ข่าวเศรษฐกิจ

กรณีศึกษา ‘กัมพูชา’ เศรษฐกิจเสี่ยงพัง เหตุพึ่งพา ‘ทุนจีน’ มากเกินไป

16 ก.พ. 67
กรณีศึกษา ‘กัมพูชา’  เศรษฐกิจเสี่ยงพัง เหตุพึ่งพา ‘ทุนจีน’ มากเกินไป

ปัจจุบัน กัมพูชาเป็นประเทศที่ถือได้ว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วประเทศหนึ่ง โดยระหว่างปี 2012-2022 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 7.7% และมีการเติบโตของ GDP ต่อหัวถึง 85.12% จาก 950.5 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 1759.6 ดอลลาร์สหรัฐ และเลื่อนสถานะจากประเทศรายได้ต่ำขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำในปี 2015

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากการหลั่งไหลเข้าไปของเงินทุนต่างประเทศในกัมพูชา ที่หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ ‘ประเทศจีน’ มองว่ามีศักยภาพเพราะเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มีประชากรอายุน้อยมากทำให้เป็นแหล่งแรงงานและตลาดผู้บริโภคชั้นดี นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ เพราะชาวต่างชาติสามารถเข้าไปตั้งบริษัทในกัมพูชาได้ 100% โดยไม่ต้องมีคนกัมพูชาถือหุ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังตั้งการคาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับปี 2024 ไว้สูงถึง 6.6% และแม้องค์กรต่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก จะให้การคาดการณ์ที่ต่ำกว่าคือ 5.3% และ 5.4% ตามลำดับ การเติบโตในระดับนี้ก็ยังถือว่าค่อนข้างสูง 

ทั้งนี้ แม้เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาจะดูเหมือนกำลังไปได้สวย ในทางโครงสร้าง เศรษฐกิจของกัมพูชากลับอ่อนแออย่างหนัก เพราะประชากรส่วนมากคือ 70% ทำงานในภาคส่วนการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตก็เป็นการผลิตสินค้ามูลค่าต่ำคือเสื้อผ้า 

มิหนำซ้ำ ปัจจุบันกัมพูชายังต้องพึ่งพา ‘ทุนจีน’ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นภาคส่วนการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้หากเศรษฐกิจจีนซบเซาหรือเกิดปัญหาขึ้น เศรษฐกิจกัมพูชาย่อมมีปัญหาตามไปด้วย จนมีคำกล่าวที่ว่า “When China sneezes, Cambodia will catch a cold.” หรือ “ถ้าจีนจาม กัมพูชาก็จะไม่สบายไปด้วย”

โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ‘สีหนุวิลล์’ (Sihanoukville) และโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) พื้นที่ของกัมพูชาที่มีบริษัทจีนเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและแหล่งคาสิโน ก่อนจะถูกทิ้ง กลายเป็นเมืองร้างหลังจีนเองประสบปัญหาหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังไม่สามารถกู้เศรษฐกิจตัวเองขึ้นมาจากโรคระบาดได้

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูความเป็นมาของ ‘ทุนจีนในกัมพูชา’ กันว่าส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างไร และทำไมประเทศต่างๆ จึงไม่ควรพึ่งพาทุนจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

'ทุนจีน' แหล่งเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจกัมพูชา

การลงทุนของจีนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2015-2019 หลังทั้งสองประเทศเริ่มมีการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2006 โดยเฉพาะการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชาภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาในอนาคต

โดยจากข้อมูลของ CEIC มูลค่าการลงทุนของจีนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 419.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 ไปเป็น 956.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และจีนยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าสูงถึง 8.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019

นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา (Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation) ในปี 2022 การลงทุนจากจีนยังคิดเป็นถึง 42.01% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่กัมพูชาได้รับทั้งหมดในปีนั้น ทิ้งห่างการลงทุนของประเทศอันดับที่ 2 อย่างไทยที่คิดเป็นเพียง 1.09% ไปอย่างขาดลอย 

โดยหากแยกเป็นรายภาคส่วนอุตสาหกรรม ภาคส่วนที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดก็คือ โครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ซึ่งมีทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่าทั้งหมด 1.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็น ภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับเงินลงทุนทั้งหมด 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับเงินลงทุนทั้งหมด 496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น เงินทุนของจีนจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา และหากปราศจากเงินทุนของจีนแล้ว เศรษฐกิจของกัมพูชาก็คงไม่สามารถเติบโตได้ในอัตราที่รวดเร็วแบบในปัจจุบัน

