ไลฟ์สไตล์

ตกงานทำไง? 6 วิธีเอาตัวรอด เมื่อต้องออกจากงาน ก่อนเวลาอันควร!?

31 ก.ค. 65
ตกงานทำไง? 6 วิธีเอาตัวรอด  เมื่อต้องออกจากงาน ก่อนเวลาอันควร!?
ไฮไลท์ Highlight

ในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ คนทำงานต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทั้งต้องรับภาระการทำงานมากขึ้นโดยไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่ม และต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่บริษัทจะปลดพนักงานออก สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการเตรียมตัวรับแรงกระแทกด้วย 6 วิธีข้างบน เมื่อถึงวันที่เราตัดสินใจเดินออกมาจากบริษัท หรือบริษัทจำใจต้องปลดเราออก จะได้สามารถดูแลสภาพคล่อง สภาพใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการออกเดินทางครั้งใหม่ ส่วนใครที่ยังมีงานทำอยู่ ก็ขอให้กอดงานนั้นเอาไว้แน่นๆ และตั้งใจทำงานสร้างคุณค่าให้บริษัท และให้ตัวเองอย่างเต็มที่นะคะ Spotlight เป็นกำลังใจให้มนุษย์งานทุกคนเลยค่ะ

อยากชื่นชมคนไทยทุกคนที่สู้มรสุมงานหนักช่วงโควิดมาจนถึงตอนนี้ ว่าพวกเราคือนักสู้ตัวจริง! แต่ถึงแม้เราจะสู้งานขนาดไหน งานก็ยังหาวิธีสู้เรากลับได้อยู่ดีค่ะ บางคนต้องทนกับมรสุมงานกองใหญ่จนไฟมอด อยากยื่นใบลาออกแล้วค่อยหาวิธีไปตายเอาดาบหน้า! บางคนซวยกว่านั้น ขยันทำงานแทบตาย สุดท้ายถูกบริษัทปลดกลางอากาศเฉยเลย

 

ไม่ว่าจะเป็นแบบแรก หรือแบบหลัง เราก็คงจะ ‘พัง’ ไม่ต่างกัน งานใหม่ก็ยังไม่มี สภาพคล่องก็ขาดหาย แต่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นสภาพจิตใจนี่แหละ ที่คงบอบช้ำเกินพรรณนา แต่ว่า “ความไม่แน่นอน คือสิ่งที่แน่นอน” Spotlight จึงอยากชวนคุณมาเตรียมรับมือกับการออกจากงานก่อนเวลาอันควร ทั้งในด้านสภาพคล่อง สภาพใจ และการเตรียมพร้อม ‘มูฟออน’ สู่ที่ทำงานใหม่ต่อไปค่ะ

 

เตรียมความพร้อม ‘ด้านเงิน’

 

6b82376d-3831-46ce-830b-c2dc6

 

-เคลียร์เรื่องค่าตกใจ กรณีถูกให้ออกจากงาน

 

หากคุณโชคร้าย เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง ส่งผลให้บริษัทต้องตัดสินใจปลดพนักงานเพื่อรักษาให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ดังเช่นหลายบริษัทวงการเทคสหรัฐ หรือบริษัท JSL และ Shopee ในบ้านเรา หากคุณเป็นพนักงานประจำ แล้วถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด คุณมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย อย่างน้อย 30 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้าย หากคุณมีอายุงานไม่ถึง 1 ปี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นบันได สูงสุดที่ 400 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้าย นอกจากนี้ หากนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน คุณยังมีสิทธิได้รับ ‘ค่าชดเชยบอกกล่าวล่วงหน้า’ ได้อีกด้วย

 

ทำความเข้าใจเรื่องค่าสิทธิชดเชย  เพิ่มเติมได้ที่นี่

https://www.amarintv.com/spotlight/insight/detail/28833

 

นอกจากเรื่องค่าชดเชยแล้ว คุณยังควรปรึกษากับแผนก HR เรื่องการขอต่ออายุสวัสดิการเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระในช่วงที่คุณกำลังหางานใหม่ รวมถึงขอให้บริษัทแนะนำตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงอื่นๆ ให้กับคุณ ไม่ว่าจะเป็นที่เก่า หรือที่บริษัทอื่นๆ เพื่อช่วยให้คุณก้าวเข้าสู่ตำแหน่งงานใหม่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 

-เร่งเติมสภาพคล่อง ป้องกันควาามเสี่ยง และอุดรูรั่วไม่ให้เงินไหลออกโดยไม่จำเป็น

 

ข้อนี้เหมาะกับทั้งคนที่ถูกปลดออกจากงาน และที่แยกทางกับบริษัทโดยสมัครใจ ในช่วงที่คุณสูญเสียรายได้หลักจากการทำงาน สิ่งแรกที่ควรทำคือ ‘เติมสภาพคล่อง’ ให้กับกระเป๋าตังค์ของตัวเอง เพราะถึงรายได้หลักของคุณจะหายไป แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็อาจไม่ได้ลดลงทันที กรณีที่คุณเป็นผู้ประกันตนตามม. 33 ที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมในทุกๆ เดือน คุณสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน เพื่อรับเงินสบทบระว่างที่ว่างานอยู่ได้ นอกจากนี้ อาจลองหางานเสริมต่างๆ ที่เหมาะกับความสามารถของคุณ เพื่อเติมสภาพคล่อง เพราะเมื่อท้องอิ่ม คุณก็จะมีแรงคิดหาทางออกต่อไป

 

สามารถลงทะเบียนว่างงานได้ที่เว็บไซต์

https://empui.doe.go.th/auth/index

 

นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้อื่นๆ คุณยังสามารถเจรจาเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ให้ชำระค่างวดน้อยลงในช่วงที่กำลังหางานใหม่ เพื่อให้มีช่องหายใจที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง หากคุณมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับเงินเดือน

 

สิ่งที่สองที่ต้องเร่งลงมือ คือ ‘ป้องกันความเสี่ยง’ ด้วยการทบทวนแผนประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรายจ่ายแบบไม่คาดฝัน กรณีที่คุณประสบอุบัติเหตุ หรือป่วยในระหว่างช่วงว่างงานนี้ รวมไปถึงการจัดการ ‘แผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ’ ของคุณด้วย หากคุณลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) ของที่ทำงานเก่าอยู่แล้ว ก็อาจจะคงไว้ในที่กองทุนของที่ทำงานเดิม ย้ายไปยังกองทุนของที่ทำงานใหม่ หรือย้ายไปยัง RMF ก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ถอนออกมา เพราะนอกจากจะเสียสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว คุณยังอาจ ‘เผลอ’ นำเงินไปใช้ในเรื่องอื่นที่จำเป็นน้อยกว่าการเกษียณได้

 

และอีกขั้นตอนสำคัญคือ ‘อุดรูรั่ว’ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ ลง เพราะยิ่งมีเงินในบัญชีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้คุณอุ่นใจในช่วงเวลาไม่แน่นอนแบบนี้ได้มากยิ่งขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นค่า Netflix, ค่าสมาชิกฟิตเนส, ค่าโปรโมชันโทรศัพท์ และอื่นๆ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์ลงบ้าง ทั้งการสังสรรค์ หรือค่าอาหารในแต่ละมื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรัดเข็มขัดขั้นสุด อนุญาตให้ตัวเองได้มีความสุขเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามสมควร เพื่อรักษาสุขภาพใจของคุณให้ยังแข็งแรง พร้อมสู้อุปสสรคต่อไปได้

 

 

เตรียมความพร้อม ‘ด้านใจ’

 

4cdd59b8-1fc6-490a-9c61-52130

 

- ใช้ช่วงเวลา ‘วันแรก’ ประเมิณความเสียหายทางใจ

 

ใน 24 ชม. แรกที่คุณก้าวเท้าออกจากที่ทำงานเก่า ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ หรือด้วยการถูกเลย์ออฟก็ดี อยากให้คุณใช้ช่วงเวลานี้ ‘อยู่เฉยๆ’ ยังไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นเลยค่ะ

 

เพราะช่วงเวลานี้เอง จะเป็นช่วงที่สมองและจิตใจของคุณได้พักจากความวุ่นวาย ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ค่อยๆ ทำความเข้าใจ และโอบรับกับทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น คุณอาจรู้สึก ผิดหวัง เสียใจ โกรธ กังวล เครียด ท้อแท้ ฯลฯ ปล่อยให้ตัวเองได้อยู่กับความรู้สึกเหล่านี้สักพัก แล้วค่อยๆ หาต้นตอว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน แล้วคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง 

 

ตัวอย่างเช่น คุณอาจพบว่าตัวเองรู้สึก 

 

‘โกรธ’ ที่ทำงานเก่าที่ปลดคุณออกกลางคัน 

 

‘กังวล’ ว่าจะมีเงินใช้ไม่เพียงพอต่อเดือน 

 

‘ผิดหวัง’ ที่ตัวเองมีความสามารถไม่เพียงพอ 

 

จากนั้นลองหาทางออกให้กับอารมณ์เหล่านั้น 

 

อารมณ์ ‘โกรธ’ ที่มีต่อที่ทำงานเก่า อาจทำอะไรไม่ได้ เพราะบริษัทเองก็ต้องปิดตัวลง และการพูดให้ร้ายบริษัทเก่าก็ไม่เป็นผลดีกับตัวคุณเอง

 

ความรู้สึก ‘กังวล’ เกี่ยวกับเรื่องเงิน สามารถหาทางออกได้ด้วยการทำรายรับ-รายจ่าย และรายการทรัพย์สิน-หนี้สิน เพื่อสำรวจสภาพคล่องที่คุณมี ว่าที่จริงแล้วยังดีอยู่มั้ย หรืออาการหนักขนาดไหน ต้องทำอะไรเพิ่ม

 

ความรู้สึก ‘ผิดหวัง’ ที่มีต่อตัวเองนั้น เป็นเพราะคุณยังขาดทักษะทางด้านใด ก็จงหาเวลาและช่องทางพัฒนาทักษะเหล่านั้น เพื่อให้คุณเก่งและแกร่งขึ้น สำหรับตำแหน่งงานใหม่ต่อไป

 

ที่สำคัญ อย่าลืมไปใช้เวลากับกิจกรรมที่คุณรัก ไปอยู่กับคนที่คุณรัก บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้คุณไม่จมอยู่กับความรู้สึกด้านลบที่อาจเกิดขึ้น มากจนเกินไปค่ะ

 

-ใช้ช่วงเวลา ‘สัปดาห์แรก’ หาสมดุลใหม่ให้ตัวเอง

 

หลังผ่านไป 1 สัปดาห์ คุณคงจะมีสภาวะจิตใจที่เสถียรมากขึ้นบ้างแล้ว และมีสภาพจิตใจที่แข็งแรงพอที่จะเริ่มติดต่อที่ทำงานเก่า และดำเนินการเรื่องที่จำเป็นต่างๆ ทั้งเรื่องค่าชดเชย และขอให้พวกเขาแนะนำที่ทำงานใหม่ ที่เป็นบุคคลอ้างอิง (Reference) ให้คุณ

 

หรือในหลายครั้ง อารมณ์ด้านลบต่างๆ ก็อาจจะเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็น ‘อาฟเตอร์ช็อค’ จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็ไม่ต้องตกใจ ค่อยๆ ประเมิณอารมณ์เหล่าน้ันใหม่เหมือนกับขั้นตอนก่อนหน้านี้ โดยไม่ตัดสินหรือต่อว่าตัวเอง

 

เพราะ ‘กำลังใจ’ ก็ถือเป็นหนึ่งทรัพยากรสำคัญที่คุณจะต้องใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ หากคุณมีทักษะดี ประสบการณ์ดี แต่ขาดกำลังใจที่ดี ก็อาจไม่เฉิดฉายเวลาที่ต้องสัมภาษณ์งานกับที่ใหม่ ตรงกันข้าม หากคุณตั้งต้นด้วยการมีกำลังใจที่ดี คุณก็จะมีแรงฮึด เพื่อหาฝึกฝนสกิลที่จำเป็น และหาลู่ทางสะสมประสบการณ์เพื่อช่วยให้คุณพร้อมสำหรับการทำงานในที่ใหม่ได้

 

 

เตรียมความพร้อม ‘หางานใหม่’

 

b1d2605c-131e-4871-a1c4-9265a

 

- ทบทวนทักษะและคุณค่าที่มี ไม่ใช่เลือกงานอะไรก็ได้

 

จริงอยู่ที่ในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจ และสถานะทางการเงินไม่มั่นคงแบบนี้ การหางานใหม่ให้ได้เร็วที่สุดอาจเป็นเรื่องดี แต่งานใหม่นั้นต้องไม่ใช่ ‘งานอะไรก็ได้’ เพราะหากงานนั้นไม่ใช้งานที่เหมาะกับคุณ หรือเป็นงานที่คุณรักมากเพียงพอที่จะฝ่าฟันทุกอุปสรรคที่เข้ามา ในระยะยาวแล้วก็อาจทำให้ไฟในการทำงานของคุณมอดดับไป หรือไม่คุณก็กลายเป็นตัวละครไม่สำคัญที่บริษัทสามารถลบออกได้ วนเข้าสู่ลูปเดิมที่คุณเพิ่งเจอมา

 

คุณจึงควรใช้เวลาในช่วงแรกประเมิณทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึงคุณค่าที่คุณมี  ว่าจะสามารถนำไปใช้สร้างคุณค่าให้กับตำแหน่งงานไหน ในบริษัทอะไรได้บ้าง เพื่อให้คุณกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ยากจะหาใครมาแทนค่ะ

 

หรือถ้าหากสายงานที่คุณทำอยู่กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ และมีแนวโน้มจะลดคนออกเรื่อยๆ ก็อาจถึงเวลาที่คุณจะย้ายสายงาน พัฒนาทักษะ และหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้คุณได้ไปอยู่ในสายงานที่มีอนาคตสดใสมากยิ่งขึ้น

 

-ใช้ประโยชน์จากที่ทำงานเก่า และบริษัทจัดหางาน

 

หากคุณแยกจากที่ทำงานเก่าด้วยดี (หรือไม่ได้แย่จนถึงขั้นมองหน้ากันไม่ติด) คุณควรใช้ประโยชน์จากพวกเขา ด้วยการขอให้พวกเขาเขียนจดหมายบุคคลอ้างอิง (Reference letter) ให้ เพื่อช่วยเสริมความน่าเชื่อถือ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับประสบการณ์การทำงานของคุณ รวมถึงขอให้พวกเขาแนะนำคุณไปยังบริษัทอื่นๆ ในเครือ หรือบริษัทอื่นๆ ที่มีคอนเนคชั่น เพื่อให้คุณหางานใหม่ได้เร็วขึ้น

 

แพลตฟอร์มหางาน พนักงานจัดหาคนเข้าทำงาน (Recruiter) และแพลตฟอร์มหางานฟรีแลนซ์ ก็เป็นช่องทางที่คุณไม่ควรมองข้าม ในการช่วยให้คุณหางานใหม่ได้เร็วขึ้น โดยช่องทางนี้เหล่านี้จะช่วยให้คุณได้พบกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัครของหลากหลายบริษัทที่คุณสนใจ นำเรซูเม่ของคุณไปให้บริษัทต่างๆ ได้ช้อปปิ้งพนักงานใหม่เข้าทำงาน และหลายแพลตฟอร์ม ก็มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณสามารถระบุทักษะที่มี ทัศนคติ ความชอบส่วนตัว รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทาง เพื่อช่วยให้คุณกับบริษัทเข้าใจซึ่งกันและกัน และจับคู่กันได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

ในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ คนทำงานต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทั้งต้องรับภาระการทำงานมากขึ้นโดยไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่ม และต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่บริษัทจะปลดพนักงานออก สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการเตรียมตัวรับแรงกระแทกด้วย 6 วิธีข้างบน เมื่อถึงวันที่เราตัดสินใจเดินออกมาจากบริษัท หรือบริษัทจำใจต้องปลดเราออก จะได้สามารถดูแลสภาพคล่อง สภาพใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการออกเดินทางครั้งใหม่

 

ส่วนใครที่ยังมีงานทำอยู่ ก็ขอให้กอดงานนั้นเอาไว้แน่นๆ และตั้งใจทำงานสร้างคุณค่าให้บริษัท และให้ตัวเองอย่างเต็มที่นะคะ Spotlight เป็นกำลังใจให้มนุษย์งานทุกคนเลยค่ะ

 

ที่มา : CNET, Canadian Business

advertisement

SPOTLIGHT