ข่าวเศรษฐกิจ

สรุปมาตรการ ครม. ช่วยเหลือค่าไฟ , ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล

13 ก.ย. 65
สรุปมาตรการ ครม. ช่วยเหลือค่าไฟ , ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล
ไฮไลท์ Highlight
"จึงขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ SMEs, สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตมากขึ้น  และภาครัฐควรเตรียมมาตรการรับมือ เพื่อป้องกันผลกระทบกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง"

การประชุม ครม.วันที่ 13 กันยายน 2565 มีมติออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งการช่วยเหลือค่าไฟ และ ดูแลราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไป

สำหรับค่าไฟเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และกลุ่มใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.65 โดยใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นในปีงบประมาณ 65 และ 66 ในวงเงิน 9,000 ล้านบาท และมีผลทันต่อการคำนวณบิลค่าไฟช่วงสิ้นเดือนก.ย.นี้

มาตรการช่วยเหลือค่าไฟ 4 เดือน  ก.ย.-ธ.ค.2565 

469819

1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สต./ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.65

2.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เกิน 301-500 หน่วยต่อเดือน
ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า แบบขั้นบันได 15-75% จากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค.65

-ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-350 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 75 คือจำนวน 51.50 สต./หน่วย

-ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351-400 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 45 คือจำนวน 30.90 สต./หน่วย

-ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401-500 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 15 คือจำนวน 10.30 สต./หน่วย

ทั้งนี้เป็นอัตราส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่ามีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 21.4695 ล้านราย
ใช้งบประมาณรวม  9,128.41 ล้านบาท/ 4 เดือน    

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ  FT  เดือนก.ย. -ธ.ค. 2565 ปรับขึ้น 68.66 ส.ต./หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานทำให้ต้องจ่ายเฉลี่ยที่ 4.72 บาท/หน่วย  เท่ากับขึ้น 18% จากเดิมเฉลี่ย 4 บาท/หน่วย

ใช้เงินจากงบประมาณประจำปีและงบกลาง

เบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประมาณ 2,282.103 ล้านบาท สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2565 และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประมาณ 6,846.309 ล้านบาท สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน  บอกว่า แนวโน้มจะช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเกิน 4 เดือนหรือไม่นั้น จำเป็นต้องติดตามราคาก๊าซก่อน แต่สถานการณ์ตอนนี้ประมาทไม่ได้ ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการประหยัดพลังงาน ส่วนแผนระยะยาว คือ การเพิ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น และการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ หรือแหล่งพลังงานในประเทศ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ และการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เป็นต้น

ส่วนมาตรการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ของประชาชน อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการทางภาษีสนับสนุนการติดตั้งของประชาชนต่อไป

ขยายเวลาลภาษีสรรพสามิตดีเซลต่ออีก 2 เดือน

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากที่จะหมดอายุวันที่ 20 ก.ย. 65 ทำให้ปัจจุบันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.34 บาท/ลิตร   รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนที่ให้ต่ออายุมาตรการไป 2 เดือน เนื่องจากกระทรวงการคลังขอดูเรื่องวินัยการเงินการคลัง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเก็บภาษีว่ามีความพร้อมหรือไม่

ภาคธุรกิจ กังวลต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า  ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบ อาทิ อาหารสัตว์ เหล็ก และอะลูมิเนียม ค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าในเดือนสิงหาคมต้นทุนด้านราคาน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนต่างด้าวในภาคการผลิต

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลให้ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

"จึงขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ SMEs, สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตมากขึ้น  และภาครัฐควรเตรียมมาตรการรับมือ เพื่อป้องกันผลกระทบกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง"

advertisement

SPOTLIGHT