ทุนมาพร้อมหนี้ จีนกินส่วนแบ่งหนี้ต่างประเทศกัมพูชา 41%

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าทะลักเข้ามาของทุนจีนจะทำให้กัมพูชาเติบโต การลงทุนนี้ก็แฝงไปด้วยอันตรายมากมาย เพราะมันทำให้เศรษฐกิจกัมพูชาต้องอิงไปกับเศรษฐกิจจีนอย่างช่วยไม่ได้ โดยถ้าเศรษฐกิจจีนซบเซาลง หรือมีปัญหา กระแสเงินลงทุนเหล่านี้ก็จะหยุดลง ทำให้การพัฒนาของกัมพูชาในภาคส่วนที่มีทุนจีนอยู่มาก เช่น อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ชะงักตามไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีในแง่การกระจายความเสี่ยง 

โดยตัวอย่างผลเสียของการพึ่งพาทุนจีนที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ร้างในสีหนุวิลล์และโครงการดาราสาครที่ในปัจจุบันยังสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดการณ์ เนื่องจากเกิดถาวะเศรษฐกิจซบเซา ปัญหาหนี้และปัญหาสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาวะเงืนฝืดจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ตกต่ำทั้งภายในและภายนอกประเทศของจีน

นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ยังทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาไปด้วย เพราะรัฐบาลจีนมักจะให้เงินลงทุนกับกัมพูชาในรูปแบบของ Concessional Loan หรือเงินกู้แบบผ่อนปรนซึ่งหมายถึงเงินกู้ที่มีระยะเวลาในการชำระเงินคืนยาวกว่าเงินกู้ทั่วไป และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 

โดยจากข้อมูลของ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา (Ministry of Economy and Finance) ในเดือนธันวาคมปี 2023 หนี้จากประเทศจีนคิดเป็นถึง 41% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น ปัจจุบัน ‘จีน’ จึงมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เพราะเป็นทั้งเจ้าหนี้ และนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ทำให้นักวิเคราะห์และนักวิชาการในหลายๆ ภาคส่วนมองว่ากัมพูชาเสี่ยงที่จะอยู่ภายใต้ ‘กับดักหนี้’ ของจีน เพราะในอนาคตจีนจะสามารถใช้ข้อได้เปรียบด้านนี้มาบังคับกัมพูชาให้ดำเนินนโยบายไปตามต้องการทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้

โดยในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างสองประเทศก็ส่งผลเสียต่อกัมพูชาบ้างแล้ว เพราะมันทำให้กัมพูชามีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหากับจีนเช่น สหรัฐฯ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ตามไปด้วย ทำให้กัมพูชาเสียโอกาสที่จะได้รับเงินลงทุนจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งสามารถเข้ามากระจายความเสี่ยง และพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกัมพูชาให้มีเสถียรภาพมากขึ้นได้

กัมพูชาต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง

ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์มองว่ากัมพูชาต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่นเข้ามาบ้างเพื่อทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมีความหลากหลาย และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในระยะยาวมากกว่าการปล่อยให้ทุนจากจีนเข้ามาใช้ทรัพยากรและแรงงานราคาถูกในประเทศเพื่อผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง

นอกจากนี้ กัมพูชายังต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เจริญก้าวหน้า ได้มาตรฐาน และเพียงพอที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาของประเทศได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงจะช่วยให้การขนส่งสินค้า และการขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศของกัมพูชาได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเหล่านี้ก็ต้องควบคู่ไปกับการจำกัดผลกระทบที่จะมีต่อทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชาด้วย ไม่ปล่อยให้ธุรกิจจากต่างประเทศเข้าไปใช้ทรัพยากรโดยไม่มีการวางแผนอย่างที่ผ่านมา เพราะกัมพูชาถือว่าเป็นประเทศที่มีทุนด้านทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ดี ซึ่งหากถูกดึงศักยภาพมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก

 

 

อ้างอิง: CEIC, MFAIC, Open Development Mekong, East Asia Forum, VOA News

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT