ข่าวเศรษฐกิจ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยเข้าขั้นวิกฤต PM2.5 กระทบเศรษฐกิจหมื่นล้านบาทต่อปี

2 เม.ย. 66
ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยเข้าขั้นวิกฤต  PM2.5 กระทบเศรษฐกิจหมื่นล้านบาทต่อปี

นักวิชาการมองผลกระทบวิกฤติมลพิษทางอากาศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปีหากปล่อยให้ยืดเยื้อทุกปี  เสนอรัฐบาลใหม่ออกกฎมายหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ และควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษ

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์     เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยนั้นเข้าขั้นวิกฤติหลายมิติหลายลักษณะด้วยกัน แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ วิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 เพราะได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพื้นที่ที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยวหากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อทุกปี ปีหนึ่งๆประเทศไทยจะอยู่ในสภาพมลพิษทางอากาศและหมอกควันรุนแรงเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไปจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล ระยองและพื้นที่อีอีซี ภาคเหนือของไทยหากมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ

ผู้มีรายได้น้อยและคนจนในกรุงเทพฯภาคเหนือของไทย ระยองและพื้นที่อีอีซี จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

มลพิษทางอากาศ

รศ. ดร. อนุสรณ์  เสนอให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน จนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งและทำลายเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องมีการออกกฎหมายหรือมาตรการระหว่างประเทศและแก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่อหยุดยั้งต้นตอของการเกิดหมอกควันอันเป็นฝีมือของมนุษย์ (ทุนเกษตรพืชไร่ หรือ กลุ่มเกษตรกร) ประเทศไทยควรหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อมาทำการเกษตรด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

รวมทั้ง ใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษและควบคุมไม่ให้มีการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ กฎหมายลักษณะนี้ในสิงคโปร์จะเอาโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์ที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และ ผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร หลังจากออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 สถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้  ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act เพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษไม่ว่าจากโรงงานอุตสาหกรรมและยานยนต์ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษและต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษควบคู่ไปด้วย 

มลพิษทางอากาศ

นอกจากมาตรการเร่งด่วนเชิงรุกเร่งด่วน ยังเสนออีก 10 มาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

1.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง พื้นที่อีอีซี

2.ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ

3.มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ ภาษีสิ่งแวดล้อม  โดยหลักการที่สำคัญ คือ หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle)


4.สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ บำรุงรักษาป่าต้นน้ำ 


5.ยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง  

6.ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5

7.สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

8.การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้

9.ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

10.จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม
.
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและความทรุดโทรมของสุขภาพของผู้คนในหลายกรณีไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูให้คืนสภาพปรกติได้เหมือนเดิม

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT