ในวิชาชีพแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของมนุษย์ การรักษามาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพถือเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากกระทำผิดหรือประพฤติไม่เหมาะสม คณะกรรมการแพทยสภามีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและอาจดำเนินการลงโทษทางวินัย
ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งหนึ่งในบทลงโทษที่สำคัญคือ “การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม”
การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือ การระงับสิทธิของแพทย์ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นการ ชั่วคราว โดยออกคำสั่งโดยแพทยสภา ซึ่งมักเป็นผลจากการที่แพทย์ผู้นั้นกระทำผิดจรรยาบรรณ หรือกระทำผิดกฎหมาย จนส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของวิชาชีพแพทย์
กระบวนการพิจารณาและบทลงโทษทางวินัย
มาตรา 39 เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าว คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ คณะกรรมการอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ
2.ว่ากล่าวตักเตือน
3.ภาคทัณฑ์
4.พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี
5.เพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา 40 ให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งแพทยสภาตามมาตรา 39 ไปยังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษเพื่อทราบ และให้บันทึกคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วย
ผลของการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา 41 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้ถือว่า มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่วันที่คณะกรรมการสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้น
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดถูกศาลพิพากษาลงโทษตามมาตรา 43 และคดีถึงที่สุดแล้ว ให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา 42 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้ว ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป
บทลงโทษทางอาญา
มาตรา 43 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 44 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 หรือมาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นกลไกทางกฎหมายในการรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพทางการแพทย์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เพียงแต่ห้ามไม่ให้กระทำหน้าที่ทางการแพทย์ แต่ยังเป็นการตัดสถานภาพทางวิชาชีพโดยสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ใบอนุญาตถูกพักใช้ และอาจนำไปสู่การเพิกถอนถาวรหากพบการกระทำผิดซ้ำที่ร้ายแรงตามที่กฎหมายกำหนด
อ้างอิงข้อมูล : https://www.tmc.or.th/download/law-medical_2525.pdf / แพทยสภา The Medical Council of Thailand
Advertisement