การเงิน

ตลท.ประเมิน SVB กระทบไทยทางอ้อม ชี้สถานะแบงก์ไทยแข็งแกร่ง

13 มี.ค. 66
ตลท.ประเมิน SVB กระทบไทยทางอ้อม ชี้สถานะแบงก์ไทยแข็งแกร่ง

เมื่อเกิดปัญหาธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐ 2 แบงก์ จนต้องประกาศปิดแบงก์ คือ Sillicon Valley Bank ถูกสั่งปิดหลังประชาชนแห่ถอนเงินจนเกิดปัญหาสภาพคล่อง และแบงก์ Signature

เกิดความกังวลกับทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย ที่เมื่อเปิดตลาดหุ้นเปิดมา ดัชนีตลาดหุ้นไทย 1,587.06จุด ร่วงลงกว่า 14 จุด และค่อยปรับขึ้นมาปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 1,599.22 จุด ลดลง 0.43 จุด โดยเป็นแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติสุทธิ 3,817.12 ล้านบาท เป็นหลัก แต่มีแรงซื้อนักลงทุนรายย่อย เข้ามาซื้อสุทธิ 3,531.59 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า “ จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อมีการปิดธนาคารพาณิชย์ที่สหรัฐฯ คิดว่าจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องทั่วโลกค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สภาพคล่องน้อยลง ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ต้องมีการบริหารความเสี่ยงต่างจากเดิม ซึ่งพอมีนักลงทุนหรือผู้ฝากเงินขนาดใหญ่ถอนเงินฝากออก ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ซึ่งเรื่องนี้ทางหน่วยงานกำกับที่สหรัฐ ได้มีการสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เราต้องมีความระมัดระวังติดตามข่าวสารให้ดี เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผลอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้ อันเกิดจากความกลัว”

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หรือธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ดร.ภากร กล่าวว่า “ คิดว่าอันนี้ คือ ประเทศไทยมีความแข็งแรงและมีโชค เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแรงมาก มีเงินกองทุนโดยเฉลี่ย 18-19% สูงหนึ่ง 1 ที่แข็งแรงที่สุดในโลก และส่วนที่ 2 เงินที่มาจากธุรกิจดังกล่าว ทั้งมาจาก Venture Capital หรือประเภทเกี่ยวกับคริปโต มีค่อนข้างน้อย เชื่อและคิดว่ากระทบกับประเทศไทยไม่มากนัก ถ้าจะกระทบก็จะกระทบเรื่องสภาพคล่องมากกว่า จากในตลาดโลกลดลง มีหลายธนาคารที่ยังไม่สามารถเบิกถอนได้ตามปกติ มีเวลาให้ผู้ฝากเงิน อันนั้นเป็นผลกระทบทางอ้อม”

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น “ ต้องติดตาม Fund Flow เพราะสภาพคล่องจะวิ่งไปวิ่งมา ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากในการประเมิน ซึ่งทุกคนเห็นเหตุที่เกิดขึ้นสหรัฐ คาดหวังอาจจะมีเงินไหลออกกลับไปประเทศ ไปยังที่สินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อเอาเงินไปพักก่อนก็จะเห็น Fund Flow กลับไปกลับมาได้ วันนี้เหตุให้เงินไหลออกไป แต่ก็อาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาลงทุน มีเงินไหลกลับมา ต้องช่วยกันติดตามข้อมูล” ดร.ภากรกล่าว

นายกสั่งทีมเศรษฐกิจจับตา 2 แบงก์สหรัฐ 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลติดตามสถานการณ์จากที่เกิดกรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก พร้อมกับประเมินผลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่เพียงใด

โดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง พร้อมกับประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากทั้ง 2 แห่งมีการทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ ไม่ได้มีการบริการแบบกว้างขวางเช่นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และทางการสหรัฐฯ ได้เข้าการเข้าดำเนินการเพื่อดูแลปัญหาที่รวดเร็ว

ทั้งนี้ ฐานะของสถาบันการเงินไทยทั้งระบบมีความแข็งแกร่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการกำกับด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ซึ่งมาตรการการกำกับระบบสถาบันการเงินของไทยมีการปรับปรุงให้ดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รัดกุม มาตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 ทำให้ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤตการเงินโลกหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตโควิด-19 แต่สถาบันการเงินของไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐยังสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ด้วยฐานะที่แข็งแกร่ง

จากข้อมูลของธปท. ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ มีเครื่องชี้ฐานะทางการเงินในระดับสูง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) 19.4% สภาพคล่อง (Liquidity Coverage ratio : LCR) สูงถึง 197.3% มีหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL) ในระดับต่ำที่ 2.73% ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio)สูงถึง 171.9% การให้สินเชื่อ และรับเงินฝากในภาพรวมมีการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวในลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบการดูแลผู้ฝากเงินที่เข็มแข็งด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 1.34 แสนล้านบาท คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งกองทุน ณ ปัจจุบันสามารถครอบคลุมผู้ฝากกว่าร้อยละ 98% ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ

advertisement

SPOTLIGHT