อินไซต์เศรษฐกิจ

สรุปประเด็น "หุ้นเวียดนามตก"กับความตื่นตระหนกจนเกิด Bank Run

12 ต.ค. 65
สรุปประเด็น "หุ้นเวียดนามตก"กับความตื่นตระหนกจนเกิด Bank Run

สรุปประเด็น "หุ้นเวียดนามตก"กับความตื่นตระหนกจนเกิด Bank Runถ อดบทเรียน "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" 


หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ "หุ้นเวียดนาม" ในช่วงนี้ที่ตกเอาๆ ทั้งที่เศรษฐกิจพื้นฐานก็แข็งแกร่ง ทั้งตัวเลขส่งออก ตัวเลขการลงทุน ตัวเลขการบริโภค ก็ดีแซงหน้าหลายประเทศเพือนบ้าน โดยเฉพาะความ "เนื้อหอม" ในฐานะแหล่งการลงทุนใหม่ที่หลายประเทศกำลังลดการพึ่งพา "จีน"

หุ้นเวียดนามเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะดิ่งหนักในเดือน ก.ย. และเมื่อวันอังคารที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นหลักของตลาดโฮจิมินห์อย่างดัชนี VNI ก็เพิ่งลดลงอีก 3.8% จนทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2020 เป็นต้นมา เฉพาะปีนี้ หุ้นเวียดนาม ลดลงไปแล้วถึง 24.4% และนับเป็นหนึ่งในตลาดที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของหุ้นตกครั้งล่าสุดไม่ใช่เรื่องปัจจัยขึ้นลงปกติของตลาดหุ้น แต่ถูกพุ่งเป้าไปที่ "การกวาดล้างปัญหาฉ้อโกงในตลาดหุ้น-ตลาดทุนของเวียดนาม" ซึ่งไปเกี่ยวกับ "นักลงทุนขาใหญ่ในประเทศ" จนลามไปสู่การเกิดภาวะ "Bank run" หรือการที่คนแห่ไปถอนเงินออกจากแบงก์เพราะไม่เชื่อมั่น อีกด้วย

ทีมข่าว Spotlight สรุปประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องการลงทุนในเวียดนามมาให้ ดังนี้

 

- เกิดอะไรขึ้นในเวียดนาม ทำไมหุ้นตกรอบใหม่?

หุ้นเวียดนามโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์ตกมาอย่างหนักตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เพราะมีข่าวว่า ตำรวจได้ควบคุมตัว เชือง มาย ลัน (Truong My Lan) นักลงทุนรายใหญ่จากกลุ่มบริษัทโฮลดิ้ง Van Thinh Phat ซึ่งถือเป็น "เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์" ในเวียดนาม รายงานข่าวจากบลูมเบิร์กระบุว่า นักธุรกิจใหญ่รายนี้พร้อมกับเจ้าหน้าที่บริษัทคนอื่นๆ ถูกควบคุมตัวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในข้อหาได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบจากการฉ้อโกง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออก/ซื้อขายหุ้นกู้ มูลค่าหลายล้านล้านดอง เมื่อช่วงปี 2018-2019


- Truong My Lan คือใคร? ทำไมจับกุมนักธุรกิจคนเดียวถึงสะเทือนไปทั้งตลาดหุ้น?

เพราะ Truong My Lan เป็นนักลงทุนระดับเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ โดยมีพอร์ทการลงทุนครบทั้ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อพาร์ตเมนท์ ไปจนถึงออฟฟิศสำนักงาน โดยเฉพาะในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเวียดนาม บริษัทของเธอ Van Thinh Phat จึงถือเป็นขาใหญ่ในวงการอสังหาฯ เวียดนาม และมีการลงทุนร่วมกับบริษัทข้ามชาติ เช่น  Viva Land จากสิงคโปร์ ที่เป็นพันธมิตรกับ CK Asset ของอภิมหาเศรษฐีฮ่องกง ลีกาชิง ด้วย

คนเวียดนามนั้นมีส่วนคล้ายคนจีนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซื้อบ้านซื้อที่ดินเก็บเอาไว้ เว็บไซต์ Vietnamplus เคยรายงานอ้างอิงงานสัมมนาอสังหาฯ ปี 2020-2021 ซึ่งมีการเปิดเผยผลสำรวจว่า ในบรรดาเศรษฐีเวียดนามที่มีเงินเกิน 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จำนวนกว่า 12,000 คน มีเศรษฐีถึง 90% ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดในปีนี้ที่ว่า มีดีมานด์จากคนเวียดนามถึง 92% ที่กำลังมองหาซื้อบ้านทั้งในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ความสั่นสะเทือนของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ในประเทศ จึงสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดส่วนหนึ่งด้วย แม้จะเป็นระยะสั้นก็ตาม แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ มันถือเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อยผ่านเรื่องการฉ้อโกงไปง่ายๆ ซึ่งการจับกุมครั้งนี้คล้ายคลึงกับการจับนักธุรกิจรายใหญ่ครั้งก่อนๆ เช่น การจับกุมผู้บริหาร ACB เมื่อเดือนส.ค. 2555 และผู้บริหาร BIDV เมื่อเดือนพ.ย. 2561 

โดยในอดีตที่เคยมีการจับกุมผู้บริหารบริษัทใหญ่นั้น จะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงเฉลี่ยประมาณ 5.7% ใน 1 สัปดาห์ แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดดัชนีหุ้นเวียดนามลงไปประมาณ 3.6% ซึ่งสะท้อนว่ายังสามารถลงต่อได้อีกถ้าดูจากค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันในวันนี้ (12 ต.ค.) ราคาหุ้นจะดีดตัวกลับขึ้นมาแล้วประมาณ 3% ก็ตาม



- เกี่ยวข้องอะไรกับแบงก์ ทำไมจึงเกิดกรณี Bank Run?

บริษัท Van Thinh Phat คือบริษัทที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Diversified Investment Group) และหนึ่งในนั้น คือ การเป็น "ผู้ถือหุ้นใหญ่" ของธนาคาร Saigon Commercial Bank (SCB) และโบรกเกอร์ Tan Viet 

พอมีข่าวการควบคุมตัวเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับเรื่องการออก/ซื้อขายหุ้นกู้บริษัทมูลค่าหลายล้านล้านด่องอย่างมิชอบ (คาดว่าความเสียหายประมาณ 3-5 พันล้านดอลลาร์) คนเวียดนามเลยกลัวกันว่าผลกรรมจะไปตกอยู่กับแบงก์ SCB เพราะทางการได้สั่งให้ธนาคารและโบรกเกอร์ที่เข้าร่วมในการออกหุ้นกู้ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด โดยการซื้อคืนหุ้นกู้เหล่านั้นคืน คนเวียดนามจึงพากันแห่ไปต่อคิวถอนเงินออกจากธนาคารกัน

ที่จริงกระแสการแห่ถอนเงินจากแบงก์ SCB มีมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะก่อนจะมีการจับกุมประธานบริษัทของผู้ถือหุ้นใหม่ ก็มีข่าวการเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันของ เหวียน เตียน เจิ่น (Nguyen Tien Thanh) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการของแบงก์เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ท่ามกลาง "ข่าวลือ" ตามโซเชียลมีเดียว่า ลูกค้าหลายรายไม่สามารถถอน/โอนเงินในแอปของธนาคาร ในวันถัดมาได้ 

ทั้งนี้ SCB ถือเป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม และเป็นเบอร์ 1 ในแง่มูลค่าสินทรัพย์กว่า 760 ล้านล้านดอง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2022 อีกทั้งยังเป็นธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงเป็นระยะเวลาหลายปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากล่าสุดอยู่ที่ 7.3% เป็นระยะเวลา 12 เดือน

ความโกลาหลของการแห่ถอนเงินจากแบงก์ใหญ่ข้ามสัปดาห์ ทำให้ "แบงก์ชาต์เวียดนาม" ต้องออกมาประกาศสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวการควบคุมตัวผู้บริหาร โดยประกาศรับประกันสิทธิของผู้ฝากเงินกับ SCB ว่าสินทรัพย์ยังคงปลอดภัย เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล

คาโต มุคุรุ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาด Frontier Markets ของ EFG Hermes ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า ไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงว่าปัญหาครั้งนี้จะลุกลามเป็นวิกฤตภาคการเงินของประเทศ และการตอบสนองอย่างแข็งขันของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธนาคารเวียดนามได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวมองว่า เหตการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดที่อ่อนแอว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มักตกเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของเจ้าของและกลุ่มผู้ถือหุ้นบางส่วนเท่านั้น 


- เหตุการณ์นี้สะท้อนถึง "ความเสี่ยง" หรือ "โอกาส" อะไรในเวียดนาม

ต้องบอกว่าเวียดนามมีทั้ง ความเสี่ยง และ โอกาสมหาศาล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน และให้น้ำหนักระยะสั้นหรือระยะยาว
จากข้อมูลของ Hanoi Times เมื่อช่วงกลางปี ระบุว่าในปี 2022 นี้ มีการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนามทะลุ 5 ล้านบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความตื่นตัวในการลงทุนกับตลาดหุ้นมากขึ้น แต่ที่น่ากังวลก็คือ เป็นสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย (Retain investor) มากถึง 98.9% ซึ่งโดยปกติแล้วการที่มีรายย่อยในสัดส่วนมากเกินไปจะไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะเกิดการ Panic sales ได้ง่ายกับข่าวลือต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันเข้ามาคานน้ำหนักเพิ่มมากกว่านี้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามยังอยู่ในระดับ "Frontier markets" หรือตลาดชายขอบ ซึ่งหมายถึงการที่ตลาดและผู้เล่นยังใหม่และยังไม่ Mature เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เช่น จีน ไทย มาเลเซีย ทำให้ยังมีความผันผวนสูง และนักลงทุนยังมองในแง่การเก็งกำไรมากกว่าจะถือเป็นสินทรัพย์ระยะยาว ก่อนหน้านี้ทางเวียดนามเคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2020 ว่า อาจจะเปลี่ยนสถานะเป็นตลาด EM ได้ภายในปี 2022 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวโน้มดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเวียดนามจะยังไม่ถือว่าโตเต็มที่ แต่ฝั่ง "ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง" นั้น ถือว่าแข็งแกร่งชนิดหาคู่แข่งเทียบยาก เมื่อถนนการลงทุนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่เวียดนาม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่หลายประเทศกำลังลดการพึ่งพา "จีน" เพราะการเมืองระหว่างประเทศแรงขึ้น และต้นทุนในจีนแพงขึ้น จึงหันไปหาฐานการผลิตประเทศอื่นแทน ทำให้เวียดนามกำลังเริ่มกลายเป็นโรงงานผลิตแห่งใหม่ของโลก ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้จากทั้งตะวันตกและตะวันออก

เช่นกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการลงทุนเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ก็เพิ่งประกาศเป้าหมายลงทุนในเวียดนามถึง 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกทั้ง 3 กลุ่ม ให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ครอบคลุมกว่า 700 แห่ง จากเดิม 340 แห่ง หรือที่ Aeon จากญี่ปุ่น ก็เตรียมขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะมองถึงศักยภาพการเติบโตของที่นี่

ดังนั้น หากมองในแง่ระยะยาวว่าเวียดนามจะเป็นเหมือนไทยหรือจีนในอดีต และใช้สูตรเดียวกันในการเข้าไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ไว้ล่วงหน้าก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่ายุคสมัยจะต่างกันและมีตัวแปรอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี ความเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การเมือง และปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงต่อการผันผวนไปอีกพักใหญ่ด้วยเช่นกัน 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT