อินไซต์เศรษฐกิจ

2022 ปีแห่งการ 'เลย์ออฟ' ปีนี้เลิกจ้างแล้วกว่า 100,000 คน!

29 ธ.ค. 65
2022 ปีแห่งการ 'เลย์ออฟ' ปีนี้เลิกจ้างแล้วกว่า 100,000 คน!

จาก The Great Recession สู่ The Great Layoff ปีนี้บริษัทเลิกจ้างนับแสนคน Meta-Amazon ควงคู่ปลดคนหลักหมื่น เลย์ออฟลามจากกลุ่มเทคไปธุรกิจอื่น


เราเพิ่งจะผ่านปีแห่งการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ไปหมาดๆ เมื่อปี 2021 แต่ผ่านไปเพียงแค่ปีเดียว สถานการณ์กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อถึงคราวภาคธุรกิจพร้อมใจกัน "เลย์ออฟ" จนทำให้ปี 2022 ถือเป็น ปีแห่งการเลิกจ้างครั้งใหญ่ (The Great Layoff)

ที่สำคัญก็คือ การเลิกจ้างในสหรัฐฯ ที่เริ่มมาจากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพก่อนในช่วงครึ่งปีแรกนั้น เริ่มขยายวงไปยังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจสื่อ อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงภาคการเงิน 


จาก The Great Recession สู่ The Great Layoff

ข้อมูลจาก  Forbes layoff tracker พบว่าในปี 2022 นี้ มีการเลิกจ้างพนักงานในอเมริกาไปแล้วมากถึงเกือบ 125,000 คน จากบริษัทมากกว่า 120 แห่ง (นับเฉพาะการเลย์ออฟมากกว่า 100 คนขึ้นไป) แต่ตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้ เพราะนี่เป็นการเก็บข้อมูลช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มตั้งรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพราะผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อสูงและการตะลุยขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีนี้

และเดือนที่ว่ากันว่า "โหดร้ายที่สุด" สำหรับหัวใจคนทำงานทั้งหลายก็คือ เดือนพฤศจิกายน หรือเพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้นก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่หลายคนจะได้กลับบ้านไปเจอกับครอบครัว เพราะในเดือนนี้มีการประกาศเลิกจ้างไปมากกว่า 60,000 คนเพียงเดือนเดียว และเคสการเลิกจ้างขนานใหญ่ระดับหลายพันคนไปจนถึงหลักหมื่นคน ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Meta 11,000 คน, Amazon 10,000 คน, HP 4,000 - 6,000 คน และ Twitter 3,700 คน 

214157


ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนแถวบ้านเรานั้นก็มีการเลย์ออฟไม่น้อยเช่นกัน โดย CNBC รายงานว่าเมื่อช่วงกลางปีนี้ มีบริษัทสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วอย่างน้อย 6 แห่ง ที่เลิกจ้างพนักงานรวมแล้วหลายร้อยคน ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจสตาร์ทอัพอาจกล่าวได้ว่า ที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจอนาคตใหม่ ก็ไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลก

หนึ่งในสตาร์ทอัพรายใหญ่ระดับยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัท 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ที่เลย์ออฟพนักงานครั้งนี้ก็คือ Sea Limited ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Shopee ที่เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานในหลายประเทศ รวมถึง "ประเทศไทย" ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะในไลน์ธุรกิจ Shopee Pay และ Shopee Food ที่คาดว่าจะโดนเลิกจ้างมากถึงเกือบครึ่ง

ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้เป็นรายอุตสาหกรรม ดังนี้   


ภาคเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพ

การเลิกจ้างในปีนี้นำโด่งมาโดยบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเว็บไซต์ Crunchbase รวบรวมตัวเลขการเลย์ออฟของกลุ่มบริษัทเทคในสหรัฐฯ ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 91,000 คน ขณะที่เว็บไซต์ด้านการช่วยหางานใหม่ Gray & Christmas ระบุว่า ปีนี้มีบริษัทเทคทั่วโลก 965 แห่ง เลิกจ้างไปแล้วมากกว่า 150,000 คน ซึ่งทุบสถิติที่เคยทำไว้ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไคนซิส ปี 2008-2009 ไปแล้ว  

Meta - เป็นบริษัทแม่ของ Facebook ทำสถิติเลย์ออฟมากที่สุดในปีนี้ 11,000 คน หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และยังถือเป็นการเลย์ออฟครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบริษัทเทคโนโลยีอีกด้วย ซีอีโอ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเมตา ส่วนการจ้างงานในปีหน้าก็จะน้อยลงอีกโดยเฉพาะในไตรมาส 1 ที่อาจจะหยุดการจ้างงานเอาไว้ก่อน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Meta ต้องเลิกจ้างครั้งใหญ่เป็นเพราะรายได้และกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้ราคาหุ้นร่วงลงถึง 71% ในปีนี้ (ถึงช่วงไตรมาส 3) โดยธุรกิจหลักของบริษัทอย่างโฆษณาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Apple ทำให้ไม่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดเหมือนเก่า ส่วนธุรกิจใหม่อย่าง Metaverse ก็เป็นส่วนที่ขาดทุนหนักและยังไม่มีวี่แววว่าจะทำกำไรได้ในเร็วๆ นี้

Amazon - อีคอมเมิร์ซรายใหญ่แอมะซอนจะปลดพนักงาน 10,000 คน ซึ่งเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งบริษัทมา แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของพนักงานแอมะซอนทั่วโลก โดยเป็นการปลดเพื่อเตรียมรับมือกับพิษเศรษฐกิจ

Twitter - หลังจากที่อีลอน มัสก์ แห่งเทสลา เข้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์สำเร็จ ก็ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ราว 3,700 คน หรือ 50% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงแผนกคัดกรองเนื้อหาอันตรายบนแพลตฟอร์ม แม้ว่าในภายหลังจะมีข่าวว่าทวิตเตอร์จะกลับมาจ้างงานพนักงานที่เพิ่งจะไล่ออกไปจำนวนหนึ่งก็ตาม 

Peloton - สตาร์ตอัพเครื่องออกกำลังกายชื่อดังรายนี้ เคยทำราคาหุ้นพุ่งไปถึง 400% ในช่วงล็อกดาวน์โควิด 2020 ที่คนอยู่กับบ้านเป็นหลัก แต่เมื่อโควิดคลี่คลายและเศรษฐกิจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงทำให้บริษัทประกาศเลย์ออฟไปถึง 4 ครั้งในปีนี้ รวมแล้วเลิกจ้างไปประมาณ 4,600 คน


ภาคการเงิน 

Credit Suisse - ในเดือนตุลาคม ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ในสวิตเซอร์แลนด์อย่าง เครดิตสวิส ประกาศปลดพนักงาน 9,000 คน และแผนระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องบริษัทครั้งใหญ่เพื่อจัดการกับเรื่องอื้อฉาว และช่วยให้ฟื้นตัวจากการขาดทุน 4 พันล้านฟรังก์สวิส

Goldman Sachs - สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในวอลล์สตรีทอย่าง โกลด์แมนแซคส์ อาจปรับลดพนักงานลงถึง 4,000 ตำแหน่ง หรือราว 8% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด หลังต้องเผชิญกับภาวะรายได้และกำไรที่หดตัวลง โดยเดวิด โซโลมอน ซีอีโอระบุว่าการเลย์ออฟจะเริ่มในเดือนมกราคม 2566 

Morgan Stanley - มอร์แกนสแตนลีย์ อีกหนึ่งวาณิชธนกิจรายใหญ่ในวอลสตรีท ก็ประกาศเลย์ออฟ 1,600 คนในปีนี้ 


ภาคการผลิต

HP - เอชพี อิงค์ บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 4,000-6,000 คนในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยให้เหตุผลด้านอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

Micron Technology - ไมครอน เทคโนโลยี เป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐ ประกาศในเดือนธันวาคมว่าจะปลดพนักงาน 4,800 คน หรือ 10% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อให้ตรงกับดีมานด์-ซัพพลายในตลาด โดยจะเริ่มเลย์ออฟในปีหน้าเป็นต้นไป

 

คริปโทเคอร์เรนซี 

บริษัทเทคในสายคริปโทเคอร์เรนซีนั้น เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองมากที่สุดเพราะราคาสินทรัพย์ที่ดิ่งลงหนักในปีนี้ เรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่บิตคอยน์เคยทุบสถิติสูงสุดเกือบ 69,000 ดอลลาร์/บิตคอยน์ เมื่อปลายปี 2021 ที่แล้ว มาปีนี้ราคาอยู่ที่ไม่ถึง 17,000 ดอลลาร์/บิตคอยน์ โดยเจอสองแรงทุบใหญ่จากกรณี Terra และ FTX และยังเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ถูกกดดันจากเฟดด้วย 

ในปีนี้ มีบริษัทชื่อดังเกี่ยวกับคริปโทฯ เลย์ออฟกันมาต่อเนื่อง เช่น Coinbase แพลตฟอร์มเทรดคริปโทฯ รายใหญ่ที่ประกาศลดพนักงานไป 1,000 คนในปีนี้, Bybit ในสิงคโปร์ ที่เคยลดคนไปแล้ว 600 คนเมื่อช่วงกลางปี ล่าสุดเพิ่งเลย์ออฟเพิ่มอีก 30% ส่วน Swyftx ประกาศเลย์ออฟ 35% 

ล่าสุดมีรายงานว่า แพลตฟอร์มเทรดรายใหญ่จากสหรัฐ Kraken ได้ประกาศถอนธุรกิจออกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดคริปโทฯ ขาลง โดยคราเคนประกาศถอนธุรกิจตามมาหลังจากที่เพิ่งมีการประกาศเลย์ออฟล็อตใหญ่ไป 1,100 คน หรือประมาณ 30% ของพนักงานทั้งหมด ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT