ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐกิจไทย ก่อนและหลังเลือกตั้ง 2566

25 เม.ย. 66
เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐกิจไทย ก่อนและหลังเลือกตั้ง 2566

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ พบสื่อมวลชน ซึ่งนอกจากได้พูดถึงมุมมองของทิศทางเศรษฐกิจไทยแล้ว สื่อมวลชนได้โอกาสสอบถามมุมมองเกี่ยวกับวาระสำคัญของประเทศไทย นั่นคือการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ 

อยากเห็นนโยบายพรรคการเมืองเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ดร.เศรษฐพุฒิ แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า สิ่งที่ ธปท.คำนึงถึงคือ การทำนโยบายจะต้องไม่กระทบเสถียรภาพใน 4 ด้านสำคัญ คือ
1.เสถียรภาพด้านราคา
2.เสถียรภาพค่าเงิน
3.เสถียรภาพการคลัง
4.เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน 

นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ควรเป็นนโยบายที่ตรงจุดและเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ไม่เหวี่ยงแห เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงตามมาจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีความจำเป็นน้อยลง  โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยประมาณการว่า GDP ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้   จะขยายตัว 2.9% โดยภาคส่งออกหดตัว 7.1% ก่อนจะพลิกมาบวกในครึ่งหลังของปี 2566  ซึ่งคาดจะโตดีขึ้นมาอยู่ที่ 4.3% แต่สิ่งที่แบงก์ชาติยังกังวลคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูง โดยมีภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการบริโภค จะยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้

" ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัด น่าจะให้ความสบายใจกับการพื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะยังเห็นเป็นบวก การท่องเที่ยว การบริโภคฟื้นตัว สะท้อนว่า ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากขนาดนั้น ควรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน ผมว่าในภาพรวมเราได้ผ่านเรื่องช็อกมาสารพัด เศรษฐกิจเราถือว่า มีความยืดหยุ่น และมีเสถียรภาพพอสมควร" ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าว

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่ผ่านมาในหลายยุคหลายสมัยท้ายสุดแล้วช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น แถมบางนโยบายยังทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น ภาระหนี้สูงขึ้น ดังนั้น การออกนโยบายจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน มองผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนค่าเสียโอกาสในการนำทรัพยากร และงบประมาณทีที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ให้เกิดความคุ้มค่าด้วย

"นโยบายประชานิยม คือ ระบบเเศรษฐกิจที่ดูแลประชาชนทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา เป็นนโยบายที่ทุกคนได้รับประโยชน์นั้น อาจจะทำให้เงินไม่ได้ไหลไปในที่ที่ควรจะไป เป็นการเอางบประมาณที่มีอยู่จำกัดไปให้คนรวย ดังนั้น ควรทำนโยบายให้กับคนที่ขาดจริงๆ จะเห็นผลที่มากกว่า ควร target พุ่งเป้าช่วยเหลือให้ตรงจุดเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าถึงคนจนมากกว่าเหวี่ยงแก นโยบายช่วยเด็กก่อนวัยเข้าเรียน" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

เศรษฐกิจไทย จากมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ

 

เศรษฐกิจไทย จากมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ

เศรษฐกิจไทย จากมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ

เลื่อนหลักเกณฑ์ Virtual Bank เป็นไตรมาส 3/ 2023 

นอกจากภาพของเศรษฐกิจไทย และ มุมมองนโยบายของพรรคการเมืองแล้ว ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้ง Virtual Bank ด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.มีความจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากธปท.จะต้องรวบรวมและชี้แจงให้เกิดความชัดเจนตรงกันก่อน  โดย ธปท.จะจัดทำคำชี้แจงในรูปแบบของ handbook

ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะสามารถออกหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เลื่อนไปจากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะออกหลักเกณฑ์ได้ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหลังจากนั้น จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตได้ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป

ส่วนจำนวนเป้าหมายที่เหมาะสมของ Virtual Bank  ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่า ยังคงอยู่ที่ 3 ราย เป็นจำนวนที่จะได้เห็นความหลากหลายเพียงพอ หากจำนวนน้อยกว่านี้อาจจะมีปัญหาในด้านเสถียรภาพได้

ค่าเงินบาทไทยยังมีความผันผวนสูง 

สำหรับสถานการณ์ค่าเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมุมมองว่า เงินบาทยังมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน เป็นผลจากปัจจัยความไม่แน่นอนของโลกมากกว่า 80% และยังมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนกว่าค่าเงินในภูมิภาค คือ ค่าเงินบาทค่อนข้างเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในประเทศของจีนค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยเรื่องทองคำ ที่คนไทยมีความนิยมซื้อขายทองคำ ส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินบาทได้ด้วยเช่นกัน

แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้านั้น มองว่า สถานการณ์โลกยังมีความผันผวนไม่แน่นอนจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่ง ธปท.ได้พยายามเน้นส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น มากขึ้นในการทำการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์  4 สกุลเงิน คือ เงินริงกิต มาเลเซีย, เงินรูเปียะห์ อินโดนีเซีย, เงินเยน ญี่ปุ่น และเงินหยวน ของจีน 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT