ข่าวเศรษฐกิจ

ไทยส่งออกไก่ขึ้นแท่นเบอร์3ของโลก เบอร์ 1 ในเอเชีย อานิสงส์ FTA-RCEP 

13 ก.พ. 66
ไทยส่งออกไก่ขึ้นแท่นเบอร์3ของโลก เบอร์ 1 ในเอเชีย อานิสงส์ FTA-RCEP 

ปี2565 สถานการณ์ส่งออกของไทยถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2565 การส่งออกไทยในภาพรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.5

สำหรับปี2566 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่า การส่งออกไทยจะขยายตัว 2.5 % โดยประเมินจากการส่งออกในปี2565 ซึ่งปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบ ราคาขายส่งเพิ่ม โดยต้องจับตาสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณการชะลอตัว อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจมรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรับมือเงินเฟ้อ 

 

ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารปี65 ภาพรวมยังขยายตัว

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุ ปี2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตร และอาหาร ดังนี้

-ผลไม้สด แช่เย็น และแห้ง ลดลง 7.1%

-อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป เพิ่มขึ้น 10.1 %

-ไขมัน น้ำมันจากพืช และสัตว์ เพิ่มขึ้น 44.8 %

-ไก่สด แช่แข็ง เพิ่มขึ้น 24.6 %

-น้ำตาล เพิ่มขึ้น 98.9 %

 

ไทยส่งออกเนื้อไก่อันดัน 3 ของโลก 

 

หากจะโฟกัสการส่งออกไก่ของไทยถือว่าเป็นสินค้าดาวรุ่งของโลก โดย นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เนื้อไก่และเป็นสินค้าดาวเด่นที่มีศักยภาพทั้งการผลิตและส่งออก ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิล และสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2565 ไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลก มูลค่าสูงถึง 4,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

ทั้งนี้เป็นการส่งออกไปตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) มูลค่า 2,871.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.9% มีสัดส่วนถึง 70% ของการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยตลาดคู่ FTA ที่ไทยส่งออกเติบโตได้ดี อย่างเช่น

  • ญี่ปุ่น มูลค่า 1,882.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+10.2%) 
  • จีน มูลค่า 382.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+15.1%) 
  • มาเลเซีย มูลค่า 165.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+83.4%) 
  • สิงคโปร์ มูลค่า 127.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+37.6%) 
  • เกาหลีใต้ มูลค่า 183.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+40%) 
  • กัมพูชา มูลค่า 17.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+20.3%) 

915810

 

ปัจจัยที่ทำให้สินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไทยเป็นที่นิยม เนื่องจากได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพมาตรฐาน เทคโนโลยีการผลิตอาหารและแปรรูปที่ทันสมัย มีระบบฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้ง FTA ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นายสินิตย์ กล่าว

 

FTA – RCEP หนุนส่งออกไก่เติบโต

 

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน 10 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน 5 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย และบรูไนฯ) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ทั้งไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง ไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป

ส่วนอีก 8 ประเทศ คือ อาเซียน 4 ประเทศ (กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว) ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์บางรายการ อัตรา 5% ญี่ปุ่น เก็บภาษีไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง ไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง อัตรา 8.5% และไก่แปรรูป อัตรา 3% เกาหลีใต้ เก็บภาษีเนื้อไก่ต๊อก อัตรา 14.4% อินเดีย เก็บภาษีไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง และไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง อัตรา 30-100% และเปรู เก็บภาษีไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง และไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง อัตรา 17-20%

337066

 

นอกจากนี้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ไทยยังได้รับการลดภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ เช่น กัมพูชา ทยอยลดภาษีไก่แปรรูปเหลือศูนย์ ในปี 2579 และไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง ไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง ในปี 2584 เวียดนาม ทยอยลดภาษีไก่สดทั้งตัวแช่เย็น แช่แข็ง ไก่ชิ้นเนื้อแช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูปเหลือศูนย์ ในปี 2579 และเกาหลีใต้ ลดภาษีเนื้อไก่ต๊อกเหลือศูนย์ ในปี 2579 


อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์มุ่งเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าไก่ให้ไทยเพิ่มเติม ผ่านการทบทวน FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การสรุปผล FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา และการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ  เช่นสมาคมการค้าเสรียุโรป สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าของไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT