วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 กลุ่มผู้นำ BRICS ประกาศเป้าหมายร่วมเพื่อจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่การประชุม ในนครริโอ เดอ จาเนโร ชี้เป้ากลุ่มประเทศร่ำรวยต้องช่วยประเทศยากจนจ่ายค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิซ อีนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา กล่าวตำหนิการปฏิเสธภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ที่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
“ทุกวันนี้ การปฏิเสธความจริงและการดำเนินการด้วยตัวคนเดียว กำลังกัดกร่อนความสำเร็จในอดีตและทำร้ายอนาคตของเรา […] กลุ่มประเทศโลกใต้มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ โดยไม่ทำผิดพลาดซ้ำแบบในอดีต”
ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาตอบโต้คำพาดพิงดังกล่าวในวันเดียวกัน กล่าวหาว่า BRICS มี “นโยบายต่อต้านอเมริกา” และขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% ต่อสมาชิก BRICS ซึ่งสมาชิก BRICS เมินเฉยต่อคำตอบโต้
ความเห็นของกลุ่มผู้นำ BRICS ในการประชุมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลิกใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งคือหัวข้อที่พูดกันในวงสนทนาเรื่องสภาพภูมิอากาศหลายต่อหลายครั้ง ที่เพิ่มขึ้นมาคือการยืนยันว่า น้ำมันปิโตรเลียมจะยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพลังงานโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนถึงความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม BRICS
ประเด็นต่อมาที่ถูกพูดถึงในแถลงการณ์หลังการประชุมคือ การจัดหาเงินทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เป็นความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งเป็นจุดยืนพื้นฐานของประเทศเศรษฐกิจกำลังเกิดใหม่ในการเจรจาระดับโลก
เพื่อแสดงว่าตนก็ทำตามแนวทางดังลก่าว BRICS กล่าวถึงกองทุน Tropical Forests Forever Facility ที่กลุ่มสนับสนุนอยู่ ซึ่งเป็นกองทุนที่ปกป้องป่าที่ถูกคุกคาม โดยกล่าวว่ากองทุนในลักษณะนี้ คือแนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ในการจัดหาเงินทุนเพื่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจากข้อตกลงปารีส
ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวสองรายของ Reuters ที่ใกล้ชิดกับการหารือ กล่าวว่า จีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แสดงท่าทีว่าพวกเขามีแผนจะลงทุนในกองทุนดังกล่าว
นอกเหนือไปจากนี้ แถลงการณ์ของ BRICS ยังประณามและปฏิเสธนโยบายอย่างภาษีคาร์บอนข้ามเขตแดน (carbon border taxes) และกฎหมายต่อต้านการตัดไม้ (anti-deforestation laws) ที่สหภาพยุโปรเพิ่งประกาศใช้ว่า มีการบังคับใช้ที่ “เลือกปฏิบัติ” ต่อคนบางกลุ่มภายใต้ข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อม
BRICS กล่าวว่า Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ ภาษีนำเข้าที่สหภาพยุโรป กำหนดขึ้นกับสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าขีดจำกัดที่ผู้ผลิตในยุโรปได้รับอนุญาต แม้อ้างว่ามีจุดประสงค์คือเพื่อป้องกัน “การรั่วไหลของคาร์บอน” แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงคือทำให้สินค้าประเภทเหล็กหรือปูนซีเมนต์จากประเทศอย่างเช่นอินเดีย มีราคาสูงขึ้นและแข่งขันในตลาดยุโรปได้ยากลง
จีนและอินเดียมีจุดยืนต่อต้าน CBAM มานานแล้ว โดยได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในการประชุมนานาชาติหลายครั้ง โดยกล่าวว่าจีนและอินเดียเป็นเป้าหมายหลักของการกีดกันด้วยกลไกนี้