อินไซต์เศรษฐกิจ

คนไทย 69% "ยอมไม่ขึ้นเงินเดือน" ขอแลกสมดุลชีวิต Work-Life Balance

2 ก.ค. 65
คนไทย 69% "ยอมไม่ขึ้นเงินเดือน" ขอแลกสมดุลชีวิต Work-Life Balance

ยุคนี้อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่เราจะได้ยินหลายคนพูดว่า "ไม่อยากเป็นหัวหน้า"


ใครๆ ก็อยากได้เงินเดือนเยอะ แต่ถ้าเยอะแล้วต้องแลกมาด้วยงานแยะ ความรับผิดชอบเกินหน้าที่ ไม่มีเวลาดูแลคนรอบตัว เพราะมัวแต่ทำงานตัวเป็นเกลียว หลายคนอาจบอกว่าขอเป็นลูกน้องต่อไปดีกว่า

เหมือนกับที่ผลสำรวจจากบริษัทจัดหางาน ไมเคิล เพจ ประเทศไทย (Michael Page Thailand) เปิดเผยว่า มีลูกจ้างในประเทศไทยมากถึง 69% "ยอมไม่ขึ้นเงินเดือน" และ "ยอมไม่เลื่อนตำแหน่ง" เพื่อแลกกับการมีสมดุลชีวิตในการทำงาน หรือ Work-Life Balance

รายงาน Talent Trends 2022 ในหัวข้อ The Great X ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านการจ้างงาน ระบุว่าแม้ "เงินเดือน" และ "โบนัส" ยังคงเป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆ ของผู้สมัครงาน แต่ผลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่า ผู้คนเริ่มหันเหความสนใจไปยัง "ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน" มากขึ้น

โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย "ยอมไม่ขึ้นเงินเดือน" และ/หรือ "ไม่เลื่อนตำแหน่ง" เพื่อแลกกับสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น และความสุขในชีวิต

istock-1323508401

นายคริสตอฟเฟอร์ พาลูแดน (Kristoffer Paludan) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค บริษัทไมเคิล เพจ ประเทศไทย กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วคนต้องการได้เงินเดือนที่ดี แต่ในปัจจุบันเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดพนักงานได้อีกต่อไป เพราะคนให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับหนึ่ง เปิดใจรับฟังพนักงานมากขึ้น และต้องการทางเลือกมากกว่าเดิม เช่น สภาพแวดล้อมในสำนักงานที่ดี สามารถเลือกสถานที่และเวลาที่จะทำงานได้ จึงทำให้นายจ้างต้องเผชิญกับการออกแบบคู่มือกลยุุทธ์ (playbook) ใหม่ในลักษณะที่เน้นคนเป็นศููนย์กลางมากขึ้น ไม่ใช่ one size fits all

นอกจากนี้ 61% ของพนักงานผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยเคยถามหรือคิดที่จะถามเกี่ยวกับ "นโยบายด้าน DE&I" (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม) ของบริษัทในการสัมภาษณ์ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 33% จะล้มเลิกความตั้งใจคว้าโอกาสในการทำงาน หากบริษัทแห่งนั้นไม่ใส่ใจเรื่องนโยบาย DE&I

การระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่ได้เปลี่ยนลำดับความสำคัญไปเช่นกัน โดย 70% ของผู้สมัครงานเชื่อว่า สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีควรมีบทบาทในการทำงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งบริษัทจะต้องสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกที่พนักงานทุกระดับรู้สึกพึงพอใจร่วมกัน

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ "การลาออกครั้งใหญ่" (The Great Resignation) ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น รายงานของไมเคิลเพจ ระบุว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขึ้น โดยจากการสำรวจมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าหนึ่งในสาม (37%) ที่ทำงานในตำแหน่งปัจจุบันมาได้ไม่ถึง 2 ปี


นอกจากนี้ยังพบว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบคนไทยถามกำลังจะมองหาโอกาสทางอาชีพใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่สัดส่วนในอินเดีย อยู่ที่ 86% ฟิลิปปินส์ 83% มาเลเซีย 82% เวียดนาม 79% ฮ่องกง 76% สิงคโปร์ 74% ญี่ปุ่น 67% จีน 59% และออสเตรเลีย 56%


สำหรับอุตสาหกรรมในไทยที่มีแนวโน้มคนวางแผนจะลาออกในอีก 6 เดึอนข้างหน้า มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมขนส่งและจัดจำหน่าย 95%
  2. อุตสาหกรรมพลังงานแลทรัพยากรธรรมชาติ 93%
  3. อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและยา 89%
  4. อุตสาหกรรมสันทนาการ การท่องเที่ยว 88%
  5. อุตสาหกรรมการผลิต 83%


ส่วนเหตุผลในการลาออก 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. เปลี่ยนอาชีพ/บทบาท/อุตสาหกรรม 86%
  2. มองหาความก้าวหน้าในอาชีพ/เลื่อนตำแหน่ง 35%
  3. ไม่พอใจเงินเดือน 27%
  4. ไม่พอใจกลยุทธ์และทิศทางของบริษัท 26%
  5. ไมีมีความสุขกับวัฒนธรรม การทำงานและชีวิต 16%

 

สำหรับ HR ที่ต้องเป็นด่านหน้าในการสรรหาคนมาทำงานนั้น ก็มีความท้าทาย 5 ด้านหลักในปี 2565 ดังนี้

  1. การสรรหาผู้สมัครที่ตรงกับวัฒนธรรมบริษัท
  2. ผู้สมัครไม่มีทักษะที่ต้องการ
  3. การแข่งขันในการแย่งตัวผู้สมัคร
  4. ผู้สมัครคาดหวังเงินเดือนตรงกับที่บริษัทตั้งไว้
  5. ขาดผู้สมัคร

รายงานระบุว่า การเพิ่มแรงจูงใจนอกจากเงินเดือนมีส่วนสำคัญในการดึงดูดพนักงาน โดยปัจจัย 10 อันดับแรกที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้สมัคร ได้แก่

เงินเดือน/โบนัส/รางวัล 25%, วัฒนธรรมและค่านิยมของบริษัท 17%, เป้าหมายของบริษัท 9%, ภาวะผู้นำ 8%, ที่ตั้งสำนักงาน 8%, รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น 8%, การเลื่อนตำแหน่ง 5% แบรนด์บริษัท 5%, เทคโนโลยีในองค์กร 4% และประโยชน์ทางด้านสุขภาพ 4%

istock-1321009430

หลายบริษัทจ่อขึ้นเงินเดือน หวังรั้งพนักงาน

ผู้ตอบแบบสอบถาม 86% เชื่อว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้ดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอย่างจริงจัง จากข้อมูลข้างต้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้านนายจ้าง หริอบริษัทต่างๆ เองแม้จะต้องเจอกับสภาวะวิกฤติ แต่หลายบริษัทมีแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานในปี 2022 โดยมีบริษัท 33% วางแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนมากกว่า 5%, จำนวนบริษัท 30% วางแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือน 3-4%, จำนวนบริษัท 13% วางแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนเล็กน้อย 1-2% และจำนวนบริษัท 8% ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน ส่วนบริษัทที่เหลืออีก 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ/ยังไม่ทราบว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนหรือไม่

นอกจากเรื่องผลตอบแทนแล้ว "นโยบายความหลากหลาย ความเสมอภาค และการให้พนักงานมีส่วนร่วม" (diversity, equity, and inclusion) หรือ DE&I ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยบริษัทต้องคำนึงถึงความหลากหลายของพนักงานด้าน เพศ ชาติพันธ์ุ รสนิยมทางเพศ การศึกษา อายุ และทุพพลภาพ หากต้องการสร้างความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างเพศ และบริษัทส่วนใหญ่ต้องเริ่มใช้กลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจัง เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะสามารถสร้างนโยบาย DE&I ได้อย่างแท้จริง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT