกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้ามก็ได้
  • T – Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) : ผู้ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตน ไปเป็นเพศตรงข้าม
  • Q – Queer (เควียร์) : คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ และไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ

และตัวย่อนี้ ยังรวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ (+) อีกด้วย

ทั้งนี้ กลุ่ม LGBTQ+ อายุมากกว่า 15 ปี มีอยู่ประมาณ 3.6 ล้านคน และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นับว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับสินค้าต่างๆ ที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มสถาบันการเงินที่ต้องหารายได้มาจากการปล่อยสินเชื่อได้หันมาจับตลาดกลุ่มนี้

ถือเป็นการปลดล็อคการกู้สินเชื่อบ้านแบบเดิมๆ ที่ผู้กู้ร่วมต้องเป็นคู่สมรส บุตร บิดา มารดา หรือพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน จึงจะสามารถกู้ได้ มาวันนี้หลายธนาคารได้เล็งเห็นโอกาสในกลุ่มลูกค้า LGBTQ+  จึงได้จัดแคมเปญมาให้โดยเฉพาะสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้แล้ว

screenshot2566-02-13at23.

ธอส.ออกสินเชื่อบ้าน My Pride

เริ่มจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ออกแคมเปญ สินเชื่อบ้าน "My Pride" ให้กับคู่รัก LGBTQ+ ที่สามารถขอสินเชื่อเทียบเท่ากับการกู้ร่วมรูปแบบเดิม โดยวงเงินกู้จะขึ้นกับเกณฑ์รายได้ของผู้กู้ทั้งสองคน 

โดยสินเชื่อบ้าน "My Pride" คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 3.75% ต่อปี โดยคิดจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ระยะเวลาการผ่อนไม่น้อยกว่า 3 ปี 6 เดือน และสูงสุดไม่เกิน 40 ปี สำหรับเพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ รวมถึงห้องชุด หรือซื้อที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์ NPA ของธนาคาร 

สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการกู้สินเชื่อบ้าน "My Pride" ต้องมีเอกสารที่นอกเหนือจากปกติแล้ว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน เอกสารสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ยังต้องมีเอกสารที่แสดงถึงความสัมพันธ์กันด้วย เช่น บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เอกสารประกอบธุรกิจร่วมกัน ภาพถ่ายงานแต่งงาน ทะเบียนบ้านที่มีชื่อร่วมกัน เอกสารกู้ร่วมซื้อรถร่วมกัน เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่รับรองการจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รัก LGBTQ+ จึงต้องมีเอกสารที่สามารถใช้แทนทะเบียนสมรสได้

 200300

กรุงศรีฯ สินเชื่อบ้าน “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็เป็นอีกแบงก์หนึ่งที่เล็งเห็นโอกาส และเปิดโอกาสให้กับคู่เพื่อนที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน สามารถขอสินเชื่อร่วมกันได้ เพื่อจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีให้กับลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสามารถกู้ได้ทั้งบ้านใหม่ และบ้านมือสอง โดยผู้กู้ต้องเป็นสัญชาติไทย อายุ 27-65 ปี เป็นพนักงานประจำ อายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และงานปัจจุบันต้องผ่านการทดลองงานแล้ว หรือจะมีธุรกิจส่วนตัวก็ต้องประกอบธุรกิจมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป โดยผู้กู้หลักต้องมีรายได้ 30,000 บาท/ เดือนขึ้นไป และเมื่อรวมรายได้ผู้กู้ร่วมแล้วไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/เดือน และต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงความสัมพันธ์เช่นเดียวกับธอส. อัตราดอกเบี้ย 3.47% และสามารถปล่อยกู้สูงสุดได้ถึง 30 ล้านบาท

ทีเอ็มบีธนชาตดูแลลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ 

ด้านธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ TTB กล่าวกับทีม “Spotlight” ว่า “ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้เปิดรับลูกค้าเพศทางเลือก หรือ LGBTQ+ ให้สามารถขอสินเชื่อในลักษณะการกู้ร่วมได้เช่นกัน ขณะนี้ได้มีลูกค้าให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเดี่ยวเป็นหลัก และเชื่อว่ายังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกัน”

TTB อยู่ระหว่างการจัดทำแคมเปญสำหรับกลุ่มลูกค้า LGBTQ+ ที่ผ่านมาก็มีลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสนใจ แต่ยังไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านมากกว่าคอนโดยังไม่ได้มีดอกเบี้ยพิเศษ แต่เร็วๆ นี้ จะมีการออกแคมเปญและโปรโมชันต่างๆ ซึ่งธนาคารเปิดให้ยื่นกู้ตั้งแต่ต้นปี 2565

สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขปล่อยสินเชื่อ LGBTQ ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ

  1. ให้เพศเดียวกันสามารถกู้ร่วมกันได้  โดยจะต้องมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์เพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริง หรือเอกสารยืนยันว่าอาศัยอยู่ร่วมกันจริง เช่น ทะเบียนบ้านที่มีชื่อทั้งสองคน(ถ้ามี) หรือเอกสารในการกู้ซื้อทรัพย์สินร่วมกัน เช่น รถยนต์(ถ้ามี) หรือเอกสารการทำธุรกิจร่วมกัน(ถ้ามี)
  2. กรณีพนักงานประจำ ผู้กู้หลักต้องผ่านเกณฑ์อนุมัติ และกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป และฐานเงินเดือนประจำ (Basic Salary) ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป
  3. กรณีเจ้าของกิจการ เกณฑ์รายได้ตามปกติ
  4. ผู้กู้ร่วม ไม่นับรวมรายได้
  5. ต้องถือกรรมสิทธิร่วมกันทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมทุกกรณี

istock-1344494958

ซีไอเอ็มบีมาแรง!! ดอกเบี้ยต่ำ 3.19% ต้อนรับวาเลนไทน์

ล่าสุด ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ออกแคมเปญสินเชื่อบ้าน “มาคู่ กู้ง่าย” ต้อนรับวาเลนไทน์สำหรับคู่รักเพศเดียวกันสามารถขอสินเชื่อบ้านได้ทั้งบ้านใหม่ และบ้านมือสอง และสินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ มอร์เกจพาวเวอร์ เพื่อให้กลุ่มลูกค้า LGBTQ+ ได้ง่ายขึ้น 

โดยสินเชื่อบ้านซีไอเอ็มบี ไทย สำหรับลูกค้า LGBTQ+ ชูจุดแข็ง คือ เรื่องเอกสารที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงให้ผู้กู้หลักและ

ผู้ร่วมถือกรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกันเท่านั้น

อีกหนึ่งความแตกต่าง คือ ซีไอเอ็มบี ให้ทั้งสินเชื่อบ้านใหม่ บ้านมือสอง สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อบ้านแลกเงิน ซึ่งมากกว่าแค่สินเชื่อบ้านใหม่ และบ้านมือสองเท่านั้น

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับทีม "Spotlight" ถึงที่มาของแคมเปญ มาคู่ กู้ง่าย ว่า เปิดกว้างให้คู่รักเพศเดียวกันขอสินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วมได้ โดยไม่ต้องใช้เอกสารมากมาย เพียงถือครองกรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกัน เพื่อแสดง commitment และเปิดกว้างให้ทั้งสินเชื่อบ้านใหม่ บ้านมือสอง สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ Mortgage Power (บ้านแลกเงิน) การขอสินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วม ช่วยให้สามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งการส่งเสริมความเท่าเทียม การรับผิดชอบต่อสังคม (Social) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขับเคลื่อน ESG ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย  

จากการศึกษาตลาดพบว่า กลุ่มคู่รัก/คู่ชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศ มีรายได้แต่ไม่มีลูก เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หรือ DINK (Double Income No Kids) ธนาคารตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อบ้านผ่านแคมเปญ มาคู่ กู้ง่าย ประมาณ 1.5 พันล้านบาท หรือประมาณ 5% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2566 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท

“ธนาคารปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับลูกค้า LGBTQ+  อนุมัติไปแล้วประมาณ 30 ล้านบาท จากที่มาขอสินเชื่อทั้งหมด 160 ล้านบาท ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มนี้” 

นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สังคมไทย เปิดกว้างให้การยอมรับกับกลุ่ม LGBTQ+ เห็นได้จากการที่สถาบันการเงินเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ช่วยปลดล็อคส่วนหนึ่งในชีวิต เพราะบ้านก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทุกคนอยากมีเป็นของตัวเอง หรือมีร่วมกับคนรัก วาเลนไทน์นี้ ขอให้ทุกคนมีความสุข และมอบความรักให้กัน แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กัน

advertisement

SPOTLIGHT