อินไซต์เศรษฐกิจ

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่รวย? ผลวิจัยชี้อำนาจซื้อ Gen Z น้อยลงถึง 86%

14 ส.ค. 65
ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่รวย? ผลวิจัยชี้อำนาจซื้อ Gen Z น้อยลงถึง 86%

คนรุ่นใหม่จะรวยได้ยังไง? ผลวิจัยชี้อำนาจซื้อของคนรุ่นใหม่น้อยลงกว่าคนยุคก่อนถึง 86% เพราะเงินเฟ้อทุบค่าแรงที่โตตามไม่ทัน


ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่รวยเสียที? ก็เพราะเมื่อเทียบ "ค่าครองชีพ" ของคนแต่ละยุค แต่ละเจนแล้ว คนรุ่นใหม่กำลังเจอภาวะการขึ้นค่าแรงโตไม่ทันเงินเฟ้อ "เป็นครั้งแรก" และนั่นกำลังทำให้เงิน 1 ดอลลาร์ในวันนี้ มีอำนาจในการซื้อน้อยลงกว่า 1 ดอลลาร์ในยุคก่อนถึง 86%

หลายครั้งที่ปู่ย่าคนรุ่น Baby boomer (เกิดช่วงปี 2489–2507) มักจะคิดว่าคนรุ่นตัวเองทำงานหนักกว่าคนรุ่นใหม่ จึงสามารถเก็บเงินซื้อบ้านมีที่ทางของตัวเองได้ง่ายๆ แต่จากผลการศึกษาในสหรัฐพบว่า สิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งยุค Millennias (เกิดช่วงปี 2527–2539) และคนรุ่น Gen Z (เกิดช่วงปี 2540–2555) สร้างฐานะได้ไม่เท่าคนรุ่นเก่านั้น อาจเป็นเพราะอำนาจการซื้อ (Purchasing power) ที่ต่างกันมาก

ผลการศึกษาโดยเว็บไซต์ผู้บริโภค consumer affairs ได้วิเคราะห์ข้อมูลด้านการจ้างงาน การขึ้นค่าแรง ประชากรศาสตร์ ค่าเทอม จนถึงค่าบ้าน ค่าน้ำมัน เพื่อเปรียบเทียบกำลังซื้อของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นใหญ่ ซึ่งมีผลที่น่าสนใจ ดังนี้


1. ค่าจ้างที่แท้จริงกำลังปรับตัวลดลง: เพราะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70 เป็นต้นมา (1970s) อัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนในสหรัฐปรับตัวขึ้นประมาณ 80% แต่ในทางกลับกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นตัววัดเงินเฟ้อ กลับพุ่งแซงหน้าขยายตัวถึงกว่า 500% ซึ่งหมายความว่า เงินเฟ้อได้พุ่งเกินค่าแรงไปไกลแล้ว และทำให้เงิน 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน มีมูลค่าที่แท้จริงถูกกว่าเงิน 1 ดอลลาร์ในสมัยก่อนมาก และซื้อของได้น้อยลง

2. ราคาบ้านกำลังปรับตัวแพงขึ้นมาก: ในสหรัฐนั้น การซื้อบ้านในเมืองถือเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนหนุ่มสาว คนส่วนใหญ่มักต้องเช่าบ้าน/อพาร์ตเมนท์อยู่อาศัยกัน และคนเจน Z ก็จ่ายเงินไปกับการเช่าบ้านเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เมื่อเทีบกับยุคก่อน

ปัจจุบัน ราคาบ้านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 309,400 ดอลลาร์ จากเดิมที่เคยมีราคาเฉลี่ยเพียง 24,800 ดอลลาร์เท่านั้นในยุค 70 หรือหากเอาเงินเฟ้อในปัจจุบันมาคำนวณจะอยู่ที่ประมาณ 185,600 ดอลลาร์ ซึ่งก็ยังถือว่าถูกกว่ากันมากอยู่ดี ส่วนค่าเช่าบ้านนั้น ปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 2,000 ดอลลาร์/เดือน แต่หากเทียบยุคก่อน(ที่ใส่เงินเฟ้อปัจจุบันไปแล้ว) จะอยู่ที่เฉลี่ย 800 ดอลลาร์/เดือน เท่านั้น

3. ค่าเทอม-หนี้ กยศ. ตามหลอกหลอน: แม้แต่ค่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังแพงขึ้นมาก และคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีกู้เงินกองทุน กยศ.เพื่อส่งตัวเองเรียนกัน ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเฉลี่ย ปรับตัวขึ้นมาถึง 310% และส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนแพงขึ้น 245% อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งยุคนี้ก็มีคนเข้าถึงการศึกษาสูงๆ ได้มากกว่าคนยุคก่อนเช่นกัน และหมายถึงโอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่าด้วย โดยมีอัตราการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นถึง 254% นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา

คนรุ่นใหม่, อำนาจซื้อ Gen Z น้อยลง

4. ค่าน้ำมันทำให้ทุกอย่างแพงขึ้น: ในปี 1978 (พ.ศ. 2521) ราคาน้ำมันหน้าปั๊มโดยเฉลี่ยในสหรัฐอยู่ที่ 0.7 ดอลลาร์/แกลลอน หากปรับเงินเฟ้อในปัจจุบันจะอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ แต่ราคาน้ำมันในยุคนี้ขึ้นไปถึง 4.7 ดอลลาร์/แกลลอนแล้ว แถมยังเคยขึ้นไปทะลุ 5 ดอลลาร์ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกกำลังพีกเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย


จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ทั้งเจน Y เจน Z ต่างก็เจอแรงกดดันทั้งเรื่องค่าครองชีพและการเป็นหนี้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน ท่ามกลางเงินเดือนค่าจ้างในปัจจุบันที่ต่ำเตี้ยโตไม่ทันกับเงินเฟ้อและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งอาจจะพอตอบโจทย์เบื้องต้นได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงยังไม่รวยสักที


ที่มา: FastCompany, ConsumerAffairs

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT