ข่าวเศรษฐกิจ

คนงานฝรั่งเศส-เยอรมนีนัดหยุดงาน ประท้วงกฎหมายบำนาญ-ขอเพิ่มค่าแรง

27 มี.ค. 66
คนงานฝรั่งเศส-เยอรมนีนัดหยุดงาน ประท้วงกฎหมายบำนาญ-ขอเพิ่มค่าแรง

ความวุ่นวายในภาคธนาคารยังไม่ทันจบ สภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุโรปยังคงดุเดือดต่อเนื่องจากการประท้วงของคนงานทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ต่างก็ออกมาเรียกร้อง เพื่อสวัสดิการของตัวเอง โดยหลายๆ คนอาจจะได้เห็น ทั้งภาพกองขยะที่กองเป็นภูเขาริมถนนในกรุงปารีสหลังไร้คนงานมาเก็บ หรือภาพการเผาขยะ หรือการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ

เกิดอะไรขึ้นที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี? ทำไมคนงานต้องออกมานัดประท้วงหยุดงานกัน? ทีมข่าว SPOTLIGHT สรุปประเด็นสำคัญมาให้

33bv2j9-highres(2)

 

คนงานฝรั่งเศสประท้วงกฎหมายขึ้นอายุเกษียณงาน

การประท้วงของคนงานและประชาชนในฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ผ่านกฎหมายยืดอายุเกษียณงานจาก 62 เป็น 64 ปี โดยไม่ผ่านการโหวต โดยให้เหตุผลว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญของฝรั่งเศสเสี่ยงขาดเงินถึง 1.35 หมื่นล้านยูโร หรือราว 4.64 แสนล้านบาท ในปี 2023 เพราะในปัจจุบันกองทุนต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่ประชากรวัยเกษียณ ในขณะที่ประชาชนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

โดยเมื่อมีการผ่านกฎหมายดังกล่าวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในฝรั่งเศสก็เกิดการประท้วงยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งการนัดหยุดงาน ลงถนนเดินขบวนประท้วง เผาขยะกลางถนน ทำให้เมืองใหญ่ในหลายเมืองของฝรั่งเศสเช่น ปารีส, มาร์แซย์, ลีอง, นีซ และตูลูซเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่เนืองๆ

33az3lg-highres 

33az6b2-highres(1)

ล่าสุด วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนประท้วงในกรุงปารีสและทั่วประเทศ นับเป็นวันที่ 9 ตั้งแต่มีการนัดหยุดงานมา ทำให้การจราจรในกรุงปารีสและเมืองอื่นๆ เป็นอัมพาต ไฟลท์ถูกยกเลิก การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ชะงักในบางส่วน เพราะประชาชนที่ออกมาประท้วงเป็นแรงงานจากทุกภาคส่วน และสาขาอาชีพ ซึ่งพบว่า การชุมนุมในหลายส่วนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ยกเว้นบางพื้นที่ ที่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ผู้ชุมนุนได้มีการขว้างปาพลุไฟ ขวด และหินใส่ตำรวจ และเกิดเพลิงไหม้ในถังขยะ

33be3cq-highres(1)

จากรายงานของสื่อฝรั่งเศส และกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส จำนวนประชาชนที่ออกมาชุมนุมในวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุนประมาณ 1.08 ล้านคนทั่วประเทศ โดยในปารีสมีมากที่สุด คือ 119,000 คน ในขณะที่ สหพันธ์แรงงานฝรั่งเศส (CGT) อ้างว่า มีคนถึง 3.5 ล้านคนทั่วประเทศ ออกมาเดินขบวนในวันนั้น และในปารีสมีถึง 800,000 คน ซึ่งมากกว่าที่ทางการของฝรั่งเศสเปิดเผยกับสื่อ

เหตุการณ์ความไม่สงบที่ไม่มีทีท่าจะลดลงหรือยุติลง ทำให้ สมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ยกเลิกการเสด็จเยือนฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม เนื่องจากมีความกังวลในด้านความปลอดภัย สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จะมีการนัดประท้วงอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ รายงานของสำนักข่าว DW ระบุว่า ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำที่สุด และให้เงินบำนาญในอัตราที่สูงที่สุดในหมู่ประเทศ OECD โดยฝรั่งเศสให้เงินประชาชนหลังเกษียณอายุถึงเดือนละ 74.4% เงินเดือนหลังหักภาษี ซึ่งมากกว่าของอัตราในเยอรมนีที่อยู่ที่เพียง 52.9% และมากกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ถึง 14% นอกจากนี้ประชาชนฝรั่งเศสยังมีอายุที่ยืนยาว มีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณมาก ทำให้กองทุนบำนาญของฝรั่งเศสต้องรับภาระค่อนข้างสูงในการเลี้ยงประชาชนสูงอายุ 

 

คนงานเยอรมนีนัดหยุดงานประท้วงค่าครองชีพ

ส่วนวันนี้ (27 มี.ค.) คนงานโดยเฉพาะในภาคการคมนาคมก็กำลังนัดหยุดงานเช่นเดียวกัน โดยประกาศที่จะหยุดงานทั้งหมด 24 ชั่วโมง ทำให้ทั้งรถบัสประจำทาง รถไฟ และเครื่องบินในเยอรมนีทั้งหมดหยุดทำการในวันนี้

การประท้วงในครั้งนี้ เป็นการประท้วงของสหภาพแรงงาน Verdi และ EVG ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานภาคการขนส่งของเยอรมนีรวมกว่า 2.7 ล้านคน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อเพิ่มค่าแรงให้กับคนงานในภาคการคมนาคมขนส่งอย่างน้อย 10.5-12% หลังปัดตกข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเพิ่มค่าแรงให้คนละ 5% พร้อมเงินช่วยเหลืออีกก้อนหนึ่งมูลค่าประมาณ 1,000-1,500 ยูโร

45645

นอกจากนี้ ตามรายงานของ The Guardian คนงานในภาคการขนส่งในเยอรมนีกำลังประสบปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าแรงปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป เยอรมนีกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าอื่นๆ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีขึ้นไปสูงถึง 8.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการประท้วงเพื่อเพิ่มค่าแรง โดยก่อนหน้านี้มีคนงานจากธุรกิจอื่นๆ บ้างแล้วที่ออกมาประท้วง เช่น บริการไปรษณีย์ที่เพิ่งได้ขึ้นค่าแรง 11.5% ไปในเดือนนี้ ในขณะที่ IG Metall สหภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรมเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกเกือบ 4 ล้านคนได้ 8.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

 

ที่มา: DW, CNN, The Guardian

 

advertisement

SPOTLIGHT