100 เยนญี่ปุ่นเท่ากับ 24 บาทไทย นี่คือสถิติค่าเงินเยนที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 26 ปี คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินเยน และทิศทางเงินเยนจะอ่อนค่าต่อเนื่องหรือไม่ SPOTLIGHT สรุปมาให้
คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อธิบายให้ฟังว่า สถิติการแข็งค่าของเงินเเยนที่ระดับ 24 บาทต่อ 100 เยน นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 26 ปี และหากเทียบค่าเงินเยนกับดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนก็ออนค่าอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 143.78 เยนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลง 10%
สาเหตุเงินเยนอ่อนค่าหนักเกิดจาก สภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่เงินเฟ้อสูง ฟื้นตัวจากโควิด แต่สำหรับญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับปัญหาเงินฝืดมานานนับสิบปี นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกับสหรัฐ ยุโรปได้ ในทางตรงกันข้ามต้องใช้นโยบายการเงินที่สวนทาง โดยญี่ปุ่นยังคงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบและคุมดอกเบี้ยระยะยาวเอาไว้ภายใต้มาตรการ Yield Curve Control (YCC) แม้ว่าตอนนี้ญี่ปุ่นจะเผชิญเงินเฟ้อที่สูงขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งความแตกต่างที่หากมากขึ้นระหว่างดอกเบี้ยเฟด และ ดอกเบี้ยของญี่ปุ่นทีติดลบ จึงทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างหนัก
ธนาคารกรุงศรี ประเมินว่า ขณะนี้ตลาดกำลังจับตาท่าทีของ BOJ ที่อาจหันมาใช้นโยบายการเงิน เพื่อสกัดเงินเฟ้อหากมองว่าเยนอ่อนมากเกินไป โดย MUFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกรุงศรีฯ ประเมินว่า BOJ อาจมีการปรับมาตรการ YCC หรือยกเลิกไปเลยในไตรมาสที่ 4 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะมีผลให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าได้ ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่คนจะไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นต้องแลกเงินเยนไว้
.
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ค่าเงินเยนในช่วงไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ระดับ 24.25 บาทต่อ 100 เยน และในช่วงไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 24.35 บาทต่อ 100 เยน ส่วนปีหน้าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 24.63 บาทต่อ 100 เยน ถึง 24.70 บาทต่อ 100 เยนภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ส่วนค่าเงินบาทของไทยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในโซนอ่อนค่าเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยนับจากต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 1.07% ซึ่งเป็นระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค เช่น วอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนค่า 2.75% หยวนของจีนที่อ่อนค่า 4.42% และริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าถึง 5.36%
รุ่งระบุว่า หากมองไปข้างหน้าในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงินบาท โดยมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง ขณะที่ยุโรปและอังกฤษจะขึ้นอีก 2 ครั้ง ก่อนจะคงดอกเบี้ยค้างไว้ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนจะถ่วงค่าเงินหยวนลง ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทที่มีความเชื่อมโยงหรือ Correlation กับเงินหยวนสูงที่สุดในภูมิภาคผ่านการค้าและการท่องเที่ยวเช่นกัน
“เรามองเงินบาทในไตรมาส 3 ไว้ที่ระดับ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยการเมืองในประเทศที่ต้องติดตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลราบรื่นก็จะส่งผลดีต่อ Sentiment เงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ในกรณีที่มีปัญหา เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าไปได้ถึง 36.25 บาทต่อดอลลาร์”
อย่างไรก็ดี หากมองต่อไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังเชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะผันผวนในทิศทางแข็งค่า โดยคาดหวังระดับการซื้อขายสิ้นปี 2023 ที่ราว 33.75 บาทต่อดอลลาร์ บนสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้แรงส่งเชิงบวกจากภาคท่องเที่ยว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ธนาคารกรุงศรี ประเมินว่า แม้ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยจะลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่คาดว่า กนง. จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 2.25% เหตุผลจากความกังวลเงินเฟ้อ พื้นฐานในหมวดอาหารที่ยังมีความหนืด และการสร้างช่องว่างทางนโยบายหรือ Policy Space ไว้รองรับกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก