ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดเส้นความยากจนสากล-ไทย มีรายได้น้อยกว่าเท่าไหร่ถึงเรียกว่า 'ยากจน'

11 พ.ย. 66
เปิดเส้นความยากจนสากล-ไทย มีรายได้น้อยกว่าเท่าไหร่ถึงเรียกว่า 'ยากจน'

หลังจากมีข่าวออกมาว่ารัฐบาลจะปรับลดงบประมาณในนโยบายดิจิทัลด้วยการเจาะจงช่วยเหลือกลุ่มบุคคลยากจนหรือผู้ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันในไทยก็คือระดับรายได้ของคนที่เรียกได้ว่า ‘ยากจน’ ในไทยว่าต้องมีรายได้หรือใช้ชีวิตแบบไหนถึงเรียกได้ว่าเป็นคนจนที่ควรได้รับความช่วยเหลือ

นอกจากในไทยแล้ว คำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกตั้งคำถามเช่นกันว่า ‘ความจน’ แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร แล้วเรานำระดับตัวเลขรายได้มาชี้วัดได้จริงหรือไม่ และถ้าวัดได้ ระดับรายได้ที่ทำให้คนยากจนแท้จริงแล้วคือเท่าไหร่ เพราะแน่นอนว่าความยากจนไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสในการทำมาหากิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้น อยู่ในพื้นที่ใด อายุเท่าไหร่ เชื้อชาติอะไร และนิยามตัวเองว่าเป็นเพศไหน ทำให้การนิยามคนจนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจนไม่สามารถนำตัวเลขเดียวมาวัดได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อทำให้การช่วยเหลือคนยากจนด้วยนโยบาย เงินทุน หรืออุปกรณ์ทำได้ง่าย และรวดเร็วทันความต้องการ หลายๆ หน่วยงานก็ได้ออก “เส้นความยากจน” (Poverty Line) ขึ้นมา เพื่อแบ่งกลุ่มประชากรออกมา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับนานาชาติอย่าง ธนาคารโลก (World Bank) และ หน่วยงานระดับชาติของประเทศต่างๆ ที่ทำหน้าที่สำรวจและทำสถิติรายได้ รายจ่าย และวัดความยากจนของประชากรในประเทศ

ธนาคารโลกและเส้นความยากจนสากล

เส้นความยากจนที่ใช้ในระดับสากล คือ เส้นความยากจนสากล หรือ International Poverty Line ของ ธนาคารโลก ซึ่งคิดจากการคำนวณค่าครองชีพของประเทศรายได้ต่ำที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ แล้วแปลงระดับค่าครองชีพนั้นให้เป็นสากลด้วยทฤษฎี Purchasing Power Parity (PPP) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ โดยมีแนวคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินสองประเทศต้องอยู่ในภาวะสมดุล อำนาจการซื้อหรือราคาสินค้าอย่างหนึ่งในประเทศทั้งสองจึงจะเท่ากัน 

เส้นความยากจนสากล ถูกปรับขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในปี 2022 โดยใช้ PPP Price จากค่าครองชีพของประเทศรายได้ต่ำในช่วงปี 2011-2017 และปัจจุบันอยู่ที่ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 

นอกจากนี้ ทางธนาคารโลกยังได้สรา้งเส้นแบ่งความยากจนขึ้นมาอีก 2 เส้น คือ Lower Middle Income Poverty Line (3.65 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน) และ Upper Middle Income Poverty Line (6.85 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน) ซึ่งเป็นเส้นความยากจนสำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ และ เส้นความยากจนสำหรับประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ซึ่งประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มหลังนี้

ในปัจจุบัน ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนขั้นสุดต่ำ เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลกประเทศไทยมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันเพียง 10,000 คนเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมาดูจำนวนประชากรยากจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (93 บาท/ วัน) จะเห็นได้ว่ามีประชากรถึง 8.71 ล้านคน หรือประมาณ 12.2% ของประชากรทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์นี้ ทำให้ถ้าเทียบกับประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงด้วยกัน ไทยก็ถือว่ามีจำนวนประชากรยากจนในระดับที่ค่อนข้างสูง

538331

ความยากจนของไทยไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด

นอกจากเส้นความยากจนสากลแล้ว รัฐบาลของแต่ละประเทศยังมีการจัดทำเส้นความยากจนซึ่งส่วนมากมักจะมีรายละเอียด และมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า เพราะสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นรายจังหวัด โดยในไทย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำสถิติรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนไทย เพื่อคำนวณเส้นความยากจน และเก็บสถิติคนยากจนในแต่ละจังหวัด

จากข้อมูลในปี 2021 ปัจจุบันเส้นความยากจนของทั้งประเทศไทยอยู่ที่ 2,803 บาท/เดือน หรือ 93 บาท/วัน ทำให้มีประชากรที่ยากจนในประเทศทั้งหมด 4,404,600 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเดียวกับเกณฑ์ของธนาคารโลก ซึ่งกำหนดให้เส้นความยากจนในระดับ Upper Middle Income ของไทย เท่ากับ 93 บาท/ วัน เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเส้นความยากจนระดับประเทศแล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติยังแยกเส้นความยากจนออกเป็นรายจังหวัดตามค่าครองชีพ ทำให้นิยามความรวยจนในแต่ละจังหวัดของไทยนั้นไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่มีเส้นความยากจนสูงที่สุดสามอันดับก็คือ 1. กรุงเทพฯ (3,308 บาทต่อเดือน) 2. พัทลุง (3,021 บาทต่อเดือน) และ 3. นนทบุรีและชลบุรี (2,994 บาทต่อเดือน) 

และหากคิดจากเส้นความยากจนแยกเป็นรายจังหวัดดังกล่าว พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรยากจนสูงสุดในประเทศ 3 อันดับแรกคือ 1. ปัตตานี (30.85%) 2. กาฬสินธุ์ (25.2%) 3. แม่ฮ่องสอน (24.59%) ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรคนจนน้อยที่สุดในประเทศคือ 1. ชลบุรี/ นนทบุรี (0%) 2. ระยอง (0.12%) 3. ฉะเชิงเทรา (0.54%)

ทั้งนี้ หากมองในแง่จำนวนไม่ใช่สัดส่วน จังหวัดที่จะมีประชากรยากจนสูงที่สุดก็คือ นครราชสีมา ซึ่งมีจำนวนประชากรคนจนถึง 525,600 คน และ อุบลราชธานี ซึ่งมีจำนวนประชากรคนจนถึง 282,400 คน ซึ่งมีมากตามขนาดจังหวัดและจำนวนประชากรในพื้นที่




อ้างอิง: World Bank, สำนักงานสถิติแห่งชาติ



advertisement

SPOTLIGHT