ข่าวเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยต่ำสุดในอาเซียน ล่าสุดของ ธ.ค. 66 ติดลบ 0.83% 

5 ม.ค. 67
เงินเฟ้อไทยต่ำสุดในอาเซียน ล่าสุดของ ธ.ค. 66 ติดลบ 0.83% 

อัตราเงินเฟ้อของไทยล่าสุดเดือนธันวาคม 2566 ออกมาติดลบ 0.83% และลดลงติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว ส่งผลให้ภาพรวมตลอดทั้งปี 2566 เงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.23% ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในเอเซียน 

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเรียกง่ายๆว่า อัตราเงินเฟ้อ เท่ากับ 106.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.83 (YoY) เป็นการลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 34 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ลดลงร้อยละ -1.17) 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให่เงินเฟ้อติดลบ มาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ รวมทั้งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่อง จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และผักสดเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผักสดผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ร้อยละ -0.46 (MoM) 

ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AoA) (ปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.08) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาอาหารสด อาทิ ข้าวสารเจ้า ตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผักและผลไม้ เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชสำคัญบางชนิดต้องเผชิญกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลไม้บางชนิดราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวดีขึ้น 

นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ราคาเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกรและน้ำมันพืชตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการของภาครัฐ

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.58 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (MoM) และเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.27 (AoA)

เงินเฟ้อไทย ต่ำสุดในอาเซียน

เงินเฟ้อไทยต่ำที่สุดในอาเซียน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลงร้อยละ 0.44 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำโดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว

ปี 2567 เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 

1.มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย 

2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในระเทศปรับลดลงตาม 

3.กระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง

4.มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2566 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จาก 55.0 ในเดือนก่อนหน้า ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันมีค่าเท่ากับเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับลดลงคาดว่ามาจาก 

1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด

2.ความกังวลต่อปัญหารายได้ที่อาจจะยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพและภาระหนี้สิน

3.ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ บางรายการปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลปีใหม่จะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐด้านการลดค่าครองชีพ การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT