ข่าวเศรษฐกิจ

ราคาข้าวพุ่งเกือบสูงสุดในรอบ 15 ปี หลังอินเดียแบนส่งออกข้าวทุกชนิด เปิดทางไทยส่งออกเพิ่ม

4 ก.ย. 66
ราคาข้าวพุ่งเกือบสูงสุดในรอบ 15 ปี  หลังอินเดียแบนส่งออกข้าวทุกชนิด เปิดทางไทยส่งออกเพิ่ม

ราคาข้าวในเอเชียพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในเกือบ 15 ปี ในวันที่ 30 สิงหาคม หลังอินเดียออกมาประกาศหยุดส่งออกข้าวทุกชนิดที่ผลิตในประเทศ รวมไปถึงข้าวนึ่ง (parboiled rice) และข้าวบัสมาติ (basmati rice) ซึงเป็นข้าวที่อินเดียยังไม่ได้ห้ามส่งออกเมื่อครั้งประกาศหยุดส่งออกข้าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

การประกาศหยุดส่งออกข้าวทุกชนิดนี้ส่งผลกระทบและสร้างความตื่นตระหนกอย่างมากให้กับหลายๆ ประเทศในเอเชียและแอฟริกาที่มีข้าวเป็นอาหารหลักถึง 60% ของแคลลอรี่ที่บริโภคทั้งหมดในพื้นที่ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 45% 

โดยในปี 2022 อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวถึง 22 ล้านตัน มูลค่าถึง 9.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยัง 140 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นข้าวบัสมาติ 4.5 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 8 ล้านตัน ข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ 6 ล้านตัน และปลายข้าว (broken rice) อีก 3.5 ล้านตัน ทำให้เท่ากับหลังจากการประกาศหยุดส่งออกข้าวทุกชนิด ข้าวอีกมากกว่าครึ่งที่อินเดียส่งออกกำลังจะหายไปจากตลาด

นี่จึงทำให้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศแย่งกันเข้าซื้อข้าวที่มีอยู่เพื่อสำรองสำหรับการบริโภคในประเทศ และดันราคาขึ้นไปสูงถึง 646 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือราว 22,671 บาท ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มมากไปกว่านี้อีกถ้าประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ ออกมาประกาศหยุดส่งออกข้าวในลักษณะเดียวกัน

 

ทำไมอินเดียหยุดส่งออกข้าว?

จากการรายงานของหลายสื่อในต่างประเทศ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อินเดียตัดสินใจหยุดส่งออกข้าวคือเหตุผลทางการเมือง

เพราะในปัจจุบัน ผลผลิตข้าวในประเทศอินเดียลดลงอย่างมากจากสภาพอากาศแล้ง อุปทานที่ลดลงดันราคาให้ข้าวในประเทศให้เฟ้อสูงขึ้นจนประชาชนเดือดร้อน ทำให้รัฐบาลซึ่งในปัจจุบันนำโดยนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ต้องพยายามกักตุนข้าวในประเทศเพื่อดึงราคาให้ต่ำลง เพราะกลัวว่าหากทำผลงานได้ไม่ดี ประชาชนจะไม่ให้การสนับสนุนในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

ซึ่งความพยายามนี้ก็ได้ผล เพราะเมื่อหยุดการส่งออก ราคาข้าวในกรุงนิวเดลีก็ถูกตรึงไว้ได้สำเร็จที่ 39 รูปี หรือราว 17 บาทต่อกิโลกรัม ถึงแม้ราคาจะยังสูงเมื่อเทียบกับราคาในปีที่แล้ว

 

สภาพอากาศแล้งยาว ชาตินำเข้ายังแย่งซื้อแม้ไทย-เวียดนามยังส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การหยุดส่งออกข้าวของอินเดียจะมีแรงจูงใจทางการเมืองเข้ามาเจือปน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในต้นตอหลักของปัญหานี้ก็คือ สภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่จะไม่หมดไปแม้การเลือกตั้งของอินเดียจะผ่านพ้นไปแล้ว 

นี่ทำให้หลายๆ ประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้รัฐบาลใหม่ของอินเดียจะเข้ามาแล้ว มาตรการแบนการส่งออกนี้ก็อาจจะยังอยู่ และที่ร้ายที่สุดคืออาจจะทำให้รัฐบาลของประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ ในเอเชีย รวมไปถึง ประเทศไทย จีน และเวียดนาม เริ่มลดหรือหยุดการส่งออกตามไปด้วยหากสภาพอากาศเลวร้ายลงจนมีผลผลิตไม่พอป้อนคนในประเทศเหมือนกัน ซึ่งถ้าทำจริง ราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์ และส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายร้อยล้านคนที่รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก

นอกจากนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตอาหารในประเทศ หลายๆ ประเทศเช่น สิงคโปร์ ภูฏาน และกินี ถึงขนาดส่งรัฐมนตรีไปอินเดีย หรือส่งจดหมายขอไปทางรัฐบาลอินเดียว่าให้อะลุ่มอะล่วยส่งออกข้าวให้พวกเขาได้ เพราะมีความจำเป็นจริงๆ ไม่เช่นนั้นประเทศอาจจะต้องเจอวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร

 

ไทยมีโอกาสส่งออกราคาสูง แต่อาจกระทบคนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส เพราะความขาดแคลนและอุปสงค์ที่สูงในขณะนี้เปิดทางให้ผู้ผลิตข้าวและเกษตรกรไทยส่งออกข้าวในราคาที่สูงขึ้นและปริมาณมากขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ด้านการพาณิชย์ของไทยก็เพิ่งได้เดินสายไปเยือนหลายประเทศผู้นำเข้าข้าวในเอเชีย ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบอกว่าถ้าประเทศเหล่านี้ต้องการข้าว ไทยก็ก็ยินดีจะขายให้

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถส่งออกข้าวได้โดยไม่มีความเสี่ยงอะไร เพราะถึงแม้ไทยจะสามารถผลิตข้าวได้มากเพียงพอต่อทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก จากข้อมูลของกระทรวงการเกษตร ไทยก็จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแล้ง และน่าจะมีผลผลิตข้าวลดลงเช่นเดียวกัน เพราะปรากฎการณ์นี้จะทำให้มีปริมาณน้ำฝนลดลงในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวต้องการน้ำมากที่สุด

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องระวังไม่ให้การส่งออกข้าวกระทบกับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ เพราะถ้าหากราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และอาจจะเป็นผลประโยชน์ที่ไม่คุ้มกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

 

 

ที่มา: SCMP, The Financial Times, Al Jazeera



advertisement

SPOTLIGHT