ไลฟ์สไตล์

‘กรุงเทพฯ’ ติดอันดับ 6 เมืองในฝันของ Expat ที่น่าไปทำงานมากที่สุดในโลก

30 พ.ย. 65
‘กรุงเทพฯ’ ติดอันดับ 6 เมืองในฝันของ Expat ที่น่าไปทำงานมากที่สุดในโลก

ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มเปิดให้มีการเดินทางได้แล้ว ถ้ามีโอกาส หลายๆ คน ก็อยากจะลองไปใช้ชีวิตและทำงานในต่างแดน หรือใช้ชีวิตแบบ Expat กันบ้างเพื่อหาประสบการณ์และความก้าวหน้าใหม่ๆ ซึ่งเมืองในฝันของหลายคนก็อาจจะเป็นมหานครใหญ่ๆ อย่าง ลอนดอน เบอร์ลิน ปารีส หรือ โตเกียว

istock-1367332611

ถึงแม้เมืองเหล่านี้จะมีชื่อเสียงและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในฝัน แต่หากต้องไปทำงานและใช้ชีวิตระยะยาว เมืองเหล่านี้ก็อาจจะไม่ใช่เมืองในฝันเสมอไป เพราะต้องเจอทั้งค่ากินค่าครองชีพที่แพงมาก การแข่งขันก็สูงมาก เหมือนกับที่หลายคนเคยกล่าวว่า “บางเมืองเหมาะแค่ไปเที่ยว แต่ไม่เหมาะที่จะอยู่”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในผลการจัดอันดับ InterNations Expat City Ranking list หรือ การจัดอันดับเมืองที่น่าไปอยู่อาศัยและทำงาน ‘มาก’ และ ‘น้อย’ ที่สุดประจำปี 2022 ของ InterNations ที่วัดระดับความน่าอยู่ของเมืองใน 5 มิติใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

  1. คุณภาพชีวิต (Quality of Life) ที่วัดคุณภาพของสภาพแวดล้อม และความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในหลายๆ ด้าน เช่น สภาพแวดล้อมภายในเมืองและสภาพอากาศ, ความสะดวกสบายในการเดินทาง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

  2. คุณภาพการทำงานของชาวต่างชาติ (Working Aboard) ที่วัดทั้งโอกาสในการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน วัฒนธรรมในการทำงานในเมืองนั้นๆ และความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน

  3. ความง่ายในการปรับตัวเข้ากับเมือง (Ease of Settling In) ที่วัดความยากง่ายในการผูกมิตรกับคนในพื้นที่ที่มีการเปิดรับชาวต่างชาติไม่เท่ากัน

  4. สิ่งจำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ (Expat Essentials) ที่วัดทั้งคุณภาพอินเตอร์เน็ตและชีวิตออนไลน์ของคนในเมือง, ความยากง่ายของภาษาที่ใช้ในพื้นที่, ความยากง่ายในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ และคุณภาพที่พักอาศัย

  5. การเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ที่วัดค่าครองชีพ รวมไปถึงความยากง่ายในการบริหารการเงินส่วนบุคคลในพื้นที่นั้นๆ 

 

โดยการสำรวจในปีนี้ InterNations รวบรวมข้อมูลมาจาก Expat ถึง 11,970 คน ที่ทำงานอยู่ใน 181 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก ที่จะมาให้คะแนนเพื่อวัดความน่าอยู่และน่าทำงานของ 50 เมืองทั่วโลกในแต่ละด้าน พร้อมให้เหตุผลจำกัดความเล็กๆ ของแต่ละเมืองที่ “น่าไป” และ “ไม่น่าไป” มากที่สุด 10 อันดับแรก ดังนี้

  1. บาเลนเซีย, สเปน - น่าอยู่, ผู้คนเป็นมิตร, ค่าครองชีพต่ำ 
  2. ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ - ดีทั้งต่อการทำงาน และไปเที่ยวพักผ่อน
  3. เม็กซิโก ซิตี้, เม็กซิโก - ผู้คนเป็นมิตร ค่าครองชีพต่ำ แต่ไม่ค่อยปลอดภัย 
  4. ลิสบอน, โปรตุเกส - อากาศและคุณภาพชีวิตดี แต่มีงานให้เลือกไม่หลากหลายนัก
  5. มาดริด, สเปน - มีกิจกรรมพักผ่อนมากมาย และมีวัฒนธรรมที่เป็นมิตร เปิดรับชาวต่างชาติ
  6. กรุงเทพฯ, ไทย - อยู่แล้วรู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้าน แต่บางทีก็ไม่ปลอดภัย
  7. บาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ - มีโอกาสทางการเงิน การงาน และคุณภาพชีวิตที่ดี
  8. เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย - เป็นเมืองที่ปรับตัวให้ชินกับการใช้ชีวิตและสังคมได้ง่าย
  9. อาบู ดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ - มีระบบสาธารณะสุขที่ยอดเยี่ยม ระบบราชการติดต่อง่าย ไม่ซับซ้อน
  10. สิงคโปร์ - มีระบบราชการที่เข้าใจง่าย มีโอกาสทางการเงินที่ดี เพิ่มโอกาสก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน

 

กรุงเทพฯ เด่นที่ “ถูก” และ “เป็นมิตร”

จากผลการสำรวจ ทุกเมืองที่ติด 10 อันดับแรกมักจะได้คะแนนค่อนข้างสูงในหลายๆ ด้าน แต่จะมีด้านที่ทำได้ดีจนเป็นจุดเด่นแตกต่างกันไป

“กรุงเทพฯ” ประเทศไทย ที่ 6 ของโลก ได้ที่ 2 ในด้าน Personal Finance เพราะมีค่าครองชีพที่ต่ำ รวมไปถึงได้ที่ 4 ในด้าน Ease of Settling In เพราะผู้คนมีความเป็นมิตร และเปิดรับชาวต่างชาติ แต่มีข้อเสียสำคัญคือ สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่ไม่ดี (ได้อันดับที่ 48) วัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดี (ได้อันดับที่ 46) และความปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่ต่ำ (ได้อันดับที่ 45) 

istock-871569534

ส่วน “บาเลนเซีย” (Valencia) เมืองที่ได้อันดับ 1 จาก 50 เมือง ได้ที่ 1 ในด้าน Quality of Life โดยมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและราคาถูก ค่าครองชีพต่ำ มีกิจกรรมสันทนาการมากมายให้ทำ นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูง แต่มีข้อเสียหลักคือมีโอกาสก้าวหน้าทางหน้าที่การงานต่ำ 

valencia-gd2aca7402_1920

ในขณะที่ “ดูไบ” ที่ 2 ของโลก ได้ที่ 1 ด้าน Expat Essentials และ “เม็กซิโก ซิตี้” ที่ 3 ของโลก ได้อันดับ 1 ในด้าน Ease of Settling In

 

เมืองใหญ่อาจไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่ 

จากกลุ่มเมืองท็อป 10 ได้สะท้อนให้เห็นว่า Expat ส่วนมากไม่ได้มองแค่เรื่องเงินหรือผลตอบแทนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพชีวิตในหลายๆ ด้าน และความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตด้วย นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่เมืองศูนย์กลางความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่าง ลอนดอน ปารีส โตเกียว ฮ่องกง มิลาน โรม กลับเป็นเมืองที่อยู่ในกลุ่มอันดับ “รั้งท้าย”

โดยจากผลการจัดอันดับ เมืองที่น่าอยู่น้อยที่สุดในโลกสำหรับ Expat 11 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. โยฮันเนสเบิร์ก, แอฟริกาใต้ - ย่ำแย่ในทุกๆ ด้าน
  2. แฟรงก์เฟิร์ต, เยอรมนี - มีการความเจริญด้านดิจิทัลในระดับต่ำ หน่วยงานราชการติดต่อยาก และคนในพื้นที่ไม่เป็นมิตรกับคนต่างชาติ 
  3. ปารีส, ฝรั่งเศส - ค่าครองชีพสูง ถึงแม้จะมีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรมและอาหาร
  4. อิสตันบูล, ตุรกี - คุณภาพชีวิตการทำงานไม่ดี
  5. ฮ่องกง - คุณภาพชีวิตย่ำแย่ อยู่แล้วรักษาสมดุลในการทำงานและใช้ชีวิตไม่ได้
  6. ฮัมบูร์ก, เยอรมนี - คนในพื้นที่ไม่เป็นมิตร 
  7. มิลาน, อิตาลี - ค่าครองชีพสูง มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ไม่ดี
  8. แวนคูเวอร์, แคนาดา - ค่าที่พักอาศัยสูง คนในท้องที่ก็ไม่เป็นมิตร
  9. โตเกียว, ญี่ปุ่น -  ทุกอย่างซับซ้อน ทำความคุ้นเคยยาก แต่คุณภาพชีวิตสูง
  10. โรม, อิตาลี - คุณภาพชีวิตต่ำ ถึงแม้จะอยู่แล้วสบายใจ กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมในพื้นที่ได้ง่าย
  11. ลอนดอน, อังกฤษ - ค่าครองชีพสูง ถึงแม้โอกาสก้าวหน้าทางการงานสูงมาก

 

โดยจาก 11 อันดับนี้ จะเห็นได้ว่าถึงแม้เมืองเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้คนที่ทำงานในเมืองเหล่านี้มีรายได้ และโอกาสก้าวหน้าในการงานสูง สิ่งเหล่านี้ที่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคนทำงานกลับไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองนั้นๆ น่าย้ายไปอยู่ เพราะโอกาสเหล่านั้นมักจะแลกมากับค่าครองชีพที่สูงจนเงินเดือนที่ได้สูงกว่าเมืองอื่นๆ อยู่แล้วอาจไม่พอใช้ วัฒนธรรมการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ หรือชีวิตทางสังคมที่หายไปเพราะคนในพื้นที่ไม่เปิดรับคนต่างชาติ

ซึ่งนี่ก็บ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่า สำหรับชีวิตในปัจจุบัน มิติด้านการเงินอาจไม่ใช่มิติเดียวที่ต้องนึกถึง และไม่ใช่สิ่งที่ชี้วัดความสุขและคุณภาพในการใช้ชีวิต เพราะชีวิตที่ดีควรจะต้องมีสมดุลในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการทำงาน การเงิน และการพักผ่อนหย่อนใจ และเมืองที่ดีก็ควรจะมีวัฒนธรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเติมเต็มความต้องการในทุกๆ ด้านนั้น

 

ที่มา: InterNations



advertisement

SPOTLIGHT