ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จักข้าวเขมร 'ผกาลำดวน' เหมือน หรือ ต่าง กับข้าวหอมไทยอย่างไร 

24 พ.ย. 65
รู้จักข้าวเขมร 'ผกาลำดวน' เหมือน หรือ ต่าง กับข้าวหอมไทยอย่างไร 

รู้จักข้าวเขมร 'ผกาลำดวน'แชมป์ข้าวโลกที่ 'หอมกว่า' ข้าวหอมมะลิไทย'เหมือน หรือ ต่าง กับข้าวไทยอย่างไร 


ปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ "ข้าวที่ดีที่สุดในโลก" ที่เราได้มา 2 ปีติดต่อกันให้กับ "ผกาลำดวน" (Phka Rumduol) ข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา ที่เบียดกลับมาครองตำแหน่งแชมป์ได้อีกครั้งในปีนี้ 

ทำเอาหลายคนสงสัยว่า ข้าวผกาลำดวนของกัมพูชาเป็นอย่างไร สายพันธุ์อะไร หน้าตาเป็นแบบไหนเมล็ดสั้นหรือเมล็ดยาว และที่สำคัญ มีดีกว่าแชมป์เก่าข้าวหอมมะลิไทยที่ดังไปทั่วโลก อย่างไร

 

ข้าวผกาลำดวน ชนะที่ "ความหอม"

การแข่งขันว่าข้าวจากประเทศไหนจะได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งปีไปครอง เป็นการจัดการแข่งขันในการประชุมข้าวโลก ประจำปี 2022 (The World’s Best Rice 2022) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พ.ย.65 มีการประกวดสายพันธุ์ข้าวจาก 9 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน จีน และสหรัฐฯ 

ผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปรากฏว่า ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน (Phka Rumduol) จากกัมพูชา ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปครอง ส่วนข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ตกมาอยู่อันดับ 2 และตามมาด้วยข้าวหอมมะลิจากเวียดนาม ในอันดับ 3  

จากข้อมูลโดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พบว่า ข้าวไทยและกัมพูชา เข้ารอบสุดท้ายเพียง 2 ชาติ แต่น่าเสียดายว่าข้าวหอมมะลิไทย แพ้ข้าวหอมผกาลำดวน กัมพูชา ซึ่งเป็นการแพ้แบบสูสีมากที่ห่างกันเพียง "1 คะแนน" ท่านั้น

จากการสอบถามกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นเชฟใหญ่จากสหรัฐฯ ระบุว่า ผกาลำดวน เอาชนะหอมมะลิไทย ไปได้ด้วย "กลิ่น" เพราะหลังจากที่ผ่านการหุงข้าวแล้วพบว่า ข้าวผกาลำดวนมีกลิ่นหอมมาก แต่ในทางกลับกัน ข้าวหอมมะลิไทยมีกลิ่นที่อ่อนกว่ามาก ทำให้แพ้ไปที่จุดนี้

นายชูเกียรติตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นที่น่าแปลกใจว่าปีนี้ ข้าวหอมมะลิไทยกลิ่นไม่หอมเหมือนปกติ ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจเป็นเพราะน้ำมาก ฝนตกชุก ทำให้ข้าวไม่ได้สร้างกลิ่นที่แรงเหมือนปีก่อนที่ข้าวหอมมะลิไทยชนะเลิศ เพราะมีกลิ่นหอมมาก 

phka_rumduol_is_a_type_of_lon


ข้าวหอมกัมพูชาไม่ใช่เพิ่งจะดัง แต่คว้าแชมป์มา 10 ปีแล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวผกาลำดวน ขึ้นเป็นที่ 1 ในการประกวด แต่ข้าวหอมจากกัมพูชาเคยเป็นแชมป์โลกมาแล้วถึง "5 ครั้ง" (รวมครั้งนี้ด้วย) โดยเริ่มสร้างชื่อมาตั้งแต่ปี 2555

ผกาลำดวน (Phka Rumduol) เป็นชื่อเรียกของข้าวหอมมะลิกัมพูชา ที่เน้นให้คนจดจำเป็นชื่อแบรนด์ คล้ายๆ กับที่ไทยเราไม่ได้เรียกข้าวหอมมะลิในเวทีต่างประเทศว่า Thai jasmine rice แต่ใช้ชื่อว่า Thai Hom Mali เพราะต้องสร้างการจดจำทางแบรนด์และเพิ่มคุณค่าในการแข่งขัน ซึ่งข้าวพันธุ์หลักๆ ในการแข่งขันละแวกอุษาคเนย์แถบนี้ก็เป็นข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องสร้างชื่อให้ต่างจากการเป็นแค่ Cambodia jasmine rice หรือ Thai jasmine rice

ผกาลำดวนเป็นข้าวเมล็ดยาว (Indigo) ในกลุ่มหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยร่วมกันเป็น 10 ปี ระหว่างกัมพูชากับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศของออสเตรเลีย (IRRI) ระหว่างปี 1988-2001 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ 

สถาบันวิจัยพัฒนาการเกษตรกัมพูชา (CARDI) เริ่มเปิดตัวข้าวสายพันธุ์นี้ให้เกษตรกรนำไปใช้เพาะปลูกในปี 1999 และพยายามส่งเสริมมาตลอดตั้งแต่การเพาะปลูก บริโภคในประเทศ จนถึงการส่งออก ทุกวันนี้ ชาวกัมพูชาสามารถหาข้าวผกาลำดวน หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ผกามะลิ หารับประทานได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเสียมเรียบ ไม่ใช่ข้าวที่คัดส่งออกเฉพาะต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

ข้าวผกาลำดวนเริ่มชนะการประกวดในเวทีการประชุมข้าวโลก เป็นครั้งแรกในปี 2555 ซึ่งเป็นการชนะต่อเนื่องกันถึง 3 ปีติดต่อกันจนถึงปี 2557 ก่อนจะกลับมาชนะอีกครั้งในปี 2561 และปัจจุบันในปี 2565 นี้ ซึ่งชัยชนะของข้าวหอมกัมพูชาในปีนี้จึงถือเป็นการครบรอบ 10 ปีที่เคยคว้าแชมป์โลกได้เป็นผลสำเร็จด้วย

ซง สราญ ประธานสมาพนธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่า รางวัลดังกล่าวเป็น “เกียรติยศอันยิ่งใหญ่” สำหรับชุมชนข้าวในท้องถิ่น และขอบคุณทีมงานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา ชาวนา สมาชิกโรงสีข้าว ชุมชนเกษตรกรรม และกระทรวงเกษตรและการค้า ที่สนับสนุนการผลิตข้าวที่ดีที่สุด ทำให้มีส่วนร่วมในการแข่งขันและนำรางวัลแก่ชาวกัมพูชากลับบ้าน

messageimage_1669197026750


ข้าวไทยอย่าชะล่าใจ ต้องเร่งพัฒนา

จากการตั้งข้อสังเกตเรื่องน้ำมากในปีนี้ ที่อาจกระทบต่อกลิ่นที่จางลงของข้าวหอมมะลิไทย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้เปิดเผยว่า การเสียแชมป์ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ไทยควรปรับปรุงพันธุ์ข้าวเก่าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ไม่เช่นนั้น ไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับข้าวหอมของเพื่อนบ้านได้แน่นอน เพราะในช่วงหลายปีมานี้ เพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว พัฒนาพันธ์ข้าวหอม ให้มีคุณภาพดีขึ้นมาก และสามารถแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของไทยได้แล้ว โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ข้าวไทยต้องเสียภาษี

นายชูเกียรติ คาดว่า ฤดูการผลิตปี 65/66 ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมผกาลำดวน จะแข่งขันกันอย่างรุนแรงในด้านส่งออกแน่นอน เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้นมากเหมือนกัน และราคาอาจจะลดลง ล่าสุดข้าวหอมมะลิไทย ราคาส่งออกตันละ 750 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนผกาลำดวน ตันละ 720 เหรียญฯ แต่เมื่อได้รางวัลคาดว่าราคาอาจจะขยับขึ้นอีก

ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิไทย เคยคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกตั้งแต่การประกวดครั้งแรกในปี 2552 และอีกหลายครั้งในปี 2553, ปี 2557 (ร่วมกับกัมพูชา),  ปี 2559-2560, และปี 2563-2564 ซึ่งถือเป็นประเทศที่ครองแชมป์มากที่สุด 7 ครั้ง ในการประกวด 14 ปีที่ผ่านมา

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT