ข่าวเศรษฐกิจ

ภาคการผลิตไทย ม.ค. 66 ฟื้นรับอานิสงค์ออเดอร์จีนทะลักหลังเปิดประเทศ

1 ก.พ. 66
ภาคการผลิตไทย ม.ค. 66 ฟื้นรับอานิสงค์ออเดอร์จีนทะลักหลังเปิดประเทศ

หลังการเปิดประเทศของจีน ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้นที่จะเป็นความหวังให้เศรษฐกิจไทยฟื้น  เพราะล่าสุด S&P Global เผยว่าภาคการผลิตไทยปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคม สูงที่สุดในอาเซียน หลังจีนเปิดประเทศ ทำให้คำสั่งผลิตสินค้าเพิ่ม ถึงแม้ต้นทุนจากราคาวัตถุดิบจะปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 28 ก็ตาม 

istock-1296867709

จากรายงานของ S&P Global Market Intelligence ผู้ผลิตในไทยเริ่มต้นปี 2023 อย่างแข็งแกร่ง โดยพบ PMI หรือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนถึงภาวะการณ์การขยายตัวหรือหดตัวของภาคการผลิตและบริการภายประเทศ ขึ้นมาเป็น 54.5 ในเดือนมกราคม 2023 จาก 52.5 ในเดือนธันวาคม 2022 

โดย S&P พบว่าภาคการผลิตไทยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1. คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ 2. ผลผลิต 3. จำนวนพนักงาน 4. สต็อกวัตถุดิบที่ซื้อ และ 5. ระยะเวลาส่งมอบของผู้ผลิตวัตถุดิบ จึงนับได้ว่า เป็นการฟื้นฟูอย่างรอบด้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน 2017 เป็นครั้งที่ 3 สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่มีการสำรวจมา โดยอีกครั้งที่ภาคการผลิตของไทยมีการฟื้นฟูในทุกด้านแบบนี้คือในเดือนธันวาคม ปี 2016

จากการรายงานของ S&P ค่ำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ถึงแม้จะพบว่ายอดส่งออกมีการหดตัวเล็กน้อยในเดือนมกราคม นอกจากนี้ ยังได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการผลิตคำสั่งซื้อที่คงค้างไว้ และจำนวนคำสั่งใหม่ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังมีการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่สูงที่สุดจาก 7 ประเทศอาเซียนที่มีการสำรวจ โดยพบว่าภาคการผลิตของทุกประเทศมีการปรับตัวขึ้นของภาคการผลิตทั้งหมด ได้รับแรงสนับสนุนจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง และคำสั่งซื้อสินค้าใหมที่กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจีนเปิดประเทศ ยกเว้นมาเลเซียที่ PMI ตกลงไปอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ 46.5

โดยจากการสำรวจของ S&P ผู้ผลิตในไทยยังคงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบของภาคการผลิตในอีก 12 เดือนข้างหน้า จากมาตรการส่งเสริมการขายและการบริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาคการผลิตของไทยจะมีแนวโน้มการฟิ้นตัวที่ค่อนข้างดีในปีนี้ ผู้ผลิตไทยยังคงต้องพบแรงกดดันด้านต้นทุนต่อไปในเดือนมกราคม เพราะราคาวัตถุดิบโดยเฉลี่ยมีการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 28 ติตด่อกัน และเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน และสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวของการสำรวจค่อนข้างมาก ถึงแม้จะยังต่ำกว่าค่าสูงสุดในปี 2022 ที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก สะท้อนว่าถึงแม้จะมีดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ภาวะเงินเฟ้อก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ภาคการผลิตต้องจับตามองอยู่

 

ที่มา: Bloomberg, S&P Global Market Intelligence



advertisement

SPOTLIGHT