การเงิน

ยอดส่งออกทองสวิสไปจีนนิวไฮในรอบ 4 ปี สะท้อนดีมานด์จีนฟื้นสร้างฐานราคา

28 ม.ค. 66
ยอดส่งออกทองสวิสไปจีนนิวไฮในรอบ 4 ปี  สะท้อนดีมานด์จีนฟื้นสร้างฐานราคา
ไฮไลท์ Highlight
ข้อมูลจากศุลกากรสวิตเซอร์แลนด์ ยังระบุอีกว่า จีนนำเข้าทองคำจากสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว โดยตัวเลขส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ไปยังจีนแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีในปี 2022 รวม 524 ตัน หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ นี่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับการนำเข้า 354 ตันในปี 2021 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018

สวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นศูนย์กลางการสกัดและการขนส่งทองคำที่ใหญ่ที่สุด  และบ่งชี้แนวโน้มเกี่ยวกับตลาดทองคำโลก ทำให้ข้อมูลส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนปริมาณความต้องการทองคำกายภาพของทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

ข่าวดีของทองคำ ก็คือ การส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2022 ไปยังทุกประเทศทั่วโลกแตะระดับกว่า1,700 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2017 เลยทีเดียว  นำโดยการส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ไปยังตลาดทองคำหลัก  เช่น จีน ตุรกี สิงคโปร์ อินเดีย  และไทย ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากราคาทองคำลดลงในปี 2022 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อซึ่งช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำจากประเทศต่างๆ  

ทองสวิสส่งออก

ข้อมูลจากศุลกากรสวิตเซอร์แลนด์ ยังระบุอีกว่า จีนนำเข้าทองคำจากสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว โดยตัวเลขส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ไปยังจีนแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีในปี 2022 รวม 524 ตัน หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ นี่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับการนำเข้า 354 ตันในปี 2021 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018

ที่น่าสนใจ คือ จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคทองคำอันดับหนึ่งของโลกมีการเข้าซื้อทองคำผ่านทางรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกด้วย เห็นได้จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยศุลกากรของรัสเซีย พบว่า จีนได้ซื้อทองคำของรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น  6.6 ตันในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้น 67% จากปี 2021 อ้างอิงจากข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อท้องถิ่นของรัสเซีย  

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้เพิ่มการซื้อทองคำสำรองเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยซื้อทองคำ 30 ตันในเดือนธันวาคม หลังจากซื้อทองคำจำนวน 32 ตันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการซื้อทองคำสำรองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 ขณะนี้จีนถือครองทองคำสำรองรวมแล้ว 2,010 ตัน  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงปริมาณความต้องการทองคำกายภาพของจีนที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น  ทำให้นักลงทุนจำนวนมากในยุโรปและอเมริกาเหนือเทขายทองคำในปี 2022  แต่ทองคำกายภาพเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปยังตลาดทองคำหลัก  เห็นได้จากสิงคโปร์ที่นำเข้าทองคำ 69 ตันจากสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากยอดการนำเข้าในปี 2021 และเป็นระดับการนำเข้าทองคำที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 ส่วนไทยไม่น้อยหน้านำเข้าทองคำ 92 ตันจากสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2022 ซึ่งเป็นระดับการนำเข้าที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013

ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้กระตุ้นความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตุรกี ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับตัวเลขที่ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังส่งออก 188 ตันไปยังตุรกี ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลย้อนไปถึงปี 2012 อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ไปยังอินเดียชะลอตัวลงเหลือ 224 ตันในปี 2022 จาก 507 ตันในปี 2021 แต่กระนั้นก็ต้องบอกว่า

"ตัวเลขการนำเข้าทองคำจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังปลายทางประเทศอื่นอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมากเพียงพอที่จะชดเชยการลดลงของการนำเข้าทองคำของอินเดียได้  และเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าปริมาณความต้องทองคำกายภาพทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สร้าง Floor ให้กับราคาทองคำในปี 2022 ถึงแม้จะเผชิญกับปัจจัยกดดันอย่างหนักในปีที่แล้วก็ตาม"

ที่มา : Reuters, World Gold Council และ Kitco

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT