อินไซต์เศรษฐกิจ

ทำไมต่างชาติถึงทิ้ง 'อินเดีย' แล้ว CP ของไทย มีโอกาสเทคโอเวอร์แค่ไหน? 

2 ก.ย. 65
ทำไมต่างชาติถึงทิ้ง 'อินเดีย' แล้ว CP ของไทย มีโอกาสเทคโอเวอร์แค่ไหน? 

ทำไมห้างรายใหญ่ Metro ถึงปิดฉากธุรกิจ 19 ปีใน 'อินเดีย' แล้ว CP ของไทย มีโอกาสเทคโอเวอร์ดีลใหญ่ 36,000 ล้านบาท แค่ไหน? 


นับเป็นข่าวใหญ่ที่สุดของวงการค้าปลีกในประเทศ 'อินเดีย' ช่วงนี้ เมื่อบริษัทค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่อย่าง Metro กำลังถอนตัวไป โดยมีรายใหญ่อีก 2 รายกำลังแย่งกันเข้าเทกโอเวอร์  และ 1 ในนั้นก็คือเครือ CP จากประเทศไทยนั่นเอง 


มีรายงานที่เป็นตัวเลขออกมาชัดเจนในสัปดาห์นี้แล้วว่า "ซีพี กรุ๊ป" (CP Group) ของไทย ได้ยื่นเสนอซื้อกิจการด้วยวงเงินสูงถึงราว 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) หรือสูงกว่าคู่แข่งเจ้าถิ่นอย่าง "รีไลแอนซ์ รีเทล" (Reliance Retail) ซึ่งเสนอซื้อในราคา 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท)

 
แม้จะเป็นราคาเสนอซื้อที่มากกว่ากันถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ก็ใช่ว่า CP จะได้เปรียบกว่าแน่นอน 100% เพราะยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ยังมองข้ามไม่ได้ ซึ่งทีมข่าว Spotlight จะพาไปดูเบื้องหลัง 2 ประเด็นหลักๆ ว่า "ทำไม Metro ถึงออกจากตลาดอินเดียที่ดูมีอนาคตสดใส" และ "ทำไมดีลนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ CP"

 

ตลาดใหญ่ประชากร 1,400 ล้านคน แต่ทำไม Metro ถึงทิ้ง ประเทศนี้?


Metro Cash & Carry เป็นกิจการห้างค้าส่งสัญชาติเยอรมัน ที่เข้ามาในตลาดอินเดียตั้งแต่ปี 2003 หรืออยู่มานานถึง 19 ปี ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า Metro Wholesale ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศมากถึง 31 แห่ง 

aboutmetrocashcarryindia

อินเดียมีกฎหมายที่ปกป้องธุรกิจร้านของชำ ร้านค้าปลีกรายย่อย ไม่ให้ร้านค้าขนาดใหญ่มาขายปลีกแข่งขัน เพราะด้วยสเกลธุรกิจใหญ่ที่ใหญ่กว่ากันมากจึงอาจทำให้รายใหญ่ใช้กลยุทธ์ด้านราคา จนอาจทำให้ร้านขนาดเล็กต้องล้มหายตายจากออกไปจากระบบ ดังนั้น ห้าง Metro จึงเป็นลักษณะค้าปลีกรูปแบบพิเศษ คือเป็นกิจการร้านค้าปลีกในรูปแบบขายส่งให้กับสมาชิก (Cash and Carry) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับห้างแม็คโครของไทย


แรกเริ่มเดิมทีนั้น การเข้ามาทำธุรกิจของ Metro ต้องเจอแรงต้านและการประท้วงของบรรดาสหภาพชาวนา ที่กลัวว่าการเข้ามาของรายใหญ่จะกระทบกับร้านค้าชุมชนรายย่อยขนาดเล็ก แต่ทางห้างก็พยายามทำความเข้าใจและจับกลุ่มที่บรรดาเทรดเดอร์และร้านของชำขนาดเล็กในทำนอง "เพื่อนแท้โชว์ห่วย" ที่ช่วยเอื้อให้ร้านค้าเหล่านี้สามารถซื้อของแบบขายส่งในราคาถูกเพื่อนำไปขายปลีกกันต่อได้

ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเป็นมิตรกับโชว์ห่วยทำให้ Metro สามารถค้าขายมาได้หลายปีอย่างสงบ จนกระทั่งเพิ่งถูกจับจ้องเมื่อประมาณ 4 ปีก่อนหน้านี้ กับข่าวเรื่องที่บริษัทสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี 

แม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน แต่การแข่งขันในตลาดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สื่อท้องถิ่นอย่าง Economic Times ระบุว่า Metro ขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปีกว่าที่จะเริ่มมามีกำไรในช่วงหลัง และปัจจุบัน Metro ก็เป็นห้างค้าส่งเพียงแห่งเดียวในตลาด B2B ของอินเดีย (business to business) ที่สามารถทำกำไรได้ โดยการแข่งขันที่เน้นขายสินค้าราคาถูกและมีบริการส่งฟรีถึงบ้าน ทำให้คู่แข่งส่วนใหญ่จะขาดทุนการดำเนินงานที่ประมาณ 20-25% ของ EBITDA


แต่ถึงแม้จะทำกำไรได้ ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี เพราะยังมีอุปสรรคทั้งในแง่ของ "กฎระเบียบ" และความเป็น "ชาตินิยม" ในอินเดีย


CAIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการค้าปลีกค้าส่งในอินเดีย ได้กล่าวหา Metro ว่ากระทำผิดทั้งในด้าน Fund Diversion และการละเมิดกฎหมายด้านการลงทุน เพราะรูปแบบธุรกิจที่ดูเหมือน B2B นั้นแท้จริงแล้วคือ B2C หรือค้าปลีกที่ขายให้ผู้บริโภคโดยใช้รูปแบบ Cash & Carry มาครอบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทาง Metro ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างหนักแน่น


อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องยากก็คือ ความเป็นชาตินิยม ที่มีการถกเถียงพูดถึงประเด็นเรื่อง swadeshi (การพึ่งพาตนเอง) vs videshi (ต่างชาติ) กันเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงหลังที่ธุรกิจต่างชาติเฟื่องฟูและขึ้นมาทำกำไรได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าในประเทศอินเดียนั้นมีธุรกิจร้านค้าปลีกของชำขนาดเล็ก (Kirana) อยู่มากถึงกว่า 12 ล้านแห่งทั่วประเทศ และเป็นภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งมาก


อย่างไรด็ตาม นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ICRIER คาดว่าสาเหตุหลักๆ ที่แท้จริงของการออกจากตลาดอินเดีย มาจากการแข่งขันด้านราคา แรงกดดันเรื่องมาร์จิ้น และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ล้วนเป็นต้นทุนที่กดดันธุรกิจของ Metro ซึ่งมีสาขามากถึง 31 แห่งในประเทศ และยังเจอการแข่งงขันรุนแรงขึ้นจากฝั่งของ E-commerce ด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม Fast commerce ที่พร้อมส่งของเดลิเวอรีถึงบ้านแบบรวดเร็วทันที   
การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งคู่แข่งประเภทเดียวกันและจากอีคอมเมิร์ซ ยังพบได้ในหลายประเทศแถบเอเชีย ซึ่งทำให้อินเดียไม่ใช่แค่ประเทศเดียวที่ Metro ตัดสินใจขายธุรกิจ แต่ยังถอนตัวจากตลาดอื่นๆ เช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเมียนมาด้วย 

 


โอกาสของ CP ในอินเดีย "ไม่ง่าย"


ปัจจัยข้างต้นที่ Metro ประสบมานั้นพอจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มความยากที่ CP อาจต้องเผชิญ ทั้งในแง่ของการประมูลเข้าเทคโอเวอร์ห้าง Metro และในแง่ของการดำเนินธุรกิจหากสามารถชนะการประมูลมาได้


สื่อท้องถิ่นในอินเดียบางสำนักระบุในทำนองว่า Reliance Retail ของมหาเศรษฐีเบอร์ 2 อินเดีย "มูเกช อัมบานี" ดูมีภาษีที่ดีกว่าในแง่ของการเป็นบริษัทเจ้าบ้านสัญชาติอินเดียเอง ซึ่งจะทำให้เจอกับแรงต้านด้านความเป็นชาตินิยมน้อยกว่า  

artboard1copy3(32)_1

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่ม CP ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศอินเดีย ใช้ชื่อว่า Lots ซึ่งปัจจุบันมี 3 สาขา อย่างไรก็ดีแม้เป็นการประมูลเบื้องต้น แต่หากในอนาคตกลุ่ม CP ชนะอาจไม่ได้ส่งผลดีมากนัก เพราะ


1.มีความเสี่ยงที่อาจได้รับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมชาวอินเดีย เนื่องจากเป็นธุรกิจของชาวต่างชาติเช่นเดียวกับกรณีของ Metro ที่ได้มาทำธุรกิจในประเทศอินเดีย และถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองและการล็อบบี้จากกลุ่มชาวอินเดียที่ไม่เห็นด้วย


2.ที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในอินเดียมีการแข่งกันสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการสู้กันระหว่าง Reliance Retail และ Amazon


ขณะที่ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม CP จะชนะการประมูลครั้งนี้หากมีการเคลียร์เรื่องกฎระเบียบ (regulation) ในอินเดียได้ หากพิจารณาธุรกิจค้าปลีกของ Metro เป็น ธุรกิจ Cash and Carry เช่นเดียวกับ MAKRO จึงคาดว่าหากกลุ่ม CP ชนะการประมูลจะนำ Metro ไปอยู่ภายใต้การดูแลและเป็นบริษัทย่อยของ MAKRO เช่นเดียวกับโลตัสส์และเป็นตัวฉุดประสิทธิภาพการทำกำไรของ MAKRO

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT