การเงิน

เงินบาทอ่อนสุดในเอเซีย ทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 6 เดือน

24 เม.ย. 67
เงินบาทอ่อนสุดในเอเซีย ทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 6 เดือน

จากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน ทั้งราคาน้ำมันดิบ ราคาทอง รวมถึง ค่าเงิน โดยเฉพาะค่าเงินบาทของไทยที่ปรับอ่อนค่า ทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ร่วงตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า จากแรงกดดันของเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เฟดมีทีท่าคงดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะ

ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อ่อนค่าลงแค่ไหน อ่อนสุดในเอเซียหรือไม่ เพราะเหตุใด และทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป SPOTLIGHT จะพามาดูกัน

ค่าเงิน

โดยค่าเงินบาทในวันนี้ (24 เม.ย.) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.87-37.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ 

จากการสำรวจของ S&P Global เดือนเมษายน พบว่า ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แข็งแกร่งมากอย่างที่ตลาดประเมิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ 

ขณะที่ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าต่อเนื่องไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อ หรือเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นต่างชาติ หลังบรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติต่างปรับคาดการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงถึงระดับ 37.50-38 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2-3

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง เปิดตลาดที่ระดับ 37.07 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 22 เมษายน ร่วงตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า จากแรงกดดันของเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เฟดมีทีท่าคงดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าลงไปอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ทะลุ 154 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียลดลงไปอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 ทะลุ 16,200 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ 

แรงกดดันค่าเงินเอเชียมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาค่อนข้างดีกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 3.5% ในเดือนมีนาคม 2024 ทำให้นักลงทุนมองว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ จากที่ตอนแรกมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะลงดอกเบี้ยถึง 6 ครั้ง โดยคาดว่าอาจจะลดได้เร็วที่สุดในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar Index) เพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 5%

ปัจจุบัน สมาชิกกลุ่ม G7 รวมไปถึงทางการสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตกลงที่จะหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีความผันผวนมากเกินควรจนส่งผลต่อเศรษฐกิจของเอเชียในภาพรวม ขณะที่แบงก์ชาติอินโดนีเซียขายเงินดอลลาร์เพื่อพยุงเงินรูเปียห์ และแบงก์ชาติมาเลเซียออกมาประกาศพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงริงกิต

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นที่ประเทศเอเชียจะต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนค่าเงินในประเทศตัวเองอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 1980s แต่เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มที่จะแข็งตัวขึ้นอีกหากสถาณการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเลวร้ายลง หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาดการณ์

ในสัปดาห์นี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ต้องจับตามองคือตัวเลข GDP ที่จะออกมาในวันพฤหัสบดี และ Personal Consumption Expenditure (PCE) หรือดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่จะออกมาในวันศุกร์ ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลดหรือคงดอกเบี้ยของเฟด

กรุงศรี มองกรอบค่าเงินสัปดาห์นี้ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ SPOTLIGHT  ว่า คาดการณ์กรอบค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐฯ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางซึ่งอาจเพิ่มความผันผวนให้กับราคาน้ำมันดิบและทองคำ 

สำหรับในภาพรวมยังให้น้ำหนักไปที่มุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯเป็นสำคัญ โดยข้อมูลเศรษฐกิจหลักหลายรายการรวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดบ่งชี้ถึงความทนทานต่อภาวะดอกเบี้ยสูงได้ดีเกินคาด ทำให้ตลาดปรับมุมมองหลายหนว่าเฟดจะเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปเรื่อยๆ โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 67 นี้ 

“เราคาดว่าเมื่อใดที่การจ้างงานสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรง ตลาดอาจปรับคาดการณ์อีกครั้ง และเรามองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะทะยอยกลับมาหนุนค่าเงินบาทได้บ้าง” น.ส.รุ่ง

เงินบาทอ่อนค่าเกาะกลุ่มสกุลเงินภูมิภาคในช่วงนี้ แต่ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ โดยสกุลเงินต่างๆถูกกดดันจากการหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯสูงยาวนานกว่าคาด และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก 

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ การประกาศอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและ อังกฤษ

advertisement

SPOTLIGHT