ข่าวเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อกดดัน "เงินเดือนที่แท้จริง" ของไทย "ติดลบ" รอฟื้นปีหน้า '66

6 พ.ย. 65
เงินเฟ้อกดดัน "เงินเดือนที่แท้จริง" ของไทย "ติดลบ" รอฟื้นปีหน้า '66

คาดเงินเดือนแท้จริงของ "ไทย" ปีนี้ติดลบ 2.8% แต่ปีหน้าฟื้นได้ 2.2% ส่วนเมอร์เซอร์มองบวกได้ 4.5% พร้อมโบนัส 1.3-2.5 เดือน 


ช่วงปลายปีแบบนี้ เรามักจะเห็นข่าว "ผลสำรวจการขึ้นเงินเดือน" ที่มักจะไปถามนายจ้างบริษัทใหญ่ๆ กันว่า จะขึ้นเงินเดือนปีนี้เท่าไร และปีหน้าเท่าไร เพื่อใช้เป็นทิศทางวัดสภาพการจ้างงานว่า ภาคเอกชนยังแข็งแรงกันดีอยู่ไหม

เพราะถ้าเริ่มมีสัญญาณไม่ขึ้นเงินเดือน/ขึ้นน้อย เป็นวงกว้างพร้อมกันเมื่อไร ก็อาจถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าของการ "เลย์ออฟ" ในขั้นต่อไปรอไว้ได้เลย

ส่วนในปีนี้ 2022 และปีหน้า 2023 ยังค่อนข้างเบาใจกันได้อยู่ว่า แม้เราจะเริ่มได้ยินคำว่า "เศรษฐกิจถดถอย" ในฝั่งประเทศยุโรปและสหรัฐกันบ้างแล้ว แต่มันก็ยังไม่ใช่ความเสี่ยงหลักที่มากระทบถึงบ้านเราในขณะนี้

ตรงกันข้าม สิ่งที่น่ากลัวกว่ากลับเป็น "ภาวะเงินเฟ้อ" ที่มากัดกร่อนเงินเดือน/ค่าจ้างของเรา ให้หมดไปกับค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน และอีกสารพัดค่าใช้จ่ายที่ "แพงขึ้น" ดังนั้น เวลามีการสำรวจเรื่องการขึ้นเงินเดือนของภาคธุรกิจเอกชน เราจึงควรวัดไปที่การขึ้นของ "เงินเดือนที่แท้จริง" (Real salary) ซึ่งเป็นการหักลบปัจจัยแฝงอย่างเงินเฟ้อออกไปแล้ว

 

หักเงินเฟ้อแล้ว เงินเดือนที่แท้จริงของไทย "ติดลบ"

บริษัทที่ปรึกษาด้านแรงงาน ECA International (ECA) ได้เปิดเผยผลการสำรวจการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริงทั่วโลก พบว่า ในปี 2022 นี้ มีประเทศที่สำรวจมากถึง 78% ที่มีเงินเดือนที่แท้จริง "ลดลง" และในปีหน้า 2023 จะมีประเทศทั่วโลกเพียง 37% เท่านั้นที่จะมีเงินเดือนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น  

และเป็นที่น่าสนใจว่าในปี 2022 นี้ ในกลุ่ม 10 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่แท้จริงมากที่สุดนั้น "ประเทศไทย" ของเราอยู่ในอันดับที่ 10 และเป็นประเทศเดียวที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนแท้จริง "ติดลบ" โดยอยู่ที่ -1.8% เมื่อเทียบกับอันดับ 1 อย่าง "จีน" ที่ขยายตัว 3.7% หรืออันดับ 2 อย่าง "เวียดนาม" ที่บวก 3.2% และ "อินเดีย" ในอันดับ 3 บวกไป 2.1%

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า สถานการณ์ของไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า 2023 เพราะคาดว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนที่จริงจะบวกขึ้นไปได้ +2.2% ซึ่งจะสูงเป็นอันดับ 4 ของตาราง เป็นรองเพียงแค่ อินเดีย เวียดนาม และจีน เท่านั้น  

จากการสำรวจข้อมูลบริษัทข้ามชาติกว่า 360 แห่งใน 68 ประเทศและดินแดน ยังพบว่า ภูมิภาคที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ ยุโรป เนื่องจากเงินเดือนที่แท้จริงโดยเฉลี่ยน่าจะลดลงถึง 5.9% ในปีนี้ และลดลงอีก 1.5% ในปีหน้า นำโดยสหราชอาณาจักร (UK) ที่เงินเดือนแท้จริงในปีนี้จะลดลงถึง 5.6% และลดลงอีก 4% ในปีหน้า เพราะผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงถึง 9.1%

ส่วนในสหรัฐ จะลดลง 4.5% ในปีนี้ ก่อนจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 1% ในปีหน้า เพราะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐน่าจะลดลง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยไปหลายรอบในปีนี้จะเริ่มเห็นผลในปีหน้า 

000_1sj4fk_3


เมอร์เซอร์บองบวก คาดปีหน้าไทยขึ้นค่าจ้าง 4.5%

แต่ในฝั่งผลสำรวจของบริษัทเมอร์เซอร์ นั้นมองในเชิงบวกมากกว่า โดยผลสำรวจ Total Remuneration Surveys (TRS) ประจำปี 2565 จากองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2565 คาดการณ์ว่า อัตราการขึ้นค่าตอบแทนในปี 2566 ของไทย จะปรับเพิ่ม 4.5% 

เมอร์เซอร์ ระบุว่า อัตราการเพิ่มนี้ใกล้เคียงกับอัตราที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและสถานการณ์โดยรวมที่กลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด

ทั้งนี้ อัตราค่ากลางของค่าตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว นำโดย "เวียดนาม" ที่คาดว่าจะมีค่าตอบแทนปรับตัวขึ้นถึง 7.1% ขณะที่ "ญี่ปุ่น" จะปรับขึ้นน้อยสุดในภูมิภาคที่ 2.2% 


คาดการณ์ โบนัส 1.3-2.5 เดือน 

นอกจากนี้ผลสำรวจยัง คาดการณ์การจ่ายโบนัสว่า อยู่ที่ 1.3-2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน จากอุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด-19

ด้านนโยบายการปรับอัตรากำลังพนักงานในปี 2566 ผลสำรวจระบุว่า บริษัทในประเทศไทยที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (53%) ไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน และ 1 ใน 5 หรือ ราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมสำรวจมีแนวทางจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้น ที่บอกว่าจะลดพนักงานลง

ส่วนการลาออกของพนักงานหลังปี 2565 คาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งมีอัตราลาออกสูงกว่า 11.9% และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์จะมีพนักงานลาออกมากที่สุด

นอกจากนี้ยังคาดว่า ในปี 65-66 ธุรกิจไทยจะอยู่ในช่วงการแข่งขันสูง มีการแย่งชิงบุคลากร ประกอบกับบุคลากรเองก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง จากที่เคยรักษาสถานะในช่วงโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะเปลี่ยนงานที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

advertisement

SPOTLIGHT