เมื่อเอ๋ย คำว่า “ศิลปะ” เชื่อว่าใครหลายๆคน น่าจะมีคำจำกัดความที่แตกต่างกันไป แต่หากถามศิลปินแต่ละท่าน เชื่อว่า ศิลปะมีความหมายมากกว่าความสวยงาม และเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยแนวคิดหรือเรื่องราวต่างๆ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ส่วนตัว หรือแม้แต่ความฝันและแรงบันดาลใจที่สะท้อนออกมาผ่านผลงานต่างๆ โดยศิลปินบางท่านอาจใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้คนในสังคม ทั้งเรื่องการเมือง หรือ สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของวงการศิลปะไทย คือ มีผู้สร้าง แต่ไร้ผู้เสพ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘งานศิลป์เข้าถึงยาก’ ผู้เสพชาวไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจต่อศิลปะ ทำให้คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในชิ้นผลงานศิลปะอาจโดนปิดกั้น
บทความนี้ SPOTLIGHT ชวนทุกคนมารู้จักกับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (BAB) เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ที่ชุบชีวิตกรุงเทพฯ เมืองแห่งความวุ่นวาย สู่เมืองแห่งศิลปะ เพราะศิลปะจะเฟื่องฟูได้หากมีผู้เสพ
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คืออะไร
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (BAB) คือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการศิลปะไทย โดยจะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะเป็นระยะเวลานานถึง 4 เดือน แปรเปลี่ยนให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางที่ส่งเสริมศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมนานาชาติ งานนิทรรศการจัดแสดงบนพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยว วัด และสถานที่สาธารณะต่างๆ เน้นย้ำเสน่ห์ความเป็นกรุงเทพฯ ด้วยการเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์เข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองกรุง
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดขึ้นโดย โดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมระหว่างศิลปินและผู้ปฏิบัติการสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกันกับผลักดันให้วงการศิลปะไทยเฟื่องฟู
โดยเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2018 ภายใต้ธีม Beyond Bliss สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต ปี 2020 ภายใต้ธีม Escape Routes ศิลป์สร้างทางสุข และ ปี 2022 ภายใต้ธีม CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ซึ่งธีมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในแต่ละครั้งที่จัด ปรับเปลี่ยนไปตามความเป็นไปต่างๆ ของโลก เพื่อหวังให้ศิลปะ การเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงประเด็นทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือไกลกว่า และย้ำให้ตั้งคำถามกับคำว่า‘ร่วมสมัย’
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 (BAB 2024)
BAB 2024 ในครั้งนี้ เริ่มจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568จัดเต็มผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 สัญชาติ ชั้นนำทั่วโลก
โดยเป็นสุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน ที่มาร่วมจัดแสดงบนสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานครทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่
-
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
-
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
-
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
-
วัดบวรนิเวศวิหาร
-
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
-
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า
-
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
-
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
-
วันแบงค็อก
-
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
-
ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ และ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เผยว่า “สำหรับความพิเศษในปีนี้ เราได้เพิ่มพื้นที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ One Bangkok ปักหมุดแลนด์มาร์คระดับโลก ที่ล้ำด้วยเทคโนโลยี ศิลปะ วัฒนธรรม และความยั่งยืน ที่จะยกระดับภาพลักษณ์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้โดดเด่นบนเวทีโลก พร้อมกันนี้ยังเพิ่มพื้นที่ใหม่จัดแสดงงานซึ่งเป็นสถานที่ที่งดงาม และมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เช่นวัดบวรนิเวศวิหาร และตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า ที่พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้รักงานศิลปะที่จะเดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก”
เข้าใจแนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)”
ภายใต้ธีมหลักในปีนี้ "รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่มุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกด้วยสื่อศิลปะที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของอนาคตในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยชื่อของ รักษา กายา (Nurture Gaia) นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของเทพีกรีก “ไกอา” (Gaia) เป็นหนึ่งในร่างของพระแม่ธรณี ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นแม่ ผู้ให้กำเนิด และหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต สมมติฐานเกี่ยวกับไกอา นั้นคือ ผืนดินเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค้ำจุนสรรพชีวิต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด สงคราม และการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมนุษย์โฮโมเซเปียนส์
สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมโลกปัจจุบันที่พบเจอกับความโกลาหลทั้งโรคระบาดของโควิด-19 สงครามในหลากหลายประเทศ รวมถึงภาวะโลกเดือด ที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดวัดได้ในยุโรป เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เราอาจจะต้องกลับมาคิดว่ามนุษยชาติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของโลกจะไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป หากธรรมชาติเสียหาย ผู้คนและสัตว์ก็ต้องรับทุกข์ในที่สุด
ส่องความสำเร็จ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
-
ดึงดูดผู้ชมเสพงานศิลป์กว่า 3.5 ล้านคน
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เผยว่า “เมื่อครั้งที่จัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 เราสามารถทุบสถิติจำนวนผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จำนวน 17,592,321 คน แบ่งเป็น ผู้เข้าร่วมงาน Onsite จำนวน 992,321 คน และผู้เข้าร่วมงาน Online จำนวน 16,600,000 คน สามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดงานเป็นจำนวนมูลค่าถึง 6,298 ล้านบาท”
โดยการจัดแสดง 3 ครั้งที่ผ่านมา ได้ดึงดูดผู้เข้าชมทั้งจากไทยและต่างประเทศ รวมกันกว่า 3.5 ล้านคน และมีศิลปินเข้าร่วมแสดงกว่า 300 คนทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกา โอเชียเนีย และแอฟริกา และในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เทศกาลก็ได้ขยายขอบเขตการเข้าชมไปในรูปแบบออนไลน์ ในชื่อแพลตฟอร์มว่า BAB Virtual Venue อีกด้วย เพื่อให้ผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกได้มีส่วนร่วม และมีผู้เข้าชมมากกว่า 2.3 ล้านคนต่อปี
-
ดันศิลปินไทย ไปเเสดงผลงานในเวทีระดับโลก อย่าง เวนิส เบียนนาเล่ 2024
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้มีการผลักดันฝันของศิลปินไทยและอาเซียนให้เป็นจริงในการเชิดฉายบนเวทีโลก ณ Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในนครเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการจัดคู่ขนานไปกับมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ 2024
ด้วยนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ของศิลปินไทยและอาเซียนกว่า 15 ศิลปิน 40 ผลงานศิลปะ เจาะลึกประเด็นเรื่องการพลัดถิ่น ลัทธิล่าอาณานิคม และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นไปที่สัญลักษณ์ของการข้ามน้ำ และการเดินทางทางทะเลเป็นพิเศษ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Bangkok Art Biennale