การพักรบชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ และจีนถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา ข้อตกลงเบื้องต้นที่บรรลุในระหว่างการเจรจาที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้สร้างความหวังว่าแรงกดดันจากมาตรการภาษีจะคลี่คลายลง
โดยสหรัฐฯ ตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจากระดับสูงสุดเดิมที่ 145% เหลือ 30% ขณะที่ทางจีนเองก็ปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10% รวมถึงยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีบางประการ เช่น การควบคุมการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอาวุธขั้นสูง
แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการและยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตามพลวัตของการเมืองระหว่างประเทศ แต่สัญญาณที่ส่งออกมาก็เพียงพอที่จะทำให้ตลาดทุนตอบรับในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การค้าจะดูเหมือนผ่อนคลายลง แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สะสมมานานหลายเดือนจากการตั้งกำแพงภาษีก็เริ่มแสดงผลชัดเจนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี สะท้อนแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลงจากอุปสงค์ชะลอตัว ขณะที่ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เติบโตเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 0.1% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แสดงให้เห็นถึงความลังเลของผู้บริโภคในการใช้จ่าย
นอกจากนี้ ภาคการผลิตก็เริ่มชะลอตัว โดยข้อมูลจาก Federal Reserve แสดงให้เห็นว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ก็ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภาคที่อยู่อาศัยกำลังเริ่มปรับฐานจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ตึงตัว
การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการค้าสร้างผลกระทบที่ไม่ใช่เพียงแค่การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นในระยะสั้น แต่ยังส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ตลาดจึงเริ่มปรับจุดสนใจจากคำแถลงของผู้นำประเทศ หรือความเคลื่อนไหวของมาตรการภาษี มาสู่การประเมินภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงว่า กำลังเผชิญกับความเสี่ยงถดถอยหรือไม่ และหากถดถอย จะเป็นแบบ “Soft landing” หรือ “Hard landing”
“Soft landing” หมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาคแรงงานยังแข็งแกร่ง และระบบสถาบันการเงินยังสามารถรับมือได้ ในขณะที่ “Hard landing” คือการชะลอตัวอย่างรุนแรง เช่น การจ้างงานลดลงกะทันหัน รายได้ประชาชนหดตัว และเกิดความปั่นป่วนในระบบตลาดเงิน
ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) อาจจำเป็นต้องทบทวนทิศทางนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวและหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เกิดเป็น “Hard landing” การลดดอกเบี้ยในช่วงแรกอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตลาดจะเข้าสู่ภาวะ “bad news is bad news” หรือตัวเลขเศรษฐกิจแย่ ตลาดจะปรับตัวลงรุนแรง และ ยาวนานจนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว
ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจเพียงแค่ชะลอตัวแบบ “Soft landing” ตลาดจะตีความว่า “bad news is good news” หรือหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแย่ ตลาดอาจจะปรับฐานบ้างแต่ไม่นาน และนักลงทุนจะมองข้ามช็อตไปถึงการลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องของเฟด จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจและเป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงระยะกลางถึงยาวได้
ในขณะเดียวกัน คริปโทฯ หรือโดยเฉพาะบิตคอยน์เองจะได้รับผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่เราได้เห็นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อคนเริ่มไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ เงินทุนไหลออกจากหุ้น ไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาล และที่เราไม่เคยเห็นมาในรอบหลายปีคือไหลออกจากดอลลาร์ที่ควรจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe heaven) เช่นเดียวกัน โดยเงินทุนเลือกไหลไปหาสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อาทิ ทองคำ และ บิตคอยน์ แทน
โดยปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อโลกคริปโทฯ มากกว่าคือสภาพคล่อง (Liquidity) ที่เมื่อหากเศรษฐกิจส่งสัญญาณหดตัวตลาดคริปโทฯ อาจจะกระทบเชิง sentiment บ้าง แต่สิ่งที่จะตามมาคือการอัดฉีดสภาพคล่องของเฟดอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น และจะเป็นผลบวกต่อตลาดคริปโทฯ มากกว่า ทำให้แนวโน้มครึ่งปีหลังภายใต้สถานการณ์ที่กล่าวมา มีแนวโน้มที่คริปโทฯ จะเป็นสินทรัพย์ที่ชนะ (Outperform) สินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ ในตลาด
หมายเหตุ : คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ผู้เขียน : นายธนลภย์ ปรีดามาโนช บริษัท ผู้จัดการเงินทุน เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด
Sources: https://www.bloomberg.com/explainers/us-china-trade-war
https://edition.cnn.com/2025/03/10/economy/us-recession-explained/index.html