ไลฟ์สไตล์

เที่ยวแบบรักษ์โลกที่ "ภูฏาน" เก็บ "ค่ายั่งยืน" คืนละ 7,500 บาท

24 ก.ย. 65
เที่ยวแบบรักษ์โลกที่ "ภูฏาน" เก็บ "ค่ายั่งยืน" คืนละ 7,500 บาท

เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าไปจับจ่ายใช้สอยกันอย่างถ้วนหน้า รวมไปถึง ‘ภูฏาน’ ประเทศในฝันของหลายๆ คนที่ชอบท่องเที่ยวแบบเน้นสัมผัสกับธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมาด้วย

โดยการเปิดประเทศของภูฏานในครั้งนี้เป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลับไปครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 

istock-506325524

แต่ในขณะที่ประเทศอื่นพยายามลดกฎเกณฑ์การเข้าเมืองเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวกลับไป ภูฏานกลับกลับมากับกฎ ‘คัดคุณภาพนักท่องเที่ยว’ ที่เข้มข้นขึ้นด้วยการประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability development fee) จาก 65 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2400 บาท) เป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,500 บาท) ต่อคนต่อคืน

รัฐบาลภูฏานกล่าวว่าการเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะช่วยให้รัฐบาลมีเงินทุนในการทำนุบำรุงดูแลรักษาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในประเทศมากขึ้น สามารถพัฒนาการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสในการทำงานให้แก่เยาวชนในประเทศ

อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวแบบแบกเป้หลั่งไหลเข้าไปมากเกินไปจนทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติเสียหายอย่างที่ประเทศข้างเคียงที่เน้นให้คนท่องเที่ยวกับธรรมชาติเหมือนกันอย่าง 'เนปาล' เจอ

 

เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มี ‘คุณภาพ’ ไม่เน้น ‘ปริมาณ’

แต่ถึงแม้การเพิ่มค่าธรรมเนียมในครั้งนี้จะเสี่ยงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปน้อยลง และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศโอดครวญ มาตรการในครั้งนี้ก็ถือว่าไม่น่าแปลกใจนักเพราะมันสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวแบบ “High Value Low Volume” (HVLV) ที่รัฐบาลภูฏานยึดถือเป็นแนวทางในการออกนโยบายด้านการท่องเที่ยวมาหลายสิบปีนับตั้งแต่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี 1974

istock-973679234

ในขณะที่บางประเทศอาจเน้นเรื่อง 'ปริมาณ' และออกแบบนโยบายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมาก ภูฏานเลือกโฟกัสที่ ‘คุณภาพของนักท่องเที่ยว’ มากกว่า ด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อคัดและดึงดูดแค่นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่ชืนชอบประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ exclusive เข้ามา เพราะมองว่าถึงจะเข้ามาจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวเหล่านี้มักจะมีกำลังใช้จ่ายสูง จนยอดค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปสูงพอจะชดเชยกับปริมาณได้

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนมากยังต้องเข้าไปเที่ยวแบบ ‘มีกรุ้ปทัวร์’ และต้องใช้จ่ายอย่างน้อย 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในช่วงไฮซีซัน และ 200 เหรียญสหรัฐต่อวันในช่วงโลว์ซีซัน 

โดยในปี 2019 ภูฎานรับนักท่องเที่ยวเข้าไปเพียง 316,000 คน แต่รับรายได้จากนักท่องเที่ยวไปถึง 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้การให้นักท่องเที่ยวเข้าไปทีละน้อยๆ ยังช่วยให้ภูฏานดูแลรักษาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศเอาไว้ได้ในระยะยาว และช่วยให้สถานที่ท่องเที่ยวไม่แออัด ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีและอาจติดใจจนอยากกลับไปหาธรรมชาติที่งดงาม และความสงบซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภูฏานอีก

istock-1066203688

 

ในอนาคตอาจต้องลดเพราะขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม หลังจากภูฏานออกมาประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว นักวิชาการและผู้ประกอบการหลายคนก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าในอนาคตภูฏานอาจจะต้องปรับลดค่าธรรมเนียมนี้ลงหากมันทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจนรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอย่างไรภูฏานก็เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะรายได้จาก ‘นักท่องเที่ยวจากประเทศข้างเคียง’ เช่น อินเดีย, บังคลาเทศ และ หมู่เกาะมัลดีฟส์ ที่ถึงแม้จะมียอดใช้จ่ายต่อหัวน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาหรือประเทศแถบยุโรปก็ยังเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญในเชิงปริมาณ

โดยมีการสันนิษฐานว่าถ้าต้องมีค่าใช้จ่ายต่อวันสูงขึ้น นักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็อาจจะเลือกไม่เข้าไปเที่ยวในภูฏาน ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวและรายได้โดยรวมลดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของ The Wall Street Journal การขึ้นค่าธรรมเนียมแบบนี้ก็อาจจะไม่ส่งผลอะไรนัก เพราะ Harish Morwani ผู้อำนวยการบริษัททัวร์ที่อินเดียบอกว่าหลังจากมีข่าวว่าภูฏานกำลังจะเปิดประเทศ ก็มีคนสนใจเข้ามาซื้อทัวร์ไปภูฏานจำนวนมากจนขายหมด บ่งบอกว่าชนชั้นกลางในอินเดียที่ในตอนนี้มีฐานะดีขึ้นก็อาจจะยังมองว่าการเข้าไปท่องเที่ยวภูฏานเป็นสิ่งที่ออกเงินซื้อได้อย่างไม่เดือดร้อนอยู่

istock-1308300238

 

ซึ่งเมื่อออกนโยบายมาแบบนี้แล้ว ก็คงต้องดูกันต่อไปว่านโยบายการท่องเที่ยวแบบเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณของภูฏานยังจะใช้ได้ผลหรือไม่ในยุคที่เงินเฟ้อ และมีวิกฤติพลังงานแบบในปัจจุบัน

หรือจะต้องหันไปปรับตัว รับนักท่องเที่ยวเข้าไปมากขึ้นอย่างที่หลายๆ ประเทศทำ




ที่มา: The Wall Street Journal

advertisement

SPOTLIGHT