ข่าวเศรษฐกิจ

คนไทยใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 15.2% แต่มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเฉียด 100%

4 ต.ค. 65
คนไทยใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 15.2% แต่มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเฉียด 100%

เมื่อโควิด 19 คลี่คลายลง การเดินทาง การขนส่ง กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งนอกจากจะสะท้อนผ่านการจราจรที่ติดขัดแล้ว ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานชี้ชัดเพราะภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน เงินบาทที่อ่อนค่าหนักในรอบ16ปี นั่นก็ทำให้เราต้องสูญเสียเงินมหาศาลจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม - สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 150.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.2% โดยหากแยกรายกลุ่มพบว่า การใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 17.6% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 80% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.6% LPG เพิ่มขึ้น 10.8% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 8.4% การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4.5% โดยมีน้ำมันก๊าดประเภทเดียวเท่านั้นที่การใช้ลดลง 8.1%

การใช้น้ำมันของคนไทย 

 

ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขจนสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หากเราลงรายละเอียดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 29.80 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%นั้น พบว่าการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.99 ล้านลิตร/วัน ,แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 15.76 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้น 0.94 ล้านลิตร/วัน  ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.56 ล้านลิตร/วัน และเบนซิน  ลดลงมา 0.54 ล้านลิตร/วัน

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 72.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.6% เพราะผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30-35 บาท/ลิตร ของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากภาคไฟฟ้า สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.34 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.61 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.71 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.19 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมัน

ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.82 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.29 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.8% เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งอยู่ที่ 2.16 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 28.1% ภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 8.35 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 12.5% ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.04 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 11.8% และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.75 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 3.1%

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.4% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 พบว่ายังคงทรงตัวในระดับเดิม

การใช้LPG 

มูลค่าการนำเข้าต่อเดือนเพิ่มขึ้นเฉียด 100% 

การใช้พลังงานของไทยที่กลับมาฟื้นตัวอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,028,795 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.7%  โดยแบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 958,752 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 10.4% แต่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 109,891 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นถึง 99.2%  จะเห็นได้ว่า มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเกือบ 100% ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ16นั่นเอง

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,042 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,939 ล้านบาท/เดือน

ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 169,445 บาร์เรล/วัน ลดลง 12.6% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม21,978 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 67.8%

จับตาโอเปกลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่นับตั้งแต่โควิดระบาด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า โอเปกพลัสกำลังพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันสำหรับเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 หรือนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด

ส่วนการประชุมโอเปกพลัสครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิต 100,000 บาร์เรล/วันสำหรับเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีเพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก

นอกเหนือจากการประชุมโอเปกพลัสในวันพรุ่งนี้แล้ว นักลงทุนยังจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐด้วยเช่นกัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 4.14 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 83.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 3.72 ดอลลาร์ หรือ 4.4% ปิดที่ 88.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

กลุ่มโอเปกพลัสจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตในวันพุธที่ 5 ต.ค. ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยคาดว่าที่ประชุมจะมีมติปรับลดกำลังการผลิตเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันเพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 5% ในวันจันทร์ (3 ต.ค.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ในการประชุมวันพุธนี้

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT